×

UNHCR เผย ตัวเลขผู้พลัดถิ่นทั่วโลกแตะระดับ 100 ล้านคน และพบแนวโน้มตัวเลขพุ่งสูงขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

โดย THE STANDARD TEAM
16.06.2022
  • LOADING...
ผู้พลัดถิ่น

วันนี้ (16 มิถุนายน) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยข้อมูลว่า จำนวนผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นทุกปีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และแตะระดับสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ โดยในรายงานแนวโน้มประจำปีของ UNHCR ระบุว่าเมื่อปลายปี 2021 ผู้พลัดถิ่นจากสงคราม ความรุนแรง การประหัตประหาร และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน มีจำนวน 89.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากสถิติเมื่อ 10 ปีก่อน

 

และหลังจากนั้นมา การรุกรานของรัสเซียในยูเครนก็ทำให้วิกฤตการณ์ถูกบังคับให้พลัดถิ่นขยายตัวเร็วที่สุด และเป็นหนึ่งในสถานการณ์การพลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ จากทวีปแอฟริกาถึงประเทศอัฟกานิสถาน และประเทศอื่นๆ ทำให้ตัวเลขผู้พลัดถิ่นดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นไปแตะระดับ 100 ล้านคน

 

“ทุกๆ ปีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สถิติไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าว “ชุมชนระหว่างประเทศต้องร่วมกันลงมือทำเพื่อจัดการกับปัญหาโศกนาฏกรรมของมนุษย์นี้ แก้ไขความขัดแย้ง ตลอดจนหาทางออกที่ยั่งยืน ไม่เช่นนั้นแนวโน้มที่เลวร้ายนี้จะยังคงดำเนินต่อไป”

 

UNHCR อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ปีที่แล้วเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น และที่ปะทุขึ้นใหม่ให้เห็นใน 23 ประเทศ โดยมีประชากรทั้งหมดกว่า 850 ล้านคนต้องเผชิญกับความตึงเครียดของความขัดแย้งในระดับกลางหรือสูง ในขณะเดียวกัน ความขาดแคลนทางอาหาร ภาวะเงินเฟ้อ และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผู้คนลำบากยิ่งขึ้น ทำให้การรับมือด้านมนุษยธรรมขยายตัว ในขณะที่งบประมาณที่คาดการณ์ไว้ในหลายสถานการณ์ยังคงขาดแคลนอีกมาก

 

และเมื่อดูตัวเลขปี 2021 มีผู้พลัดถิ่น 89.3 ล้านคน พบว่าในจำนวนนี้จัดเป็นกลุ่ม ‘ผู้ลี้ภัย’ 27.1 ล้านคน ผู้เดินทางเพื่อลี้ภัยเข้ามาใหม่เพิ่มขึ้นในประเทศยูกันดา ชาด และซูดาน และอีกหลายประเทศ UNHCR ยังระบุว่าผู้ลี้ภัยส่วนมากได้รับที่พักพิงจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรที่จำกัดเช่นเดียวกับในอดีต ส่วนจำนวนของกลุ่ม ‘ผู้ขอลี้ภัย’ เมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11

 

นอกจากนี้ปี 2021 ยังเป็นปีที่ได้เห็นจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจากความขัดแย้งเพิ่มขึ้นเป็น 53.2 ล้านคน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 จำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ เช่น ประเทศเมียนมา ความขัดแย้งในภูมิภาคทิเกรย์ของเอธิโอเปียและภูมิภาคอื่นๆ ที่กระตุ้นการต่อสู้ของผู้คนนับล้านภายในประเทศ อีกทั้งการจลาจลในภูมิภาคซาเฮลซึ่งเป็นเขตรอยต่อในทะเลทรายซาฮารา ผลักดันให้เกิดการพลัดถิ่นในประเทศครั้งใหม่ โดยเฉพาะในประเทศบูร์กินาฟาโซ และชาด

 

UNHCR ยังชี้ว่าความเร็วและจำนวนของการพลัดถิ่นยังคง ‘ล้ำหน้า’ ไปกว่าทางออกที่สามารถมอบให้ผู้พลัดถิ่น เช่น การเดินทางกลับประเทศด้วยความสมัครใจ การตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม หรือการผสมผสานกลมกลืนกับชุมชนที่พักพิง อย่างไรก็ตาม รายงานแนวโน้มประจำปีดังกล่าวยังคงแสดงให้เห็นถึงความหวัง เพราะจำนวนผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ได้เดินทางกลับมาตุภูมิในปี 2021 มีจำนวนเพิ่มขึ้นและกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยการเดินทางกลับบ้านด้วยความสมัครใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 71 แม้ว่าด้วยจำนวนจะยังคงไม่มากนักก็ตาม

 

“ในขณะที่เราได้เห็นสถานการณ์ผู้ลี้ภัยครั้งใหม่ๆ และสถานการณ์เดิมที่ปะทุขึ้นอีก หรือที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เราก็ได้เห็นตัวอย่างจากหลายประเทศและชุมชนที่ทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกแก่ผู้พลัดถิ่น” กรันดีกล่าวเสริม “สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น ความร่วมมือระดับภูมิภาคในการเดินทางกลับมาตุภูมิของชาวไอวอรีโคสต์ แต่การตัดสินใจที่สำคัญเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดำเนินการอีกหรือยกระดับในที่อื่นๆ”

 

และแม้ว่าจำนวนโดยประมาณของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2021 แต่ก็เป็นปี 2021 เช่นกันที่มีบุคคลกว่า 81,200 คนซึ่งได้รับสัญชาติหรือได้รับการยืนยันสัญชาติ นับเป็นจำนวนผู้ไร้รัฐไร้สัญชาติที่ลดลงต่อปีมากที่สุดตั้งแต่มีการเริ่มต้นแคมเปญ #IBelong โครงการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติทั่วโลกของ UNHCR ในปี 2014

 

ภาพ: John Wreford / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X