×

ถ้าโลกใบนี้อยู่ไม่ได้ พวกเราเหล่ามวลมนุษย์จะย้ายไปอยู่ที่ไหนกัน

โดย Mr.Vop
30.05.2019
  • LOADING...
Global heading for Point of no return

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ผลวิจัยล่าสุดบอกเราว่าโลกกำลังจะไปถึงจุดที่เรียกว่า Point of no return หรือจุดที่ไม่มีวันย้อนกลับในปี 2035 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า หลังจากนั้นไป ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไร โลกก็ไม่อาจย้อนกลับไปสู่สภาพเดิมได้อีก
  • แม้ว่าจะผ่านจุดที่ไม่มีวันย้อนกลับไปแล้ว สภาพแวดล้อมจะเสื่อมโทรม​ลงไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจกินเวลานานเป็นร้อยปีหรือหลายร้อยปีจากนี้ กว่าที่มันจะย่ำแย่ไปถึงขั้นที่เรียกว่าอยู่อาศัยไม่ได้ เมื่อเวลานั้นมาถึง มนุษย์จะไปอยู่ที่ไหนได้อีก

สภาพภูมิอากาศโลกทุกวันนี้เลวร้ายลงทุกที สภาวะโลกร้อนที่มนุษย์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นก็เริ่มกัดเซาะเมืองชายฝั่งและท่วมพื้นที่ต่ำ น้ำในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นทำให้พายุหมุนเขตร้อนมีความรุนแรงขึ้น สภาพอากาศแล้ง ไฟป่า คลื่นความร้อน คลื่นความหนาวเย็น ฝนตกหนักในระดับที่เรียกว่าตกเมื่อใดท่วมเมื่อนั้นเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ผลวิจัยล่าสุดบอกเราว่าโลกกำลังจะไปถึงจุดที่เรียกว่า Point of no return หรือจุดที่ไม่มีวันย้อนกลับในปี 2035 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า หลังจากนั้นไป ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไร โลกก็ไม่อาจย้อนกลับไปสู่สภาพเดิมได้อีก

 

และแม้ว่าจะผ่านจุดที่ไม่มีวันย้อนกลับไปแล้วก็ใช่ว่าโลกเราจะอยู่ไม่ได้เลยเสียทีเดียว เพียงแต่สภาพแวดล้อมจะเสื่อมโทรม​ลงไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจกินเวลานานเป็นร้อยปีหรือหลายร้อยปีจากนี้ กว่าที่มันจะย่ำแย่ไปถึงขั้นที่เรียกว่าอยู่อาศัยไม่ได้จริงๆ และเมื่อถึงเวลานั้น ลูกหลานของเราในอนาคตคงจะเลิกสาปบรรพบุรุษของพวกเขา แล้วหาทางอพยพออกจากโลกใบนี้ไป

 

ภาพสะท้อนของการอพยพทิ้งถิ่นฐานปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายต่อหลายเรื่อง ที่โด่งดังและออกแนววิทยาศาสตร์ที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ Interstellar ที่เนื้อเรื่องพูดถึงสภาพโลกในอนาคตที่ใกล้จะอยู่อาศัยไม่ได้ ทำให้เหล่ามนุษย์ต้องหาทางย้ายไปอยู่ที่ดาวเคราะห์ดวงอื่น

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กล่าวถึงดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราว่าไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะแม้แต่ดาวอังคารที่ถือว่าดีกว่าเพื่อนแล้ว แต่จากความเบาบางของอากาศที่หนาวเย็นและมีแต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้มนุษย์ที่จะย้ายไปอยู่ดาวอังคารไม่พ้นต้องสวมชุดอวกาศตลอดเวลาอยู่ดี อย่าว่าแต่ดวงจันทร์หรือดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะที่มีสภาพสุดขั้วยิ่งกว่าดาวอังคารมากมายหลายเท่า นักวิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์​เรื่อง Interstellar จึงเลือกที่จะเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์ที่อยู่​ในระบบดาวฤกษ์อื่นแทน

 

Global heading for Point of no return

 

แต่อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการคิดอพยพคือ ‘ระยะทาง’ เหตุผลเพราะจักรวาลนั้นกว้างใหญ่มาก ความเร็วแสงที่เราเคยคิดกันว่าเร็วนักเร็วหนา เร็วขนาดสามารถวิ่งรอบโลกได้ถึง 7 รอบครึ่งใน 1 วินาทีนั้น พอเอาเข้าจริงๆ ความเร็วแสงกลับช้ายิ่งกว่าเต่าคลาน หอยทากเรียกพี่ เมื่อเดินทางไปในอวกาศ

 

 

ลองดูคลิปด้านบน (อดทนดูหน่อย เพราะมันช้ามาก) มันคือการเดินทางของแสงจากโลกไปดาวอังคารที่ใช้เวลาตามความเป็นจริง ซึ่งจะพบว่ามันนานหลายนาที และหากเป็นดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะที่ไกลกว่าดาว​อังคาร​ก็อาจต้อง​ว่า​กัน​เป็น​ชั่วโมง​หรือ​หลาย​ชั่วโมง​เลย​ทีเดียว​

 

Global heading for Point of no return

 

ดังนั้นหากเราคิดเดินทาง​ไป​ยัง​ดาวเคราะห์​ที่อยู่ในระบบ​ดาวฤกษ์​อื่น​ ยกตัวอย่าง​เช่น​ ระบบดาวพร็อกซิมา เซ็นทอรี เพื่อนบ้านที่ใกล้​ที่สุด​ของ​ระบบสุริยะ​ซึ่งอยู่ห่างออกไปใน​ระยะ​ทางที่แม้แต่แสงก็ยังต้องใช้เวลาเดินทางนานถึง 4 ปีเศษ เรื่องนี้แค่คิดก็หมดสิทธิ์แล้ว เพราะถ้าเราอพยพไปด้วยความเร็ว​ระดับจรวดธรรมดา​ที่ทำความเร็วได้สูงสุดเวลานี้อย่างยานจูโนที่ 266,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งก็คือ 0.000246% ของความเร็วแสง ก็คงต้องใช้เวลาหลายหมื่นปีกว่าจะเดินทางไปถึง ถึงตอนนั้นผู้คนในยานอวกาศ​คงแก่ตายกันไปหลายร้อยชั่วอายุคนแล้ว

 

วิธีเดียวที่จะเดินทางไปถึงระบบดาวอื่นให้เร็วที่สุดในภาพยนตร์​เรื่องนี้และในภาพยนตร์​แนววิทยาศาสตร์​เรื่อง​อื่น​ เช่น Contact ก็คือเดินทางผ่าน ‘รูหนอน’ หรือ​สะพานไอน์สไตน์-โรเซน ซึ่งก็คือการ ‘บิดโค้ง’ ของปริภูมิ-เวลา หรือกาล-อวกาศนั่นเอง

 

ลองจินตนาการถึงจักรวาลสองมิติที่แบนเหมือนแผ่นกระดาษ การเดินทางที่สั้นที่สุดจากหัวกระดาษไปท้ายกระดาษคือจับกระดาษพับครึ่งให้จุดหัวและท้ายซ้อนกัน แล้วเอาดินสอเจาะทะลุเป็นรู แต่สำหรับในจักรวาลจริงซึ่งเป็นกาล-อวกาศที่มี 4 มิตินั้น รูหนอนหรือทางลัดผ่านรูเจาะมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก

 

Global heading for Point of no return

 

ที่ผ่านมาเหล่านักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ารูหนอนมีได้หลายแบบ ที่มีอยู่ในธรรมชาติก็น่าจะเป็นรูหนอนที่อยู่ในหลุมดำ มีหลายคนเชื่อว่าที่กลางหลุมดำเป็นทางเชื่อมต่อไปสู่ทางออกอีกด้านหนึ่งของจักรวาล  

 

นอกจากนี้ยังมีรูหนอนขนาดเล็กกว่าอะตอมที่จะต้องว่ากันด้วยกลศาสตร์ควอนตัม และรูหนอนอีกแบบที่เกิดขึ้นมาจากการใช้เทคโนโลยีและการคำนวณสร้างมันขึ้นมา ซึ่งในเวลานี้ความก้าวหน้าของมนุษย์ยังไปไม่ถึงจุดนั้น ดังนั้นแน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นรูหนอนแบบไหน ในอนาคตอันใกล้นี้เราคงไม่มีโอกาสได้ใช้

 

โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทีมนักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งของสหรัฐฯ นำโดย ดร.แดเนียล แจฟเฟอริส จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นำเสนอผลงานวิจัยทางทฤษฎีล่าสุดซึ่งชี้ว่าแม้การเดินทางผ่านรูหนอนสามารถจะเกิดขึ้นได้จริง แต่เส้นทางที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ทางลัดเหมือนที่คิดกันไว้ อาจเป็น ‘ทางอ้อม’ ที่ส่งผลให้เนิ่นช้าและเสียเวลายิ่งกว่าวิธีเดินทางในห้วงอวกาศตามธรรมดาหลายเท่า

 

เมื่อการเดินทางไปสู่ระบบดาวอื่นแบบที่คิดฝันไว้ในภาพยนตร์นั้นเป็นไปไม่ได้ การอยู่อาศัยบนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราเองก็ไม่พ้นต้องสวมชุดอวกาศ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องสร้างโดมครอบเมืองเอาไว้ ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วเรายังมีทางเลือกอื่นอีกไหม เช่น การทำ Terraforming ซึ่งก็คือการแปลงบรรยากาศดาวเคราะห์ดวงอื่น เช่น ดาวอังคาร ให้มีสภาพแบบเดียวกับโลก

 

ผลวิจัยล่าสุดจาก NASA ก็ระบุไว้ว่าลักษณะของดาวอังคารไม่เอื้ออำนวยในการทำ Terraforming หรืออย่างน้อยเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้นี้ก็ยังไม่มีทางทำได้ ถ้าอย่างนั้นก็คงเหลือทางเลือกสุดท้ายแล้วคือการสร้างยานอยู่อาศัยขนาดใหญ่ไว้นอกโลก เพราะหากการค้นหาบ้านใหม่เป็นไปไม่ได้ เราก็คงต้องสร้างมันขึ้นมาเอง

 

อาณานิคมบนยานอวกาศขนาดยักษ์

การสร้างสถานีอวกาศเป็นเรื่องที่ทำได้มานานแล้ว ซึ่งหากเราจะขยายขนาดของมันให้ใหญ่โตขึ้นสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวนแสนก็คงเป็นไปได้ง่ายกว่า ใช้ทรัพยากรและเงินทุนน้อยกว่าการพยายามแปรสภาพดาวเคราะห์อื่นทั้งดวงให้เป็นโลก

 

อีกทั้งเรายังพบว่ามีแร่ธาตุที่มีค่ามากมาย เช่น ทองคำ นิกเกิล และโลหะจำเป็นอื่นๆ รวมทั้งน้ำในรูปของน้ำแข็งอยู่ตามดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากมายที่โคจรอยู่ไม่ไกลนัก ซึ่งเราอาจไปตั้งสถานีขุดเจาะเพื่อส่งแร่เหล่านั้นมาใช้งานได้

 

การสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบอาณานิคมบนยานอวกาศขนาดยักษ์นั้นมีสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือ เราต้องสร้างให้มันมีแรงโน้มถ่วงเทียมจากการหมุนรอบตัวเองให้เกิดความเร่ง 1g เพื่อให้มนุษย์ที่อยู่อาศัยในนั้นไม่สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกระดูกแบบที่เราเคยพบในนักบินอวกาศที่อยู่ในที่ที่ไร้แรงโน้มถ่วงนานๆ และมีระบบการรีไซเคิลอากาศและน้ำเสีย รวมทั้งส่วนผลิตอาหารที่จะอย่างไรก็ยังมีความเป็นไปได้ในระดับเอื้อมถึงกว่าการอพยพไปอยู่บนดาวอื่นอย่างที่เอ่ยถึงมาข้างต้น

 

ดังนั้นแล้วหากวันหนึ่งข้างหน้าโลกใบนี้ไม่เอื้ออำนวยให้มนุษย์เราอยู่อาศัย เราคงต้องสร้างและอพยพขึ้นไปอยู่บนอวกาศในยานอวกาศขนาดยักษ์ ซึ่งอาจมีเป็นจำนวนหลายลำโคจรอยู่ไม่ไกลจากโลก เนื่องจากเป็นโซนที่มีแสงอาทิตย์ไม่มากและน้อยไป และยังคงต้องมีการเดินทางขึ้นลงเพื่อขนส่งทรัพยากรบางส่วน ซึ่งก็หวังว่าจะเป็นการไปอยู่ชั่วคราวเท่านั้นเพื่อรอให้โลกเราฟื้นตัวแล้วอพยพกลับลงมาในวันหน้า คงไม่ต้องไปอยู่บนนั้นแบบถาวร เพราะอย่างไรก็ไม่ปลอดภัยอยู่ดี เพราะอาณานิคมอวกาศแบบนั้นถูกสะเก็ดดาวดวงเล็กๆ พุ่งชนก็จบแล้ว

 

แต่อะไรจะดีไปกว่าการที่เราจะยังได้อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ต้องย้ายบ้านไปไหน ซึ่งนั่นก็คงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกประเทศและทุกคนอย่างเร่งด่วนที่จะหยุดการเสื่อมสภาพของโลกใบนี้ให้ได้ก่อนจะสายเกินไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X