×

จับตาดอกเบี้ยโลกขาลงถึงปีหน้า ลุ้นปลายปีนี้แบงก์ชาติเริ่มหั่นดอกเบี้ยสู้ปัญหาภาวะการเงินไทยตึงตัว

08.10.2024
  • LOADING...
ดอกเบี้ย

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่าภาพรวมภาวะการเงินของโลกที่ผ่านมาเริ่มผ่อนคลายลงไปค่อนข้างมาก หลังจากธนาคารกลางหลักของโลกเริ่มทยอยปรับลด ดอกเบี้ย ลง ทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB), ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึงล่าสุดที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 17-18 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อทยอยปรับตัวลดลง

 

ทั้งนี้ หากมองไประยะข้างหน้า ธนาคารกลางหลักทั่วโลกมีโอกาสที่จะลด ดอกเบี้ย ลงต่อเนื่อง โดยประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ Fed จะมีการประชุมอีกจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงได้อีก 0.50% ขณะที่ในปีหน้าคาดว่ามีโอกาสจะลดลงประมาณ 1% หลังจากที่แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มที่น่ากังวลเพิ่มมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังไม่เข้าสู่ภาวะ Hard Landing ประกอบกับตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว จึงมองว่าในระยะข้างหน้านโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกยังมีทิศทางปรับอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าในปีหน้าทั้ง ECB และ BOE จะมีการลดดอกเบี้ยลงตามได้อีกประมาณ 1%

 

นอกจากนี้ ในมิติของกฎเกณฑ์การพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินทั่วโลกเริ่มลดความเข้มงวดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาวะทางการเงินของโลกเริ่มผ่อนคลายลงด้วยอย่างชัดเจน

 

ไทยเผชิญภาวะการเงินตึงตัว สินเชื่อหดตัวทุกประเภท

 

สำหรับประเทศไทยยังอยู่ในปัญหาภาวะการเงินตึงตัวในระดับที่สูง เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในระยะสั้นยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการลดดอกเบี้ยลง

 

จึงประเมินว่า ภาวะทางการเงินหรือตลาดทางการเงินของไทยจะตึงตัวต่อเนื่อง ทั้งภาวะการตึงตัวทางการเงินจากต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนได้จากทิศทางค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วในภูมิภาค จนทำให้ ธปท. เข้าดูแลค่าเงินบาท

 

รวมถึงภาวะการตึงตัวจากในประเทศ จากข้อมูลการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินปัจจุบันยังมีความเข้มงวดขึ้นค่อนข้างมาก สะท้อนจากตัวเลขการปล่อยสินเชื่อไตรมาส 2/67 ของระบบสถาบันการเงินที่หดตัวลงเกือบทุกประเภท ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อเช่าซื้อ, สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล อีกทั้งคุณภาพของสินเชื่อมีแนวโน้มที่ถดถอยและลดลงค่อนข้างมาก

 

ดร.ปุณยวัจน์ กล่าวต่อว่า ภาวะทางการเงินกับภาพรวมเศรษฐกิจถือว่ามีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง ทั้งนี้หากภาคการเงินมีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกกระทบ จะมีผลกระทบต่อเนื่องตามมาต่อภาคเศรษฐกิจจริง รวมทั้งเกิดภาวะตัวเร่งทางการเงิน (Financial Accelerator) อีกด้วย

 

หนี้ครัวเรือนลดต่ำกว่า 90% เหตุแบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้

 

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย ล่าสุดในไตรมาส 2/67 ที่รายงานว่ามีสัดส่วนลดลงมาต่ำกว่า 90% ต่อ GDP เป็นครั้งแรก หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิดเป็นต้นมา ซึ่งหากมองผิวเผินอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเจาะข้อมูลเข้าไปไส้ในของตัวเลขที่ลดลงดังกล่าว จะเห็นว่าเกิดจากการเติบโตของหนี้ที่ขยายตัวค่อนข้างต่ำ โดยการปล่อยสินเชื่อการเติบโตเพียง 1.3% ถือเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์

 

ทั้งนี้ มองว่าการปรับตัวลดลงของหนี้ครัวเรือนที่รวดเร็วเป็นเรื่องที่ไม่ยั่งยืน เพราะมาจากผลกระทบที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้หรือคนไม่สามารถกู้เงินได้ ดังนั้นการลดลงของหนี้ครัวเรือนครั้งนี้จึงยังไม่ใช่การลดลงของหนี้ครัวเรือนที่แข็งแรง

 

ดร.ปุณยวัจน์ กล่าวด้วยว่า การลดลงของสินเชื่อดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงผ่านภาคการบริโภคให้มีทิศทางปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการบริโภคกลุ่มที่อยู่อาศัย รถยนต์ รวมถึงสิ่งของสินค้าต่างๆ ที่ต้องพึ่งพิงการใช้จากแหล่งเงินที่มาจากการขอสินเชื่อ อีกทั้งจะทำให้แนวโน้มภาคการลงทุนในระยะต่อไปปรับตัวลดลงตามไปด้วย

 

จับตาปลายปีนี้แบงก์ชาติเริ่มหั่นดอกเบี้ย

 

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยของ ธปท. ที่เหลือการประชุมอีก 2 ครั้งในปีนี้ คือวันที่ 16 ตุลาคม และวันที่ 18 ธันวาคม ทาง SCB EIC มองว่าภาคการเงินของไทยโดยเฉพาะภาคครัวเรือนมีความเปราะบางและยังมีปัญหาภาวะความตึงตัวในภาคการเงิน ซึ่งทำให้ ธปท. เริ่มให้ความสำคัญในประเด็นปัญหานี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีการนำประเด็นภาวะทางการเงินที่ตึงตัวมาหารือในที่ประชุม

 

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า ในการประชุมของ กนง. ปลายปีนี้ในวันที่ 16 ตุลาคม จะมีมติให้คงดอกเบี้ยที่ 2.50% พร้อมทั้งคาดว่า กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยและมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงในช่วงต้นปี 2568 มาอยู่ที่ระดับ 2% โดยคาดว่าน่าจะเป็นระดับดอกเบี้ยที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ภาวะทางการเงินของไทยผ่อนคลายลงได้บ้าง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X