นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักออกโรงเตือนนานาประเทศทั่วโลกเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาวิกฤตขาดแคลนพลังงาน หลังจากที่ราคาพลังงาน ทั้ง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินพุ่งทะยานทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
โดยวิกฤตขาดแคลนพลังงานในครั้งนี้สืบเนื่องจากหลายปัจจัยประกอบกัน ตั้งแต่ปัญหาการชะงักงันในเรื่องของกระบวนการผลิตและการเพิ่มกำลังการผลิต ปัญหาสภาพอากาศที่เลวร้ายและความต้องการบริโภคพลังงานที่ฟื้นกลับมามากขึ้น ทำให้พลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่พอใช้งาน จนกระทั่งมีรายงานไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ กลายเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าก่อนที่หลายประเทศทั่้วโลกจะก้าวเข้าสู่ฤดูหนาว ที่ครัวเรือนจำเป็นต้องใช้พลังงานในการให้ความสว่างและความร้อนภายในบ้าน
ขณะเดียวกันวิกฤตขาดแคลนพลังงานยังทวีความซับซ้อน เมื่อทั่วโลกจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้มาใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดแต่ค่าใช้จ่ายสูงเพื่อแก้วิกฤตโลกร้อน
ทั้งนี้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวแล้ว และมีแนวโน้มจะขยับขึ้นอีก เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ เพราะติดปัญหาภัยธรรมชาติ บวกกับที่ผ่านมาช่วงโควิด โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลงไป โดยราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปเพิ่มขึ้นมากกว่า 130% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ราคาก๊าซกรรมชาติในเอเชียตะวันออกเมื่อเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นถึง 85%
ด้านราคาน้ำมันมีแนวโน้มทะลุแนวต้าน 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่าหากฤดูหนาวปีนี้ยาวนานตามที่พยากรณ์กันไว้ มีสิทธิ์ดันราคาน้ำมันดิบเบรนต์ให้พุ่งสูงเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยครั้งล่าสุดที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับดังกล่าวคือในปี 2014
ขณะที่ราคาถ่านหินก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยมีรายงานว่าจีนและอินเดียต่างเร่งสั่งสมถ่านหินเพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นพลังงานมากขึ้น ทว่าถ่านหินกลับไม่ใช่ตัวเลือกในการผลิตพลังงานที่ดีของนานาประเทศในยุโรป เพราะปริมาณก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการผลิต ทำให้โรงงานต้องจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวตามข้อกำหนดของรัฐบาลเพื่อลดปัญหามลพิษและแก้ไขภาวะโลกร้อน
แม้รัฐบาลทั่วโลกจะพยายามหามาตรการเพื่อจำกัดผลกระทบต่อผู้บริโภค กระนั้น เป็นที่รับทราบโดยถ้วนหน้ากันแล้วว่าประชาชนทั้งหลายจำเป็นต้องทำใจรับบิลค่าไฟที่แพงขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ประเด็นที่น่าวิตกตามมาก็คือ พลังงานเป็นต้นทุนและปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ดังนั้นราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง ผู้คนหันมาประหยัด ชะลอการใช้จ่าย จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่บอบช้ำอย่างหนักจากวิกฤตโควิดระบาด
Henning Gloystein ผู้อำนวยการด้านพลังงาน สภาพภูมิอากาศ และทรัพยากรของ บริษัท ที่ปรึกษา ยูเรเซีย กรุ๊ป กล่าวว่า ค่าไฟที่สูงขึ้นอาจทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายกับเสื้อผ้าหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน กระทบต่อฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด และหากมีการขอให้ธุรกิจระงับกิจกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ก็อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจได้เช่นกัน
นักวิเคราะห์เตือนว่า รัฐบาลนานาประเทศควรเตรียมมาตรการรับมือทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อไม่ให้กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม ขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายความพยายามในการผลักดันให้โลกลดการพึ่งพาพลังงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตในครั้งนี้อาจเป็นโอกาสของประเทศผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับตนเอง ซึ่งความเห็นดังกล่าวมีขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย หนึ่งในประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ออกมาแสดงความเห็นว่า ยุโรปสามารถเลี่ยงวิกฤตขาดแคลนพลังงานและสามารถควบคุมราคาพลังงานได้ หากรัฐบาลเยอรมนีเร่งพิจารณาการอนุมัติโครงการ Nord Stream 2 ซึ่งเป็นโครงการท่อส่งก๊าซใต้ทะเลระหว่างรัสเซียกับภูมิภาคยุโรปผ่านทางเยอรมนี
ทั้งนี้โครงการ Nord Stream 2 เสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนที่แล้ว แม้ว่าจะมีการต่อต้านจากประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งออกมาเตือนว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้รัสเซียเพิ่มอิทธิพลในยุโรป
อ้างอิง: