×

ปี 2023 อุณหภูมิโลกเพิ่มถึงจุดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ข่าวร้ายคือปี 2024 ภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มเลวร้ายลงอีก

โดย Mr.Vop
05.12.2023
  • LOADING...
อุณหภูมิโลก

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดเผยข้อมูลล่าสุดระหว่างการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change) ครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่มีขึ้น ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ชี้ถึงสภาพภูมิอากาศโลกที่ได้ก้าวมาถึงจุดที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

 

หากนับถึงเพียงสิ้นเดือนตุลาคมของปีนี้ ตามข้อมูลของ WMO ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มมาอยู่ที่ 1.4 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (ระหว่างปี 1850-1900) ถือเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มสูงจนทำลายสถิติเดิมของปี 2016 และ 2020 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นสองปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงที่สุดมาแล้ว 

 

มฤตยุนเจย์ โมหะพัตรา อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย ดำรงตำแหน่งรองประธาน WMO กล่าวในที่ประชุมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศของตนว่า ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียเวลานี้มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับทางตอนใต้ 

 

 

“อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้น้ำทะเลมีแนวโน้มที่จะเกิดการขยายตัว ทำระดับน้ำทะเลสูงขึ้น นอกจากนี้ เมื่อมหาสมุทรอุ่นขึ้น ธารน้ำแข็งที่อยู่ติดชายฝั่งก็จะละลายเร็วขึ้น ซ้ำเติมให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงในอัตราที่มากขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับการขยายตัวของน้ำทะเล ถือเป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่ชายฝั่งอินเดีย รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งของประเทศอื่นทั่วโลกด้วย” เขากล่าว

 

ตามข้อมูลของ WMO นั้น ช่วง 9 ปีสุดท้ายนับถึงปีนี้ คือตั้งแต่ปี 2015-2023 ถือเป็นช่วงที่โลกเรามีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

ปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้เกิดสภาวะโลกร้อนที่เลวร้ายลงไปอีกในปีถัดไป นั่นคือปี 2024 เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญจะมีผลกระทบมากที่สุดต่ออุณหภูมิโลกหลังจากที่อุณหภูมิไปถึงจุดสูงสุดแล้ว

 

รายงานยังแสดงให้เห็นว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในช่วงปี 2013-2022 นั้น เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าของอัตราที่เคยบันทึกไว้ในทศวรรษแรกของการใช้ดาวเทียมติดตามระดับน้ำทะเล (ปี 1993-2002) ทั้งนี้ ก็เนื่องจากภาวะโลกร้อนและการละลายของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งอย่างต่อเนื่อง

 

ศาสตราจารย์เพตเทรี ทาลาส เลขาธิการ WMO สรุปถึงข้อมูลล่าสุดที่พบ นั่นคือ “ระดับก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าจะลดลง อุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลได้เพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับปริมาณน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกที่ลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์ และสภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่ดำเนินไปทั่วโลกก่อให้เกิดความเสียหายทั้งกับชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่เคยมีมาก่อน”

 

เรายังพบระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 50% อายุที่ยาวนานของคาร์บอนไดออกไซด์จะส่งผลให้อุณหภูมิโลกจะยังคงสูงขึ้นต่อไปอีกหลายปีต่อจากนี้

 

 

“สิ่งเหล่านี้เป็นมากกว่าสถิติ เรากำลังเสี่ยงสูญเสียโอกาสที่จะเร่งมือปกป้องธารน้ำแข็ง และควบคุมการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เราไม่สามารถกลับไปสู่บรรยากาศของศตวรรษที่ 20 ได้อีกแล้ว มีแต่ต้องเดินหน้าไป เพื่อจำกัดความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะมีมากขึ้นทั้งในศตวรรษนี้และต่อจากนี้” ศาสตราจารย์ทาลาสกล่าว

 

รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้าถึงได้ทั่วโลก โดยในภาพรวมมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความมั่นคงทางอาหาร และการพลัดถิ่นของประชากร

 

“ปีนี้เราได้เห็นชุมชนต่างๆ ทั่วโลกถูกไฟไหม้ น้ำท่วม และอุณหภูมิที่ร้อนจัด ความร้อนทั่วโลกที่ทำลายสถิติน่าจะส่งผลกระทบให้บรรดาผู้นำโลกต้องสั่นสะท้าน” อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในการประชุมเดียวกัน

 

“แต่โลกยังคงมีความหวัง” เขากล่าว

 

“เรามีแผนงานในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอันเลวร้าย แต่เราต้องการให้เหล่าผู้นำที่มาประชุมร่วมกันในการประชุม COP28 นี้ กดปุ่มสตาร์ทเริ่มการแข่งขันของประเทศตัวเอง เพื่อรักษาขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียสนี้ให้กลายเป็นความจริงให้จงได้ โดยการกำหนดความคาดหวังที่ชัดเจนสำหรับแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่จะมีขึ้นจากนี้ไป และเราต้องการคำมั่นสัญญาในด้านความร่วมมือทุกด้าน รวมทั้งด้านการเงิน เพื่อให้ทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้ โดยมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานขึ้น 2 เท่า และเรามุ่งมั่นที่จะยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจนสอดคล้องกับขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส” กูเตอร์เรสเน้นย้ำ

 

หมายเหตุ: อุณหภูมิเฉลี่ยโลก 1.4 องศาเซลเซียสที่ WMO ขีดเส้นสรุปยอดไปเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมนั้น ภายใน 2 สัปดาห์ต่อมา คือวันที่ 17 พฤศจิกายน อุณหภูมิเฉลี่ยโลกก็ได้พุ่งทะลุขีดจำกัดไปถึง 2.07 องศาเซลเซียสเรียบร้อย ตามรายงานข่าวที่เราเสนอไปก่อนหน้านี้

 

ภาพ: Ian Waldie / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising