×

Goal Kick! ทำไมการเตะจากประตูถึงเปลี่ยนเกมฟุตบอลไปตลอดกาล?

02.10.2024
  • LOADING...
Goal Kick

เพราะบางครั้งการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่เล็กน้อยอาจหมายถึงผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ตามมากว่าที่คาดคิด

 

ในเกมฟุตบอลก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่เราสนใจกับเรื่องของกฎล้ำหน้า กฎแฮนด์บอล หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตัดสิน ไม่ว่าจะเป็น VAR หรือ SAOT

 

แต่เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเกมฟุตบอลไปจากเดิมมากที่สุดตอนนี้คือ ‘กฎการเตะจากประตู’ (Goal Kick)

 

การเตะจากประตูมันเปลี่ยนแปลงเกมฟุตบอลที่เรารู้จักได้อย่างไรกันนะ?

 

ปกติแล้วลูกตั้งเตะจากประตู (Goal Kick) ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอาวุธสำคัญสำหรับการใช้ในการทำเกมรุกอะไร การเตะเปิดจากประตูก็เป็นเหมือนแค่การรีสตาร์ทให้เกมเริ่มใหม่อีกครั้งเท่านั้น

 

ส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนั้นเป็นเพราะตามกฎกติกาแล้ว การเตะเปิดจากประตูผู้เล่นจะรับบอลได้ต้องอยู่นอกกรอบเขตโทษเท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วการให้ประตูส่งบอลจากในกรอบ 6 หลาเพื่อให้เพื่อนที่จะรอรับบอลแถวเส้นกรอบ 18 หลา เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง เพราะระยะทางการเดินทางของบอลอาจทำให้โดนกดดันจากฝ่ายตรงข้ามได้

 

Goal Kick

 

 

หน้าที่ของผู้รักษาประตูมีเพียงแค่การ ‘หวด’ บอลไปให้โด่งและไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยที่เพื่อนจะรอชิงจังหวะโหม่งเพื่อเอาบอลกลับมาเล่นกันใหม่

 

แต่การเตะเปิดจากประตูเริ่มมีความหมายขึ้นจากทักษะพิเศษของผู้รักษาประตูชาวบราซิล เอแดร์สัน ที่แจ้งเกิดกับทีมเบนฟิกาในปี 2017 ที่สามารถเตะเปิดเกมในระยะ 80 หลาได้อย่างแม่นยำราวกับจับวาง

 

สกิลพิเศษของเอแดร์สันทำให้เขาถูก เป๊ป กวาร์ดิโอลา ดึงตัวมาอยู่กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้กลายเป็นทีเด็ดของทีมในการเปิดบอลให้เพื่อน ซึ่งจะอยู่กระจายตัวไปทั่วสนามและคาดเดาไม่ได้ว่าบอลจะตกลงที่ใคร

 

อย่างไรก็ดี ในปี 2019 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเรื่องกฎการเตะจากประตู ด้วยการบอกว่า “บอลไม่จำเป็นที่จะต้องออกนอกกรอบเขตโทษก่อนที่จะมีผู้เล่นรับบอลจังหวะแรก”

 

พูดง่ายๆ คือเตะเปิดเกมไปตรงไหนก็ได้ จะรับบอลในกรอบเขตโทษก็ได้ จะนอกกรอบเขตโทษเหมือนเดิมก็ได้

 

การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะเหมือนน้อยแต่มีผลมหาศาล เพราะทำให้ทีมมีวิธีใหม่ๆ ในการจะทำเกมรุก ซึ่งนำไปสู่การเริ่มต้นของยุคสมัยที่ทีมจะเริ่มต้นทำเกมบุกจากลูกเตะเปิดจากประตูเลย

 

เพราะการทำแบบนั้นหมายถึงการที่ทีมได้เป็นฝ่ายครองบอล (Possession) ทันทีโดยไม่ต้องไปวัดเสี่ยงดวงกับการเตะเปิดสาดไปข้างหน้าที่ไม่สามารถการันตีว่าฝ่ายของเราจะได้ครองบอลไหม หรือถ้าครองบอลได้แล้วจะสามารถสร้างเกมบุกได้ไหม

 

นั่นทำให้เราได้เห็นทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือไบรท์ตัน ใช้วิธีแบบนี้ในการสร้างเกมบุกจากการเตะจากประตู ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี และกลายเป็น ‘เทรนด์’ ที่หลายๆ สโมสรเริ่มทำตามในเวลาต่อมา

 

เราจะได้เห็นผู้รักษาประตูหรือกองหลัง ส่งบอลให้กันสั้นๆ ในกรอบเขตโทษ โดยมีทีมคู่แข่งพยายามเพรสซิงเพื่อหวังชิงบอล ได้เห็นการ ‘แกะบอล’ ด้วยการส่งกันไปมา ถ้าแกะได้ก็จะมีโอกาสพลิกบอลเพื่อทำเกมบุกจู่โจมโดยที่ทีมคู่แข่งอาจไหวตัวหรือกลับตัวไม่ทันเพราะขยับดันขึ้นมาสูงและเปิดพื้นที่และช่องให้จู่โจมได้

 

หรือบ่อยครั้งที่หลังการเคาะบอลไปมาสุดท้ายผู้รักษาประตูจะทำหน้าที่เหมือน ‘ควอเตอร์แบ็ก’ ที่จะคอยมองหาเพื่อนร่วมทีมในแดนบนที่พร้อมจะรับบอลในพื้นที่อันตราย เมื่อได้บอลจ่ายคืนกลับมาก็พร้อมที่จะเปิดทิ้งไปที่ว่างให้ทันที

 

 

 

อาร์แซน เวนเกอร์ ปราชญ์ลูกหนังชาวฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบทบาท Chief of Global Development ของ FIFA ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้เมื่อปีกลาย

 

“ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงกฎนี้ถูกประเมินเอาไว้ต่ำเกินไปจากหลายฝ่าย” เวนเกอร์กล่าว ก่อนจะเล่าต่อว่า “มันทำให้เกมฟุตบอลเร็วขึ้น น่าตื่นเต้นขึ้น และก็มีอีกหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป

 

“สิ่งที่น่าดึงดูดที่สุดคือการพยายามดึงให้คู่แข่งอยู่ห่างจากประตูของตัวเองไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามที่จะเล่นผ่านแนวผู้เล่นเหล่านั้น ถ้าเราสามารถเล่นผ่านด่านแนวแรกของทีมคู่ต่อสู้ที่กดดันเข้ามาได้ เราจะมีพื้นที่อีกครึ่งสนามที่จะสร้างความอันตรายได้”

 

หนึ่งในโค้ชของทีมฟุตบอลในระดับชั้นนำของยุโรปพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ “ความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนกฎนี้ก็คือการทำให้การสร้างเกม (Build Up) ทำได้ง่ายขึ้น เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องเตะมานอกกรอบเขตโทษ ซึ่งจะทำให้ทีมที่เพรสมีโอกาสจะตัดบอลได้เร็ว”

 

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดวิวัฒนาการของแท็กติกการเล่นที่คิดได้ไม่สิ้นสุด เช่น การขยับเอากองกลางเข้ามาช่วยรับบอลด้วย ทำให้การป้องกันของทีมคู่แข่งเป็นไปได้ยากขึ้น ถ้าจะดันเอากองกลางขึ้นมาบีบด้วย ก็หมายถึงการเปิดพื้นที่มากขึ้น

 

ในด้านของเกมรับเองก็มีการคิดวิธีรับมือสูตรแบบนี้ และทำให้เกิดการแก้ลำด้วยการใช้วิธี ‘Man-to-Man Pressing’ หรือการเพรสแบบตัวต่อตัว ไม่เปิดโอกาสให้พลิกตัวพลิกบอลกันง่ายๆ

 

โดยที่การพัฒนาและคิดค้นไม่มีที่สิ้นสุดง่ายๆ เปรียบเหมือนโค้ชได้กระดาษเปล่ามาหนึ่งแผ่น ที่สามารถคิดหาสูตรการเล่นอะไรก็ได้ที่จะทำให้ทีมสร้างเกมได้จากจังหวะแรกในการเตะจากประตู ซึ่งตามสถิติเป็นลูกตั้งเตะ (Set Piece) ที่เกิดขึ้นบ่อยเป็นอันดับที่ 3 ในระหว่างการแข่งขัน รองจากการทุ่มและลูกฟรีคิก

 

 

 

พูดง่ายๆ คือการเปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไม่มีความหมาย ให้กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญ

 

ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2019-2024) สิ่งที่เป็นเครื่องสะท้อนผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎการเตะจากประตูที่ชัดเจนที่สุดคือตัวเลขสถิติที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก

 

จากฤดูกาล 2018/19 การเตะสั้นจากประตู (Short Goal Kick) คิดเป็นจำนวน 24 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูกาล 2023/24 ตัวเลขขยับไปถึง 53 เปอร์เซ็นต์

 

และหากมองย้อนกลับไป การเตะสั้นจากประตูในฤดูกาล 2013/14 มีอยู่เพียงแค่ 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เรียกว่าในระยะเวลา 10 ปีต่างกันถึง 3 เท่า

 

โดยสิ่งที่ผู้รู้บอกได้คือ เราอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นฟุตบอลแบบยุคสมัยใหม่เท่านั้น

 

เกมฟุตบอลยังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ได้อีก เพราะการเปลี่ยนแปลงกฎเตะจากประตูก็เหมือนการเปิดประตูมิติ ที่นำความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุดให้เกิดขึ้น

 

อ่านจบแล้วลองกลับไปสังเกตทีมรักของตัวเองดูนะว่าใช้การเตะเปิดสั้นบ้างไหม และได้ผลดีไหม?

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising