×

‘Global Trade Recession’ จับสัญญาณโลกเข้าสู่ภาวะ ‘การค้าถดถอย’ ท่ามกลางความท้าทายครั้งใหญ่ ตั้งแต่เอลนีโญถึงสงครามการค้า

02.08.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • นักเศรษฐศาสตร์ Citi เตือนว่าโลกอาจกำลังเข้าสู่ภาวะการค้าถดถอย ซึ่งอาจสร้างความเสี่ยงให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เป็นพิเศษ เนื่องจากการเติบโตของ GDP โลกน่าจะชะลอตัวในปีนี้ ไปจนถึงการเสื่อมถอยของกระแสโลกาภิวัตน์
  • สอดคล้องกับการเปิดเผยตัวเลขส่งออกช่วงครึ่งปีแรกของรัฐบาลประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียหลายประเทศที่พบว่าหดตัวหนัก เช่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย และอินเดีย
  • สำหรับส่งออกของไทยก็พบว่าในเดือนมิถุนายนติดลบ 6.4% นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ทำให้การส่งออกของไทยครึ่งแรกของปี 2023 หดตัว 5.4%
  • เมื่อมองไปในแนวโน้มข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนอีกมาก เช่น นโยบายการกีดกันทางการค้า (Protectionism) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการหันไปพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่น (Localising of Supply Chains) มากขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและเอลนีโญ

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลว่าโลกจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย การค้าโลกกลับแสดงสัญญาณความตึงเครียดออกมาแล้ว สร้างความเสี่ยงให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เป็นพิเศษ

 

ตามรายงานล่าสุดขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าปริมาณการค้าสินค้าโลก (Volume of World Merchandise Trade) น่าจะเติบโตเพียง 1.7% ในปีนี้ จาก 2.7% ในปี 2022 สอดคล้องกับข้อมูลของ Citi ที่แสดงให้เห็นว่าปริมาณการนำเข้าทั่วโลก (Global Import Volumes) ที่ติดลบในช่วงปลายปีที่แล้ว ก็ยังคงติดลบในช่วงต้นปี 2023

 

เมื่อมองไปข้างหน้าในปี 2024 WTO มองว่าการค้าโลกมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นเป็น 3.2% อย่างไรก็ตาม WTO ก็เตือนว่าการประมาณการนี้มีความไม่แน่นอนมากกว่าปกติ เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านลบจำนวนมาก รวมถึงความตึงเครียดทางการเมือง อุปทานอาหารตกต่ำ และผลกระทบจากนโยบายทางการเงินแบบตึงตัว

 

ส่องตัวเลขส่งออกของ ‘ไทยและเอเชีย’ ช่วงครึ่งปีแรก

 

ความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะการค้าโลกถดถอยกำลังดูน่ากังวลมากขึ้น หลังจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ทยอยประกาศตัวเลขส่งออกช่วงครึ่งปีแรกออกมา โดยจะเห็นได้ว่าประเทศตลาดเกิดใหม่เอเชียที่พึ่งพาภาคส่งออกไม่มากก็น้อย กำลังประสบกับความยากลำบาก

 

ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์พบว่า อัตราการขยายตัวมูลค่าส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายนปี 2023 ของไต้หวันติดลบ 18.1% สิงคโปร์ติดลบ 10% อินโดนีเซียติดลบ 8.8% อินเดียติดลบ 8.7% มาเลเซียติดลบ 8.4% และไทยติดลบ 5.4% 

 

โดยสำหรับประเทศไทย การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2023 ติดลบ 6.4% นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 และทำให้ดุลการค้าตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายนติดลบหรือขาดดุล 6,307.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

 

เปิด 3 ปัจจัยฉุดการค้าโลกซบเซา

 

เดวิด ลูบิน Head of Emerging Markets Economics จาก Citi มองว่า มีเหตุผลหลัก 3 ประการที่ทำให้การค้าโลกดูซบเซาอยู่ในทุกวันนี้ ได้แก่ 

 

  1. อาการเมาค้างทางการค้า (Trade Hangover) สืบเนื่องจากช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิดที่ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การบริโภคสินค้าพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการช่วงนี้ชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงล็อกดาวน์

 

นอกจากนี้ ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลเสรีนิยมอื่นๆ มุ่งใช้นโยบายแจกเงินกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน สวนทางกับจีนที่ใช้นโยบายดึงคนงานกลับเข้าโรงงานเพื่อเพิ่มอุปทาน ขณะที่ประเทศคู่ค้าเร่งเพิ่มอุปสงค์ ดังนั้นผลที่ตามมาจึงทำให้การค้าเร่งตัวขึ้น

 

  1. ผู้บริโภคหันไปใช้จ่ายเงินกับการบริการแทนสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว 

 

  1. การฟื้นตัวที่อ่อนแรงของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากจนถึงขณะนี้การฟื้นตัวของจีนส่วนใหญ่เป็นการเติบโตแบบ ‘ปราศจากแรงกระตุ้น’ นอกจากนี้ การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ในจีนก็ไปยังภาคบริการมากกว่าการใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ มากไปกว่านี้ ความเชื่อมั่นในจีนที่อ่อนแอมากยังนำไปสู่การลดระดับการบริโภคอีกด้วย ดังนั้นหากรัฐบาลจีนไม่ออกมาตรการระดับ ‘บาซูก้า’ ออกมา สิ่งต่างๆ น่าจะเปลี่ยนแปลงยาก

 

จับตาแนวโน้มเชิงลบต่อทิศทางการค้าโลก

 

ลูบินมองว่า ปัจจัยที่อาจกดดันการค้าโลกต่อไปคือการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ดูเหมือนว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.0% ทั้งในปีหน้าและปีหน้า นับว่าชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ขยายตัวถึง 3.5% ตามการประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยการชะลอตัวของ GDP โลกจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรต่อการค้าและอุปสงค์ทั่วโลกมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ โลกยังกำลังอยู่ในจุดสูงสุดของโลกาภิวัตน์ (Peak Globalisation) โดยจะเห็นว่าในช่วงต้นทศวรรษ 1980 การส่งออกคิดเป็น 15% ของ GDP โลกตามข้อมูลของ IMF โดยโลกาภิวัตน์ได้ดันอัตราส่วนดังกล่าวให้แตะ 25% ของ GDP ในช่วงวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวกลับลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 20% ของ GDP ในปี 2020

 

อีกปัจจัยที่แสดงให้เห็นถึงความซบเซาของการค้าโลก คือการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของการค้าโลก (Global Trade Growth) และการเติบโตของ GDP โลก (Global GDP Growth) โดยในช่วงปี 2010-2020 จะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตของการค้าโลกโดยเฉลี่ย ‘ต่ำกว่า’ อัตราการเติบโตของ GDP โลกเป็นทศวรรษแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

โดย WTO คาดการณ์ว่าการเติบโตของการค้าโลกจะต่ำกว่าการเติบโตของ GDP อีกครั้งในปี 2023 ท่ามกลางนโยบายการกีดกันทางการค้า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการหันไปพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักทั่วโลกยังเริ่มส่งเสียงเตือนถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและเอลนีโญที่อาจกระทบผลผลิตสินค้าและภาคการส่งออก เนื่องจากภาวะดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรหลายกลุ่ม เช่น โกโก้ กาแฟ ข้าว และฝ้าย โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรตั้งแต่ปลายปีนี้ แม้ความเสียหายส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2024 

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X