×

วิจัยเผยโลกรวนอาจทำให้ชายหาดในแคลิฟอร์เนีย 70% หายไปหมดภายในสิ้นศตวรรษนี้ จากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

30.05.2023
  • LOADING...
california beach

รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกามีชื่อเสียงเลื่องลือถึงหาดทรายสีทองที่ทอดตัวยาวสุดลูกหูลูกตาและเกลียวคลื่นซัดสาดไม่มีที่สิ้นสุด แต่ล่าสุดนั้นมีงานวิจัยออกมาว่ามีโอกาสที่ชายหาดในแคลิฟอร์เนียราว 25-70% อาจหายไปในสิ้นศตวรรษนี้ เหลือทิ้งไว้เพียงหน้าผาหรือโครงสร้างพื้นฐานริมชายฝั่งให้มนุษย์ไว้ดูต่างหน้าเท่านั้น

 

งานวิจัยดังกล่าวใช้ข้อมูลดาวเทียมที่รวบรวมมาในช่วง 20 ปี เพื่อตรวจสอบสภาพของชายฝั่งซึ่งมีความยาว 1,100 ไมล์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ทีมนักวิจัยจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเหล่านั้นมาวิเคราะห์ร่วมกับแบบจำลองการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1.6-10 ฟุต อันเป็นผลพวงจากภาวะโลกรวน เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของสภาพแนวชายฝั่งภายในปี 2100 โดยปริมาณของระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกส่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในปัจจุบันและอนาคต

 

ฌอน วิทูเส็ก (Sean Vitousek) นักวิจัยซึ่งเป็นผู้นำการศึกษานี้กล่าวว่า ชายหาดซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของรัฐแคลิฟอร์เนียมีแนวโน้มที่จะหายไป และการสูญเสียแนวหาดทรายซึ่งกั้นกลางระหว่างพื้นที่ของมนุษย์และเกลียวคลื่นจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมถึงธุรกิจ และบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหาย ซึ่งทุกฝ่ายควรจะต้องเร่งงัดใช้มาตรการเพื่อป้องกันทรัพยากรธรรมชาตินี้ไม่ให้สูญหายไป

 

ปัจจุบันคณะกรรมาธิการชายฝั่งแคลิฟอร์เนียได้สนับสนุนให้เมืองต่างๆ เสริมการป้องกันแนวชายฝั่งให้แข็งแกร่งด้วยการสร้างกำแพงกันคลื่น หรือวางแนวหินขนาดใหญ่ที่สามารถช่วยลดความรุนแรงของคลื่นที่ซัดเข้าฝั่งได้ (แม้กำแพงกันคลื่นจะส่งผลเสียในแง่ของการทำให้หาดทรายอีกด้านหนึ่งถูกกัดเซาะรวดเร็วกว่าเดิมก็ตาม) นอกจากนี้ การฟื้นฟูเนินทรายตามธรรมชาติก็สามารถช่วยปกป้องชายหาดได้เช่นกัน โดยการศึกษานี้ได้ยกตัวอย่างถึงหลายพื้นที่ที่เผชิญความเสี่ยงต่อการกัดเซาะรุนแรง เช่น หาด Point Arena และ Humboldt Bay ทางตอนเหนือของรัฐ, Pismo Beach และ Morro Bay ทางตอนกลางของรัฐ และ Newport Beach และ San Clemente ทางตอนใต้ของรัฐ

 

นอกจากนี้ การศึกษาของ USGS ในปี 2009 พบว่าประมาณ 40% ของชายหาดในรัฐแคลิฟอร์เนียกำลังประสบปัญหาการกัดเซาะในระยะยาว ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเร่งกำหนดมาตรการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะถึงแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะถูกคาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นได้ภายในปี 2100 แต่ถ้าอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกยังคงสูงขึ้นไม่หยุดหย่อน กระบวนการดังกล่าวก็อาจเร่งตัวเข้ามาเร็วขึ้นกว่าที่เคยคาดคิดกันไว้

 

แฟ้มภาพ: Magargee Films via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X