×

กูรูประเมินสถานการณ์ เงินเฟ้อ เชื่อผ่านจุดพีคแต่ยังมีโอกาสกลับมาเร่งตัวขึ้นได้อีก

11.08.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

สถานการณ์ เงินเฟ้อ ดูจะมีสัญญาณคลี่คลายไปในทางบวก เมื่อดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (CPI) ในเดือนกรกฎาคมชะลอตัวลงจากเดือนมิถุนายนก่อนหน้าที่ 9.1% มาอยู่ที่ 8.5% ขณะเดียวกัน หากตัดราคาอาหารและพลังงานที่มักมีความผันผวนรุนแรง ราคาสินค้าและบริการที่เรียกว่า Core Inflation ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% จากเดือนมิถุนายน และเพิ่มขึ้น 5.9% จากเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

 

บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า สัญญาณเงินเฟ้อที่แผ่วลงน่าจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้าและปีถัดไป จนกว่าจะลดลงแตะเป้าเงินเฟ้อรายปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ 2%

 

เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงไม่เพียงทำให้นักลงทุน รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ คลายกังวลได้ว่า มาตรการคุมเข้มนโยบายการเงินและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เริ่มได้ผลลัพธ์ไปในทิศทางที่ต้องการได้แล้วเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความหวังว่าอัตราเงินเฟ้อได้มาถึงจุดสูงสุดหรือจุดพีค และได้ฤกษ์ขยับลงเสียที

 

ทั้งนี้ การคาดการณ์จุดพีคของเงินเฟ้อถือเป็นงานสุดหินของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางปัจจัยไม่แน่นอนมากมายในปัจจุบัน โดยผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่า เงินเฟ้อน่าจะมาถึงจุดพีคแล้ว และมีปัจจัยสนับสนุนหลักอย่างการปรับตัวลดลงของราคาพลังงาน และ Core Inflation

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งแย้งว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปแบบฟันธงว่าเงินเฟ้อมาถึงจุดพีคแล้ว เหตุเพราะยังมีตัวแปรสำคัญที่สามารถดันเงินเฟ้อให้พลิกกลับมาพุ่งขึ้นได้อีก โดยตัวแปรแรกก็คือราคาพลังงาน ที่แม้ราคาในสหรัฐฯ กับจีนจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะความต้องการที่ลดลง แต่ราคาพลังงานดังกล่าวในยุโรปกลับมีแนวโน้มจะขยับเพิ่มขึ้น เหตุจากแนวโน้มดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง แต่ปริมาณซัพพลายกลับลดลง

 

ตัวแปรต่อมาก็คือราคาอาหารที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้ง Core Inflation ก็ยังถือว่าอยู่ห่างไกลจากระดับ Comfort Zone ที่บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกจะรู้สึกวางใจ

 

นอกจากนี้ อีกตัวแปรสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ ค่าจ้างแรงงาน (Wage) ที่มีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าหากค่าแรงค่อยๆ ปรับขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่แล้ว ย่อมไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเงินเฟ้อ แต่หากปรับขึ้นเร็วเกินไป ก็อาจจะทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจทั้งหลายบวกต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นลงไป ดันให้เงินเฟ้อกลับมาอีกระลอก

 

สิ่งที่นักวิเคราะห์กังวลกันก็คือ เงินเฟ้อจะขยับเพิ่มขึ้นในขณะที่ยังไม่ได้ปรับลดไปถึงเป้าที่วางไว้

 

ขณะเดียวกัน สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขเงินเฟ้ออาจจะชะลอตัวลง แต่ราคาอาหารยังถือว่าอยู่ในระดับสูง และไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงแม้แต่น้อย

 

รายงานระบุว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาสินค้าประเภทอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้น 13.1% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นประจำปีที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 1979 โดยที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกชนิดพุ่งสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ราคาของไข่เพิ่มขึ้น 38%, แป้งขึ้น 22.7%, ไก่ 17.6%, นม 15.6%, เนื้อบด 9.7%, เบคอน 9.2% และผักและผลไม้ 9.3%

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้อาหารมีราคาแพงขึ้นก็คือ การเกิดไข้หวัดนกระบาดในสัตว์ปีกในสหรัฐฯ หรือสภาพอากาศแปรปรวนที่ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้วในบราซิลและยุโรป หรือน้ำท่วมหนักในอีกหลายพื้นที่เพาะปลูก ยังไม่รวมปัจจัยตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่พร้อมดันราคาอาหาร และต้นทุนในการผลิตอาหารให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก

 

ดังนั้น ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันจะปรับตัวลดลง แต่กว่าที่ราคาสินค้าในมือผู้บริโภคจะปรับตัวลงตามยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ซึ่งในระหว่างนี้ ต้นทุนของผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบรรจุภัณฑ์ และค่าแรง ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงก็ล้วนจ่อคิวรอขึ้นราคาแทบทั้งสิ้น

 

อ้างอิง:  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X