×

คาดตลาดหุ้นเอเชียฟื้นตัวจากสัปดาห์ก่อน หลัง VIX Index ร่วงทำระดับต่ำสุดรอบ 3 ปี

27.11.2023
  • LOADING...
ตลาดหุ้นเอเชีย

สำนักข่าว Reuters รายงานคาดการณ์ทิศทางตลาดทั่วภูมิภาคเอเชียในช่วงสัปดาห์ส่งท้ายของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าตลาดน่าจะฟื้นตัวปรับตัวดีขึ้นเป็นไปในทิศทางบวกจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากความผันผวนต่ำสุดใน Wall Street ในรอบเกือบ 4 ปี ส่งผลให้ความกังวลและความกลัวของนักลงทุนลดลง และกลับเข้ามาลงทุนในตลาดอีกครั้ง 

 

รายงานระบุว่า ดัชนี VIX ของ S&P 500 ซึ่งบ่งบอกถึงความผันผวนโดยนัย หรือที่เรียกว่า ‘ดัชนีความกลัว’ ของ Wall Street ปิดที่ 12.46 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 

 

ตัวเลขดังกล่าวมีขึ้นหลังมีความหวังที่เป็นไปได้สำหรับการหยุดยิงระหว่างกลุ่มติดอาวุธฮามาสและอิสราเอล ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่จะกลับมาลงทุนเพราะตัวแปรที่ทำให้ตลาดผันผวนลดลง ในวันเปิดทำการของตลาดในวันจันทร์นี้ (27 พฤศจิกายน)

 

ขณะเดียวกันเมื่อมองภาพรวมของตลาดตลอดทั้งสัปดาห์ที่จะถึงนี้ กิจกรรมระดับภูมิภาคเอเชียที่โดดเด่นและน่าจับตามอง เพราะอาจส่งผลต่อทิศทางการขับเคลื่อนตลาด ได้แก่ การตัดสินใจเชิงนโยบายจากนิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และไทย, รายงานตัวเลขเงินเฟ้อจากออสเตรเลีย และข้อมูล GDP ไตรมาส 3 จากอินเดีย

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ Purchasing Managers Index (Pmi) แรกของเดือนตุลาคมที่จะเริ่มมีการเปิดเผยออกมาเช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้บรรดานักลงทุนมองเห็นว่ากิจกรรมการผลิตและบริการของภาคเอกชนปรับตัวขึ้นอย่างไรบ้างในเดือนนี้ โดยเฉพาะกิจกรรมในประเทศสำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

 

ยิ่งไปกว่านั้นปฏิทินข้อมูลระดับภูมิภาคของวันจันทร์ค่อนข้างสดใส โดยไฮไลต์อยู่ที่ผลกำไรของภาคอุตสาหกรรมของจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปี ซึ่งรายงานระบุว่า ผลกำไรตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับลดลงทุกเดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดยแตะจุดต่ำสุดที่ -22.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ แต่การถดถอยได้ชะลอตัวลงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บ่งชี้ว่าบริษัทในจีนกำลังฟื้นตัวกลับขึ้นมาเติบโตได้อย่างช้าๆ 

 

ขณะที่ธนาคารกลางจีนได้เข้ามาควบคุมค่าเงินหยวนจากระดับต่ำสุดในรอบหลายปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ไปสู่ระดับที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม กระนั้นพิจารณาจากปัญหาหนี้และสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังอย่างมากต่อสินทรัพย์ของจีน

 

ทั้งนี้ ดัชนี CSI 300 ของจีนสำหรับหุ้น Blue Chip ในสัปดาห์ที่แล้วร่วงลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งต่ำกว่าดัชนีหุ้นอื่นๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ขณะที่ ดัชนีหุ้นของ MSCI ในเอเชีย-แปซิฟิก ยกเว้นญี่ปุ่นและตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) ต่างก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ส่วนดัชนี MSCI World และดัชนีสามรายใหญ่ของ Wall Street ได้แก่ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones, ดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 เช่นกัน 

 

จับตาประชุมแบงก์ชาติ 3 ประเทศ

 

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองในภูมิภาคเอเชียคือ ธนาคารกลาง 3 แห่งในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจัดการประชุมนโยบายในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วยธนาคารกลางของนิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และไทย โดยมีการคาดหวังว่าทิศทางของธนาคารกลางทั้ง 3 แห่งนี้จะคล้ายคลึงกับการตัดสินใจของธนาคารกลางอินโดนีเซียในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการคงอัตราดอกเบี้ยหลักไว้ไม่เปลี่ยนแปลง 

 

หลายฝ่ายมองว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนไว้ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่อาจจะเว้นวรรคการเปลี่ยนแปลงนโยบายดอกเบี้ย โดยคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมเช่นกัน โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าอัตราเงินเฟ้อในบางประเทศมีความเหนียวและอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนแอ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากสำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร อย่างไรก็ตาม การที่ Fed ไม่เข้มงวดอีกต่อไปจะทำให้ธนาคารกลางในเอเชียมีพื้นที่หายใจมากขึ้นอีกเล็กน้อย

 

ขณะเดียวกันในส่วนของความเคลื่อนไหวในเชิงการเมือง รายงานระบุว่า จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เห็นพ้องที่จะรื้อฟื้นความร่วมมืออีกครั้ง และปูทางสำหรับการประชุมสุดยอดครั้งแรกระหว่างทั้งสามนับตั้งแต่ปี 2019 นับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดเพื่อบรรเทาความตึงเครียดระหว่างเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย

 

สำหรับความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจซึ่งสามารถบ่งชี้ทิศทางของตลาดเพิ่มเติมในวันจันทร์นี้ (27 พฤศจิกายน) ประกอบด้วยการเปิดเผยรายงานตัวเลขผลกำไรภาคอุตสาหกรรมของจีน, ดัชนีราคาผู้ผลิต หรือ PPI ภาคบริการของญี่ปุ่น และการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 และ 5 ปี

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising