ในวันที่ 17 และ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ร่วมกับรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ จัดการประชุมครั้งสำคัญระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยในชื่อการประชุม ‘Global Refugee Forum (GRF)’ เป็นครั้งแรกของโลก การประชุมระดับโลกทั้งสองวันนี้เป็นการรวมตัวกันครั้งแรกในระดับรัฐมนตรี เพื่อติดตามการปฏิบัติงานตามข้อตกลงโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees) ตามที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา
ปัจจุบันมีผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นทั่วโลกมากกว่า 70 ล้านคน จากเหตุความรุนแรงและการประหัตประหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป้าหมายของการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยครั้งแรกนี้ มุ่งเน้นการกระตุ้นรัฐบาล ภาคเอกชน หน่วยงานและองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคม ในการลงมือดำเนินการตามข้อตกลงโลกเรื่องใหม่ว่าด้วยผู้ลี้ภัย การประชุมระดับโลกเรื่องผู้ลี้ภัย มุ่งเน้นในการสร้างคำมั่นและปฏิญาณที่สามารถปฏิบัติได้จริง การวางนโยบายระยะยาว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาชีวิตผู้ลี้ภัย ตลอดจนชุมชนที่มอบที่พักพิงให้แก่ผู้ลี้ภัยทั่วโลก
การสนับสนุนที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุมนี้จะออกมาในการช่วยเหลือหลากหลายรูปแบบ เช่น งบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และการให้ความช่วยเหลือเฉพาะทาง รวมถึงที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ การขอเข้าเมืองอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมายสำหรับผู้ลี้ภัย และการดำเนินงานด้านอื่นๆ เช่น การปรับบทกฎหมายและนโยบาย เพื่อให้ผู้ลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของระบบภายในประเทศ ผ่านแนวทางที่ให้สังคมโดยรวมมีส่วนร่วม
การประชุมครั้งนี้เป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของผู้นำและผู้ทรงอิทธิพลจากสาขาต่างๆ นอกจาก ฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติแล้ว คาดว่า อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ จะเข้าร่วมด้วย รวมถึงประมุขแห่งรัฐ หัวหน้ารัฐบาลจากประเทศที่เข้าร่วม ที่จะแจ้งรายชื่อให้ทราบในภายหลัง
การประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประชาคมโลกในการนำเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดให้ประเทศ ภูมิภาค หรือโลกได้รับรู้ด้วย
วาระการประชุมในครั้งแรกนี้จะครอบคลุม 6 หัวข้อ ได้แก่ การจัดการในการแบ่งเบาภาระและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ การศึกษา การจ้างงานและการเลี้ยงชีพ พลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน ทางออกด้านต่างๆ และความสามารถในการให้ความคุ้มครอง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล