×

ส่องแนวทางนานาชาติรับมือภาษีทรัมป์ ประเทศไหนทำอะไรไปบ้าง

24.04.2025
  • LOADING...
global-response-trump-tariffs

หลายประเทศเดินหน้าการเจรจากับสหรัฐฯ และกำหนดมาตรการ รวมถึงยื่นข้อเสนอและข้อตกลงการค้าต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการผ่อนปรนมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของทรัมป์

 

ความพยายามเจรจามีขึ้นในช่วง 90 วันอันตราย ที่สหรัฐฯ ระงับขึ้นภาษีชั่วคราว แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีประเทศใด ที่ประสบความสำเร็จชัดเจน หรือบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ โดยบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เตรียมการที่จะเจรจารอบ 2 แต่จะมีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน ยังคงยากจะคาดเดา

 

และนี่คือข้อมูลล่าสุดของหลายประเทศที่ออกมาจนถึงวันนี้ (24 เมษายน)

 

ญี่ปุ่น

  • ประเทศแรกที่ได้เจรจากับสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ
  • การเจรจารอบแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน ญี่ปุ่นมีทีมเจรจา 37 คน จากกระทรวงการคลัง อุตสาหกรรม พาณิชย์ และการต่างประเทศ 
  • เรียวเซ อากาซาวะ รัฐมนตรีกระทรวงการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น  นำทีมเจรจาทรัมป์ที่ทำเนียบขาว
  • แนวทางเจรจา ฝ่ายญี่ปุ่น แยกเรื่องนำเข้าสินค้า อัตราแลกเปลี่ยน และงบประมาณการทหาร เน้นแสวงหาจุดร่วม ขณะที่สหรัฐฯ พยายามมัดรวมทั้ง 3 เรื่อง
  • ผู้แทนญี่ปุ่นเรียกร้องสหรัฐฯ ทบทวนการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และเหล็ก รวมถึงสินค้าอื่นๆ แต่สหรัฐฯ ยืนยันว่า ไม่สามารถยกเว้นให้ญี่ปุ่นได้
  • คัตสึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น เตรียมเดินทางไปวอชิงตันช่วงปลายสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะได้พบกับ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เพื่อหารือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน
  • รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเจรจารอบ 2 กับสหรัฐฯ ช่วงปลายสัปดาห์หน้า โดยยังเป็นการเจรจาระดับรัฐมนตรี
  • ในการเจรจารอบต่อไป อากาซาวะวางแผนที่จะเรียกร้องให้สหรัฐฯ ทบทวนมาตรการอีกครั้ง และต้องการให้วอชิงตันตอบรับประเด็นการลดภาษี รวมในหัวข้อเจรจาด้วย
  • ขณะที่ญี่ปุ่นจะเพิ่มสมาชิกทีมเจรจาอีก 10 คนจากกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตร เพื่อเติมรายละเอียดเรื่องมาตรฐานการนำเข้ารถยนต์ และการนำเข้าข้าว ที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจ

 

เกาหลีใต้

  • ชเวซังมก รัฐมนตรีคลังเกาหลีใต้ และ อันด็อกกึน รัฐมนตรีอุตสาหกรรม นำทีมเจรจา สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และ เจมิสัน เกรียร์  ผู้แทนการค้า ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันนี้ (24 เมษายน)
  • การเจรจามีขึ้นตามคำขอของสหรัฐฯ ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โทรศัพท์สายตรงคุย ฮันด็อกซู​ ประธานาธิบดีรักษาการของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 
  • วาระเจรจาคาดว่ารวมถึงประเด็นความร่วมมือด้านการต่อเรือ, พลังงาน และค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศ ขณะที่เกาหลีใต้ต้องการให้สหรัฐฯ ลดอัตราภาษี
  • ฮันกล่าวว่า “รัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหา ‘ผลประโยชน์ร่วมกัน’ ระหว่างทั้งสองประเทศ” โดยมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ ดุลการค้า การต่อเรือ และก๊าซธรรมชาติเหลว ภายใต้หลักการยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

 

อิตาลี

  • จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีหญิงอิตาลี หารือกับทรัมป์ที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 17 เมษายน
  • เมโลนีพยายามวางบทบาทเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสหรัฐฯ กับ EU พร้อมทั้งเชิญทรัมป์ เยือนกรุงโรม ซึ่งทรัมป์ ตอบรับ
  • เธอยืนยันกับทรัมป์ ว่าเป้าหมายของอิตาลี คือทำให้ชาติตะวันตกแข็งแกร่งอีกครั้ง (Make The West Great Again)
  • ทรัมป์กล่าวภายหลังหารือกับเมโลนี แสดงความเชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ และ EU จะสามารถปิดดีลข้อตกลงการค้าได้ภายในช่วงพักขึ้นภาษี 90 วัน 

 

เวียดนาม

  • รองนายกรัฐมนตรี โฮ ดุ๊ก ฟก ได้เข้าพบ สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 10 เมษายน หลังประชุมกับ เจมิสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เพื่อเจรจาการค้าอย่างเป็นทางการ 
  • เหงียน ฮง เดียน รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและการค้า หัวหน้าคณะเจรจาของเวียดนามเผยว่า เวียดนามพร้อมที่จะจัดการกับปัญหาที่มีอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน
  • รัฐบาลเวียดนามประกาศแผน เพิ่มการซื้อก๊าซ LNG และเครื่องบินจากสหรัฐฯ พร้อมออกมาตรการป้องกันการสวมสิทธิ์ โดยเพิกถอนอำนาจการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า Certificate of Origin ขององค์กรต่างๆ และให้หน่วยงานรัฐดำเนินการแทน
  • นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปราบปรามการฉ้อโกงการค้า การปลอมแปลงสินค้า และปัญหาอื่นๆ ที่เป็นข้อกังวลของสหรัฐฯ
  • นอกจากนี้ยังมีการทบทวนอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และออกมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

 

มาเลเซีย

  • ซาฟรูล อาซิส รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซียมีกำหนดเดินทางไปสหรัฐฯ ในวันนี้ (24 เมษายน) เพื่อเจรจากับผู้แทนการค้าและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้อง 
  • มาเลเซียใช้กลยุทธ์ที่ ‘แตกต่าง’ จากประเทศอื่นๆ ด้วยการ ‘ไม่ให้คำมั่น’ ว่าจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม แต่เน้นจุดแข็งด้าน ‘ความเป็นกลางทางภูมิรัฐศาสตร์’ และบทบาทสำคัญของประเทศในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเอเชีย

 

อินโดนีเซีย

  • คณะเจรจาของอินโดนีเซีย นำโดย แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้หารือกับฝ่ายสหรัฐฯ ที่นำโดย โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์, มาร์โครูบิโอ และเจมิสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 17 เมษายน 
  • ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้การเจรจาบรรลุข้อตกลงเสร็จสิ้นภายใน 60 วัน
  • อินโดนีเซีย ใช้ ‘กลยุทธ์เชิงรุก’ เสนอเพิ่มการนำเข้าน้ำมันและก๊าซ รวมถึงสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง และกากถั่วเหลือง จากสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเพื่อผ่อนปรนภาษีศุลกากร
  • นอกจากนี้ ยังเสนอลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านำเข้าบางรายการจากสหรัฐ และผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่อง ชิ้นส่วนหรือกระบวนการผลิตที่มาจากภายในประเทศ (Local Content) สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเทคโนโลยี

 

ภาพ: 赤沢りょうせい (あかざわりょうせい)/ryosei akazawa 【 official 】/ Facebook

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising