×

ส่องทิศการลงทุนโลก นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ

18.08.2024
  • LOADING...

เปิดต้นเดือนสิงหาคมไม่ทันไร ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เกิด Black Monday ขึ้นมาในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา มรสุมข่าวร้ายลากตลาดหุ้นทั่วโลกทะเลแดงเดือดไปด้วยกัน ทำเอาพอร์ตซวนเซกันไปทีเดียว

 

ต้นสายปลายเหตุตลาดปั่นป่วนรอบนี้มาจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กลับหลังหันการขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าที่ตลาดคาดไว้ กระตุกค่าเงินเยนแข็งขึ้น บรรดานักลงทุนทั่วโลกที่ทำ Yen Carry Trade (กู้เงินจากสกุลเงินเยน แล้วนำเงินเหล่านี้มาลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก ได้กำไรกันมากมาย) มายาวนานปี ต่างก็หงายเงิบสิครับ อยู่ๆ ต้นทุนทางการเงินพุ่งขึ้นเกินคาด สภาพคล่องในระบบปั่นป่วน ต่างเทกระจาดขายทิ้งหนีขาดทุนกันจ้าละหวั่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนักทั้งสองตลาด ส่วนเอเชียนำโดยตลาดหุ้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ส่วนจีนนั้นลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ครับ

 

หลังจากที่ปลายเดือนกรกฎาคม ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0-0.1% มาสู่ระดับ 0.25% และยังปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นรายเดือนลงอีก 3 ล้านล้านเยน (2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในสิ้นปี 2569 จากระดับ 6 ล้านล้านเยน

 

ฝุ่นตลบ 3 ปมร้อน ‘เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุด-ลดดอกเบี้ยสายเกินแก้-ลุ้นประธานาธิบดี’

 

ผีซ้ำด้ำพลอยตลาดหุ้นโลก เมื่อมีข่าวร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟาดซ้ำลงมา จากตัวเลขตลาดแรงงานเดือนกรกฎาคมที่ออกมา ทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตร (ดัชนี Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้น 1.14 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าคาดไว้เยอะ และตัวเลขว่างงานสหรัฐฯ พุ่งแตะ 4.3% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 สร้างความวิตกว่าตลาดแรงงานอ่อนแอ นอกจากนี้ดัชนี PMI ที่สะท้อนภาคการผลิตเริ่มแผ่ว ภาคบริการที่ยังต้องติดตามตัวเลขในเดือนต่อๆ ไป

 

นักลงทุนเพิ่มความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะเกิดภาวะถดถอยระดับ Hard Landing หลังมีปัจจัยต่างๆ เริ่มบ่งชี้แล้วว่า Hard Landing กำลังจะมา ซึ่งอาจเกิดขึ้นปีหน้าหรือเร็วกว่านั้นก็เป็นไปได้ ซึ่งมาจากผลพวงของการใช้อัตราดอกเบี้ยสูง 5.25-250% มานานเกินไป หลังจากที่มุมมองก่อนหน้านี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัว

 

พร้อมกับมีคำถามขึ้นมาว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รอบเดือนกันยายนนี้ อาจจะพิจารณาลดดอกเบี้ยแรงถึง 0.50% จากเดิมคาดอยู่ที่ 0.25% ซึ่งการลดดอกเบี้ยที่กำลังจะเกิดขึ้นสามารถช่วยยับยั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้มากหรือน้อยเพียงใด หรืออาจจะเป็นการลดดอกเบี้ยที่สายเกินไปเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ (Behind the Curve) หรือไม่

 

ดังนั้นปัญหาใหญ่สุดของสหรัฐฯ ตอนนี้คืออัตราดอกเบี้ยสูงที่คงอยู่เป็นเวลานานกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่จะทำให้เกิดปัญหาหนี้สูญ และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ คงต้องติดตามท่าทีของ Fed นับจากนี้

 

ฝั่งภาคธุรกิจทนพิษดอกเบี้ยสูงไม่ไหวแล้ว ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาตามเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่รายงานผลกำไรประจำไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ราคาหุ้นร่วงหนักโดยเฉพาะกลุ่มหุ้น 7 นางฟ้าที่วาดฝันกันไว้สูง นำโดยหุ้น Apple, NVIDIA, Tesla, Microsoft นักลงทุนผิดหวังต่างเทขายหุ้นเทคออกมาลากดัชนี NASDAQ ร่วงหนัก ส่วนดัชนี DOW JONES ร่วงหนักสุดในรอบ 2 ปี

 

บรรยากาศการลงทุนในช่วงต่อจากนี้ยังไร้ทิศทาง แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาประกาศจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีก และส่งผลให้ตลาดทั่วโลกรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง แต่ก็ไม่เท่ากับที่ปรับตัวลดลงไป แน่นอนว่านักลงทุนส่วนใหญ่ต่างระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่องหาโอกาสการลงทุนในภาวะอึมครึมเช่นนี้ครับ

 

นี่แหละครับอะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่มีใครคาดเดาล่วงหน้าได้เลย

 

เพราะในช่วงที่เหลือของปีนี้โลกยังมีมรสุมลูกใหญ่ 2 ลูกที่มองเห็นได้ในตอนนี้รออยู่ครับ นั่นคือนับถอยหลังการเลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่’ ในช่วง 4 เดือนจากนี้ราวเดือนพฤศจิกายน 2567 แล้ว และความอึมครึมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอยระดับไหนกันแน่

 

ผมอยากชวนคุณมาทำการบ้านทบทวนสถานการณ์โลกลงทุนที่มีความผันผวนสูงไปด้วยกันครับ และสินทรัพย์ไหนที่จะได้ประโยชน์บ้าง และตัวไหนที่ร่วงลงมาเป็นจังหวะเข้าลงทุนได้บ้าง

 

โลกกำลังส่องสปอตไลต์คู่ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ‘โจ ไบเดน’ จากพรรคเดโมแครต กับอดีตประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ จากพรรครีพับลิกัน แต่ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อปลายเดือนที่แล้วพรรคเดโมแครตมีการเปลี่ยนตัวแทนพรรคเป็น ‘คามาลา แฮร์ริส’ รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน หญิงแกร่งเบอร์สองของสหรัฐฯ ที่ต้องขึ้นมาสู้ศึกใหญ่นี้ ช่วงระหว่างทางของทั้งคู่ต่างหาเสียงและดีเบตกันถึงนโยบายต่างๆ ที่เป็นจุดแข็งและขยี้จุดอ่อนของแต่ละฝ่ายออกมา

 

มุมมองทั่วโลกต่างคาดผลเลือกตั้งเทน้ำหนักไปทาง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กันมากกว่า เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ สุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะถดถอยหลังสัญญาณตัวเลขชี้วัดเศรษฐกิจออกมาย่ำแย่กว่าคาด ส่งผลลบต่อตัวประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ‘โจ ไบเดน’ กระทบต่อความเชื่อมั่นของพรรคเดโมแครต อย่างไรก็ตาม โลกก็คงต้องรอคำตอบผลเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ครับ

 

เกาะติดธีมหุ้นสหรัฐฯ รับเลือกตั้งสหรัฐฯ-ตลาดหุ้นอินเดีย…ไปต่อ

 

เมื่อเร็วๆ นี้ J.P. Morgan มองว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก กระแสความผันผวนในตลาดหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้วันเลือกตั้ง โดยในระยะสั้น เม็ดเงินลงทุนจะไหลเข้ากลุ่มธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายของผู้สมัครที่มีแนวโน้มจะได้รับการเลือกตั้ง

 

ส่วนในระยะยาว ผู้ลงทุนควรให้ความสำคัญกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด และกำไรของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจลงทุนจากนี้ไป

 

โดยในภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้านเงินเฟ้อทยอยปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนกำไรของบริษัทจดทะเบียนสามารถเติบโตได้แข็งแกร่ง และสูงกว่าประเทศอื่นๆ

 

นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley มองว่านักลงทุนไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไปว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับฐานลงจากระดับปัจจุบัน ในทางกลับกัน นักลงทุนควรสร้างโอกาสในการเข้าซื้อ พร้อมแนะนำว่าเน้นซื้อหุ้นรายตัว

 

จริงๆ ถ้าย้อนไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นไปสูงถึง 40% หากครั้งนี้จะปรับฐานลงมาแรงบ้างส่วนตัวผมถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกจุดพลุติดลมบนด้วยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่นำโดย 7 นางฟ้า

 

แต่ถ้ามองว่าหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ ผ่านไปปลายปีนี้ ประธานาธิบดีคนใหม่ก็ต้องเข้ามาบริหารประเทศเดินหน้าต่อไป ซึ่งถ้าดูเป้าหมายนโยบายที่คล้ายๆ กันของ โดนัลด์ ทรัมป์ และ คามาลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต นั่นก็คือเรื่องความสัมพันธ์กับจีน แต่ทว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะสุดโต่งมากกว่า และหากชนะเลือกตั้ง น่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากกว่าตัวแทนจากพรรคเดโมแครต เนื่องจากนโยบายปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคงภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเป็นบวกต่อบริษัทจดทะเบียนทำให้มีแนวโน้มกำไรเพิ่มขึ้น

 

ด้านกลุ่มเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ หรือตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ต่างก็มีนโยบายสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ AI เพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนได้

 

แต่อย่างไรก็ตาม แนวทางของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีแนวโน้มให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่าการใช้งบประมาณภาครัฐ มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน

 

ขณะที่ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตชูการให้เงินทุนสนับสนุนศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับภูมิภาคใน 14 รัฐ เพื่อเร่งการเติบโตของนวัตกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสะอาด Biotechnology และ AI ซึ่งหากชนะเลือกตั้งครั้งนี้ หุ้นกลุ่มดังกล่าวจะได้รับประโยชน์ครับ

 

การใช้งาน AI ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI ยังน่าลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ที่ยอดขายเป็นวัฏจักรขาขึ้น วงจรขาขึ้นของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ในอดีตเฉลี่ยอยู่ที่ 32 เดือน ปัจจุบันยังอยู่ที่ 8 เดือนเท่านั้น จึงยังมีโอกาสไปต่อได้อีก สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนธีม AI

 

กลุ่มบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่โดดเด่น อาทิ NVIDIA ผู้นำสำคัญด้านห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์สำหรับ AI, OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT ที่ตอบโต้ได้เหมือนมนุษย์ (Generative AI), Anthropic มุ่งเน้นไปที่การพัฒนา AI ที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้, TSMC ผู้ผลิตชิปไต้หวันรายใหญ่ ผลิตให้กับ NVIDIA และบริษัทอื่นๆ, Google (Alphabet), Meta และ Microsoft เป็นต้น หากคุณสนใจดูข้อมูลหุ้นรายตัวเหล่านี้ สามารถเข้าไปใน Jitta.com ได้ครับ จะมีหุ้นที่ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึก คัดกรอง และรวบรวมมาจำนวนมาก เปิดให้นักลงทุนเข้าไปใช้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายครับ

 

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมทั้งหุ้นสหรัฐฯ ที่อยู่ในกลุ่ม New Economy หุ้นในห่วงโซ่อุปทาน AI และหุ้นคุณภาพสูง (Quality) ที่มูลค่าหุ้นเติบโตได้ในระยะยาว ยังเป็นธีมที่ลงทุนได้หลังจากที่ปรับตัวลงมาแรงตามตลาดในช่วงนี้

 

อีกประเทศที่มาแรงของปีนี้ต้องยกให้กับ ‘อินเดีย’ ที่เป็นมหาพันธมิตรของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ นเรนทรา โมดี ที่นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีติดต่อกันเป็นสมัยที่ 3 ทำให้นโยบายมีความต่อเนื่องในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยยังเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างงาน และการพัฒนาชนบท ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอินเดียในระยะยาว

 

การเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชากรอินเดียที่มีวัยหนุ่มสาวจำนวนมากทำให้มีจำนวนชนชั้นกลางมากขึ้นในอินเดีย สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจค้าปลีก รวมไปถึงความต้องการในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่ดี เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งจะสะท้อนลงมายังผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้น

 

ตลาดหุ้นอินเดียเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปในตลาดหุ้นที่มีโอกาสเติบโตสูงในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีโครงสร้างประชากรวัยทำงานที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล

 

ปัจจุบันอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โดยมีการประมาณการว่า GDP ปี 2567 และ 2568 จะมีอัตราเติบโตถึง 7.8% และ 7% ตามลำดับ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตเฉลี่ย 6.5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

 

แม้ในช่วงปีนี้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นอินเดียค่อนข้างมาก โดยดัชนี SENSEX ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่าราคาหุ้นขึ้นมาแพงเกินไปแล้วหรือไม่ แต่หากสะท้อน Valuation ของตลาดหุ้นอินเดีย ค่า Forward PE ของตลาดหุ้นอินเดียในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 20 เท่า คิดเป็น 0.6 SD ของค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่มีความเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะเมื่อคาดการณ์ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอินเดียจะเติบโตถึง 9.3% ในปีนี้ และเติบโต 15.13% ในปี 2568

 

หากดูผลตอบแทนย้อนหลังของของ iShares MSCI India ETF ที่ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ ครอบคลุม 85% ของบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นอินเดียจากหลากหลายอุตสาหกรรมพบว่า 1 ปี ย้อนหลัง +26.95% (ข้อมูล ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2567) ไม่น้อยเลยจริงไหมครับ

 

ผมมองว่าหากคุณยังไม่ได้ลงทุนหุ้นอินเดีย อาจจะกระจายลงทุนเพื่อทำให้พอร์ตของคุณสมดุลมากขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงการลงทุนที่กระจุกตัวอยู่ในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากตลาดหุ้นอินเดียมี Correlation หรือความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศในระดับต่ำ จึงช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดหุ้นโลกได้ดี

 

เพิ่มทางเลือกลงทุนสูตรผสมสินทรัพย์ทั่วโลก ‘พันธบัตร-หุ้น’

 

สำหรับใครที่คิดว่าการเลือกลงทุนหุ้นรายตัว หุ้นรายกลุ่ม จะเป็นความยากเกินไป ก็สามารถเลือกลงทุนกับบริษัทที่มีจัดพอร์ตแบบผสมให้บริการลูกค้าได้นะครับ เพราะจะมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพและเชี่ยวชาญการลงทุนทั่วโลก เป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการสินทรัพย์ต่างๆ โดยหลักการของพอร์ตผสมจะเป็นการกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่ประเภทต่างๆ ตั้งแต่ระดับความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรไปจนถึงความเสี่ยงสูงเช่นหุ้นประเทศต่างๆ ซึ่งจะตอบโจทย์การให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน ที่สำคัญพอร์ตที่จัดผสมนี้จะคำนึงถึงหลักการที่ช่วยลดความผันผวนในการลงทุนยามที่เผชิญกับความไม่แน่นอน สินทรัพย์หนึ่งจะสามารถให้ผลตอบแทนขึ้นมาได้ในยามที่อีกสินทรัพย์อยู่ในภาวะขาลง

 

การจัดพอร์ตผสมจะได้รับการตอบรับดีจากผู้ลงทุนจำนวนมากที่อยากลงทุนต่างประเทศแต่ยังกล้าๆ กลัวๆ หรือไม่มั่นใจว่าพอร์ตจะไปรอดหรือไม่รอด ซึ่งเสียงสะท้อนจากลูกค้าที่ลงทุนในพอร์ตประเภทนี้อย่าง Global ETF ของ Jitta Wealth ก็พบว่ามีความพึงพอใจในผลตอบแทนที่มีเสถียรภาพนะครับ

 

ประเด็นที่ผมย้ำเสมอคือการลงทุนระยะยาวจะให้ผลตอบแทนดีกว่าแค่การลงทุนช่วงสั้นๆ ครับ เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากลงทุนแต่ไม่รู้จะลงทุนอะไร ผมแนะนำให้ลงทุนในพอร์ตที่มีการจัดการแบบ Asset Allocation ให้บริการครับ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากครับ และคุณจะมีความสุขกับการลงทุนระยะยาวแบบค่อยเป็นค่อยไป คุณจะใช้ชีวิตอย่างสบายใจ ไม่หวือหวา เพราะไม่ต้องมาพะวงกับความเสี่ยงผันผวนของโลกที่ไม่แน่นอนครับ

 

สุดท้ายนี้ ผมมีแต่ข้อคิดฝากไว้ เพราะชีวิตคนเราไม่สามารถทำงานได้ตลอดชีวิต แต่เราต้องใช้เงินตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นแล้วการ ‘วางแผนการเงิน การลงทุน’ ปูทางอนาคตตัวเองตั้งแต่วันนี้จึงสำคัญ มาเริ่มลงมือกันเมื่อมีเงินออมแล้วมากน้อยไม่สำคัญ แต่มีใจที่คิดเริ่มต้นสำคัญสุดครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising