×

รู้จัก ‘Goblin Mode’ ศัพท์แห่งปีของออกซ์ฟอร์ด สะท้อนพฤติกรรม ‘ตามใจตัวเอง ไม่สนบรรทัดฐานทางสังคม’

07.12.2022
  • LOADING...
Goblin Mode

Goblin Mode (ก็อบลินโหมด) กลายเป็นคำศัพท์แห่งปี 2022 ที่ได้รับเลือกผ่านการเปิดโหวตสาธารณะโดยพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) ซึ่งมีผู้ร่วมโหวตแบบถล่มทลายมากถึง 318,956 คะแนน หรือคิดเป็นกว่า 93% ของคะแนนโหวตทั้งหมด โดยเอาชนะคำศัพท์อื่นๆ อย่าง Metaverse ที่ได้ 14,484 คะแนน และ #IStandWith ที่ได้ 8,639 คะแนน

 

คำว่า Goblin Mode นั้นสะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลก และเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยความหมายหรือนิยามของคำนี้คืออะไรและมีที่มาที่ไปอย่างไร THE STANDARD จะมาสรุปให้เข้าใจกัน

 

นิยามความหมาย ‘Goblin Mode’

สำหรับคำนิยามของ Goblin Mode ตามที่พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดระบุ คือ “พฤติกรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งปล่อยตัวตามอำเภอใจ เกียจคร้าน สะเพร่า หรือละโมบโลภมาก โดยทั่วไปแล้วมักเป็นไปในทางที่ปฏิเสธบรรทัดฐานหรือความคาดหวังของสังคม” 

 

ข้อมูลของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University Press: OUP) อธิบายว่า Goblin Mode เป็นสแลงที่มักใช้ในสำนวน เช่น “ฉันอยู่ใน Goblin Mode” หรือ “เปลี่ยนไปเข้า Goblin Mode”

 

แต่หากจะอธิบายให้ง่ายกว่านั้น สำหรับตัวเราเอง เพียงแค่ลองมองดูพฤติกรรมรอบๆ ตัว เช่น เรายังคงนอนอยู่บนเตียงโดยไม่อยากลุกไปไหนหรือไม่? มีกองเสื้อผ้าและกล่องอาหารที่ซื้อกลับบ้านวางเกลื่อนพื้นไหม? มีเศษผงบนผ้าปูที่นอนใช่ไหม? เคยทำลายกิจวัตรในการดูแลตัวบ่อยครั้งจนเกินจะนับหรือไม่? หรือทั้งหมดนี้คุณไม่แม้แต่จะสนใจ? ถ้าใช่ นั่นหมายความว่าตัวเราเองก็อาจกำลังอยู่ใน ‘Goblin Mode’ แล้ว

 

ที่ผ่านมาในยุคโซเชียลมีเดีย ผู้คนทั่วโลกไม่น้อยพยายามที่จะนำเสนอการพัฒนาตนเองตามแนวคิดในอุดมคติ ตั้งแต่การตื่นนอนเวลาตี 5 และเริ่มต้นวันด้วยการดื่มสมูทตี้สีเขียว ไปจนถึงการจดบันทึก ออกกำลังกาย และวางแผนเพื่อเตรียมเมนูอาหารประจำสัปดาห์

 

แต่สิ่งเหล่านี้อาจกำลังจะหมดยุคไป และแทนที่ด้วย Goblin Mode ซึ่งตรงข้ามกับความพยายามในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

 

ขณะที่พฤติกรรมของ Goblin Mode อาจเป็นที่คุ้นเคยของใครหลายคน โดยเฉพาะในช่วงที่เผชิญการล็อกดาวน์หลายปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด

 

ที่มาที่ไปและกระแสความนิยม ‘Goblin Mode’ 

คำว่า Goblin Mode ปรากฏครั้งแรกใน Twitter ช่วงปี 2009 จากทวีตพาดหัวข่าวปลอมที่กลายเป็นไวรัล ซึ่งอ้างว่า คานยา เวสต์ แรปเปอร์ชื่อดัง ได้เลิกรากับนักแสดงหญิง จูเลีย ฟอกซ์ เพราะเขาไม่ชอบเมื่อเธอ “เข้าสู่ Goblin Mode”

 

ขณะที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดระบุว่า ความนิยมของคำว่า Goblin Mode เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือน หลังจากที่มาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโควิดผ่อนคลายลงในหลายประเทศ และผู้คนเริ่มออกไปนอกบ้านมากขึ้น

 

“ดูเหมือนว่ามันจะจับอารมณ์ของผู้คนที่ปฏิเสธความคิดที่จะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ หรือต่อต้านมาตรฐานทางสุนทรียะที่ไม่อาจทำตามได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตที่ไม่ยั่งยืนบนโซเชียลมีเดีย” 

 

หนังสือพิมพ์ The Guardian ระบุหนึ่งในตัวอย่างที่อธิบายถึงการใช้คำว่า Goblin Mode ไว้อย่างชัดเจนดังนี้ “Goblin Mode นั้นเหมือนกับเมื่อคุณตื่นขึ้นมาตอนตี 2 และเข้าครัวโดยที่ไม่สวมใส่อะไรเลยนอกจากเสื้อยืดตัวยาว เพื่อทำอาหารว่างแบบแปลกๆ เช่น ชีสละลายบนเกลือ”

 

ทางด้าน แคสเปอร์ เกรธโวห์ล ประธาน Oxford Languages ระบุถึงความนิยมของคำว่า Goblin Mode ที่มีผู้ร่วมลงคะแนนแบบถล่มทลาย แสดงให้เห็นว่าผู้คนกำลังยอมรับ ‘ความเป็น Goblin’ ในตัวเอง

 

“ผู้คนยอมรับ Goblin ในตัวของพวกเขา และการที่ผู้ลงคะแนนเลือก ‘Goblin Mode’ ให้เป็นคำแห่งปี บ่งบอกเราว่าแนวคิดนี้น่าจะคงอยู่ต่อไป” เกรธโวห์ลกล่าว

 

ทั้งนี้ เว็บไซต์ Oxford Languages อธิบายแนวคิดของคำศัพท์แห่งปีว่า เป็นคำหรือสำนวนที่สะท้อนถึงลักษณะพื้นฐานทางสังคมที่มีร่วมกันของกลุ่มคน (Ethos) ตลอดจนอารมณ์ และความลุ่มหลงในคำนั้นๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และมีศักยภาพในฐานะคำศัพท์ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม และด้วยหลักฐานจากการที่มีผู้ใช้คำศัพท์นั้นๆ จริง

 

โดยคำแห่งปีของปีที่แล้ว คือ แวกซ์ (Vax) ที่สะท้อนถึงความสนใจของผู้คนทั่วโลกที่มีต่อวัคซีนต้านโควิด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising