×

SCB WEALTH มองแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ‘ฟื้นตัวพร้อมเพรียง’ แม้ยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ปกคลุมถึงสิ้นปี

30.07.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณพื้นตัวอย่างพร้อมเพรียง นำโดยการเริ่มต้นฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ตามมาด้วยยุโรป และมาถึงเอเชีย รวมถึงไทย
  • เศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง แต่ตลาดหันมาเน้นเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลเร่งผลักดัน โดยเฉพาะมาตรการอสังหา
  • ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์จะรุนแรงขึ้น และจีนจะมุ่งแก้ปัญหา Oversupply ด้วยการผลักดันสินค้าราคาถูกมาสู่ประเทศคู่ค้า
  • ขณะที่เอเชีย (รวมถึงไทย) แม้จะได้รับผลกระทบจากคลื่นสินค้าราคาถูก แต่ก็มีค่าแรงถูกกว่า มีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก และมีสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ
  • สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นครึ่งหลังของปี InnovestX เชื่อว่าหุ้นไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยมีเป้าหมาย SET Index อยู่ที่ 1,500 จุด

เมื่อเร็วๆ นี้ SCB WEALTH จัดงานสัมมนาในหัวข้อ ‘จับจังหวะช่วงเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว นักลงทุนไทยควรวางแผนอย่างไร’ โดย ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้เชี่ยวชาญสายงานวิจัยการลงทุน และ สุทธิชัย คุ้มวรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เป็นวิทยากร

 

 

ดร.ปิยศักดิ์ ได้บรรยายในหัวข้อ Global synchronized growth, Thailand’s cyclical rebound, Global and Thailand Economic outlook 2024 และเจาะลึกถึงประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ โดย ดร.ปิยศักดิ์ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียง นำโดยการเริ่มต้นฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยยุโรป และมาถึงเอเชีย โดยดัชนี PMI โลกปรับตัวดีขึ้น นำโดยภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตก็ฟื้นตัวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเอเชียที่ฟื้นตัวใกล้เคียงกับปี 2016-2018 ไม่ว่าจะเป็นดัชนี PMI, MPI และส่งออก ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 2 ปี ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าภาคการผลิตของเอเชียจะฟื้นตัวปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าเป็นอย่างน้อย

 

 

ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลงชัดเจน จากดอกเบี้ยที่อยู่สูง กระทบกำลังซื้อและกลับมากระทบภาคการผลิต โดยเฉพาะดัชนีภาคอุตสาหกรรมโรงงาน (ISM Manufacturing) ที่ชะลอแรงมากขึ้น เงินเฟ้อเริ่มชะลอลงแต่ยังอยู่ระดับสูง แม้อัตราว่างงานเข้าสู่เป้าหมายแล้วและจะชะลอต่อเนื่องจากนี้ไป

 

ภาพนี้ทำให้เรามองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะยังคงประมาณการ GDP คงอัตราว่างงาน แต่ปรับ Core Personal Consumption Expenditure (PCE) ขึ้นเล็กน้อย และสำหรับ Dot Plot มองว่าจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ 4.88% หรือลดลง 2 ครั้งในระยะถัดไป ทั้งนี้ เรามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการผลิตและภาคตลาดแรงงาน ทำให้ Fed ลดดอกเบี้ยได้ในเดือนกันยายน-ธันวาคม

 

ในส่วนของเศรษฐกิจจีน เชื่อว่ายังเสี่ยงจากเรื่องสภาพคล่อง แต่ตลาดหันมาเน้นเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การขายพันธบัตรระยะยาวอายุ 20-50 ปี มูลค่า 1 ล้านล้านหยวน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 1%, มาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การยกเลิกอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยขั้นต่ำ, การลดเงินดาวน์สินเชื่อที่อยู่อาศัย, การให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ตั้งกองทุนมูลค่า 3 แสนล้านหยวน เพื่อซื้อบ้านที่ขายไม่ออกมาพัฒนาเป็นบ้านเอื้ออาทร รวมถึงมาตรการภาษีอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ โดย InnovestX มองว่าจีนจะผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นผ่านการส่งออกสินค้าราคาถูก และสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนสินค้าไปใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก โดยใช้งบรัฐอุดหนุน

 

สำหรับปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ เรามองว่าจะรุนแรงขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือเกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม กลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือสงครามเย็นกับจีน ทั้งสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี สงครามการเงิน และความเสี่ยงไต้หวัน ซึ่งสิ่งที่ต้องจับตามากที่สุดคือสงครามการค้า ที่แม้การเก็บภาษี EV จะไม่รุนแรง แต่สงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เพราะทรัมป์มีแผนจะประกาศภาษีศุลกากร 10% กับทุกประเทศทั่วโลก และจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกชนิด 60%

 

ในส่วนเศรษฐกิจไทย มองว่าจะเริ่มฟื้นตัวในเชิงโมเมนตัม ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดส่งสัญญาณชัดเจนขึ้น ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน ตามการส่งออกที่ดีขึ้น ส่วนภาคเกษตรฟื้นตัวตามราคา แต่ปริมาณยังหดตัว การลงทุนเริ่มฟื้นตามการนำเข้าเครื่องจักร การบริโภคเริ่มชะลอลง แต่สินค้าคงทนฟื้นตัว

 

ขณะที่ภาคการผลิตก็ฟื้นตัวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเอเชียที่ฟื้นตัวใกล้เคียงกับปี 2016-2018 ไม่ว่าจะเป็นดัชนี PMI, MPI และส่งออก ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 2 ปี ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าภาคการผลิตของเอเชียจะฟื้นตัวปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าเป็นอย่างน้อย

 

โดยล่าสุดเราได้พัฒนา INVX Thailand GDP-Now Model และพบว่าไตรมาส 2 ปี 2024 นั้น GDP น่าจะขยายตัวประมาณ 2.3% ใกล้เคียงกับ Macro Model ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีความเสี่ยงสำคัญในประเด็นการเมือง โดยเฉพาะคดี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าจะสามารถบริหารราชการต่อไปได้หรือไม่ หลังจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หากศาลพิจารณาแล้วไม่ผิด จะทำให้กระบวนการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบันดำเนินต่อไปได้ เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 2.5% ในปี 2024 และ 3% ในปี 2025 แต่หากศาลพิจารณาว่าผิด จะนำไปสู่กระบวนการสรรหานายกฯ ใหม่ แต่ยังได้นายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย SCB คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.3% ในปี 2024 และ 2.7% ในปี 2025 และกรณีเลวร้ายที่สุดที่ศาลตัดสินว่าผิด นำไปสู่กระบวนการสรรหานายกฯ ใหม่ แต่ไม่สามารถสรรหานายกฯ ภายในพรรคเพื่อไทยได้ทันในไตรมาส 3 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2% ในปี 2024 และ 2.5% ในปี 2025

 

วิกฤตอสังหาจีน ใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี จึงจะคลายปม

 

InnovestX มองว่าประเด็นพิเศษที่ต้องจับตาคือวิกฤตอสังหา จีนจะใช้เวลา 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย แต่มาตรการล่าสุดอาจช่วยได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2023 ภาคอสังหาจีนมีที่อยู่อาศัยที่เริ่มสร้างแล้วทั้งหมด 5.9 พันล้านตารางเมตร ลดลง 15% จากช่วงสูงสุดในปี 2022 ที่มีที่อยู่อาศัยเริ่มก่อสร้าง 6.9 พันล้านตารางเมตร ในส่วนของยอดขายนั้น ณ สิ้นปี 2023 ภาคอสังหาจีนมียอดขายแล้วทั้งสิ้น 948 ล้านตารางเมตร ลดลง 40% จากปี 2022 ที่ขายได้ 1.57 พันล้านตารางเมตร

 

ในขณะที่ภาคอสังหาที่สร้างเสร็จแล้ว ณ สิ้นปี 2023 อยู่ที่ 724 ล้านตารางเมตร ซึ่งสถานการณ์นี้บ่งชี้ว่าภาคอสังหาจีนกำลังอยู่ในช่วงเคลียร์สต็อกเก่าและเร่งขายให้หมด รวมถึงชะลอการออกโครงการใหม่ ขณะที่มีบ้านสร้างเสร็จแล้วแต่รอการขายอยู่ที่ 331 ล้านตารางเมตร และหากพิจารณาในอดีตจะพบว่าปัจจุบันบ้านสร้างเสร็จรอการขายในจีนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากในช่วงปี 2015 ที่สต็อกบ้านว่างสูงสุดที่ 466 ล้านตารางเมตร ก่อนจะลดลงเหลือ 225 ล้านตารางเมตรในปี 2019

 

หากนำพื้นที่ก่อสร้างบ้านและยอดขายต่อปีมาหาสัดส่วน จะได้จำนวนปีที่เคลียร์สต็อกทั้งหมด ซึ่งพบว่า ณ สิ้นปี 2023 จำนวนปีที่จีนจะเคลียร์สต็อกภาคอสังหาทั้งหมดคือ 6.2 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ 3.7 ปี และหากพิจารณาด้วยสัดส่วนดังกล่าว จะพบว่าจีนเคยเผชิญกับวิกฤตอสังหาครั้งหนึ่งแล้วในปี 2015-2017 ที่เคยเกิดฟองสบู่จากมาตรการกระตุ้นหลังวิกฤตการเงินโลก (แฮมเบอร์เกอร์) ที่นำไปสู่การกระตุ้นมหาศาลของรัฐบาลจีน และนำไปสู่วิกฤตเมืองร้าง หรือ Ghost Town ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลใช้เวลา 2-3 ปี ในการเคลียร์สต็อกบ้านคงค้างจาก 4.9 ปี เหลือ 3.7 ปี

 

ดังนั้นหากพิจารณาในวัฏจักรนี้ เราเชื่อว่าภาคอสังหาจีนจะฟื้นได้จะต้องเกิดการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลกเป็นหลัก ขณะที่มาตรการอสังหาครั้งนี้จะเป็นมาตรการที่ประคับประคองภาคอสังหาได้เท่านั้น โดยหากพิจารณาจากมูลค่าของบ้านที่รอการขาย จะพบว่าปัจจุบันอยู่ที่ 3.96 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 3.14% ของ GDP ขณะที่ PBOC มีขนาดอยู่ที่ 500 ล้านหยวน ซึ่งคิดเป็น 12.6% ของมูลค่าการขาย ซึ่งธนาคารขนาด 12.6% นี้อาจไม่สามารถเข้าซื้อบ้านได้ทั้งหมด แต่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาคอสังหาอย่างมีนัยสำคัญ

 

นอกจากนั้น นโยบายของรัฐบาลจีนจะยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง คือ การเคลียร์สต็อกผ่านการเข้าซื้อของรัฐบาลจีนนั้นน่าจะเข้าซื้อในโครงการของผู้ประกอบการที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่รัฐบาลมีหุ้นส่วนอยู่ เช่น บริษัท Vanke ทำให้บริษัทเอกชนรายเล็กอาจมีความเสี่ยงล้มละลาย อีกทั้งจะส่งผลให้ภาคอสังหาจีนเป็นอย่างที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศ คือทำให้ “บ้านเป็นที่อาศัย ไม่ใช่ที่เก็งกำไร” โดยการทำให้ราคาของอสังหาจีนไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากในระยะต่อไป

 

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะรุนแรงขึ้นในอนาคต

 

China De-risking จะตึงเครียดมากขึ้นในอนาคต และอาจสร้างโลกหลายขั้ว ซึ่งผู้เล่นรายใหญ่ของโลกที่แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มจะร่วมมือกันเมื่อมองเห็นผลประโยชน์ที่สอดคล้องกัน และจะต่อสู้กันเองเมื่อผลประโยชน์ขัดแย้ง สิ่งนี้จะนำไปสู่โลกที่แตกแยกมากขึ้น โลกาภิวัตน์จะเสื่อมถอยลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น

 

China De-risking อาจเกี่ยวข้องกับการจำกัดการลงทุนในและนอกประเทศจีน รวมถึงการอุดหนุนสำหรับการสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศขึ้นใหม่ เพื่อลดการครอบงำห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของจีน

 

ระเบียบโลกเก่ากำลังจะล่มสลาย

 

ปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่จะทำให้ระเบียบโลกล่มสลายได้ เช่น การกลับมาสู่ทำเนียบขาวของทรัมป์ ความกลัวการนำเข้าสินค้าจีนราคาถูกจะมาตีตลาด หรือสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในประเด็นไต้หวัน หรือระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย อาจนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้

 

เรามองว่าในปัจจุบันระเบียบเดิมของโลกกำลังถูกท้าทายจากบทบาทที่ลดลงของสหรัฐฯ ในฐานะตำรวจโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเมืองภายในสหรัฐฯ เอง ทำให้ในระยะต่อไปโลกจะแตกเป็นขั้วมากขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งทางด้านการค้า การเงิน การลงทุน เทคโนโลยี รวมถึงด้านความมั่นคง ซึ่งจะกระทบรุนแรงขึ้นต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโลก

 

โลกแบ่งขั้วเศรษฐกิจ ไทยได้รับโอกาสหรือความเสี่ยง?

 

จะเห็นได้ว่าในทศวรรษที่ผ่านมาจีนเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการผลิตโลกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และชาติตะวันตก กับจีน, วิกฤตโรคโควิด-19 ที่นำไปสู่การล็อกดาวน์ผ่านมาตรการ Zero-COVID, นโยบายรัฐบาลที่เข้มงวดขึ้น ผ่านแนวคิดการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียม และจำกัดธุรกิจที่เติบโตเร็วเกินไป อย่างเช่น อสังหา รวมถึงต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าแรงพุ่งสูงขึ้น

 

ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้กระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ย้ายออกจากจีนไปสู่หลายประเทศในเอเชีย ที่เรียกว่า Alternative Asia หรือ Altasia

 

สำหรับเอเชีย หากเปรียบเทียบกับจีน บางมุมมอง Altasia ดูดีกว่า เช่น

 

  • มีประชากรวัยทำงานรวมกันกว่า 1.41 พันล้านคน
  • ค่าจ้างขั้นต่ำในอินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ต่ำกว่า 3 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของค่าจ้างจีน
  • การส่งออกไปสหรัฐฯ ในปี 2022 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6.34 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าจีน 6.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สมาชิก Altasia บางส่วนยังเป็นสมาชิกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ด้วย

 

ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า FDI ในจีนลดลง ในอินเดียทรงตัว แต่ในเอเชียและอเมริกาเหนือเพิ่มมากขึ้น โดย FDI ในจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ FDI ในอาเซียนและอินเดียเพิ่มขึ้น โดยอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 1.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 เป็น 2.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐใน 10 ปีต่อมา หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปีที่ 4% ขณะที่ในอินเดียเพิ่มขึ้นจาก 2.81 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 3.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกัน คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นต่อปีที่ 2.6%

 

และหากพิจารณาทิศทางการลงทุนของจีนที่ชะลอรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงปี 2012-2013 ที่ FDI ลดลงจาก 3.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 8.22 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วนั้น จะพบว่าทิศทางสวนทางกับปริมาณ FDI ของอเมริกาเหนือที่เพิ่มขึ้นรุนแรงจากประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 4.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสนับสนุนแนวคิดว่ากระแส Reshoring และ Friendshoring ทำให้เงินลงทุนไหลจากจีนและกลับไปยังสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรมากขึ้น จากภาพรวมของ FDI ในจีนที่กล่าวมา จึงสามารถสรุปได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จีนจะเข้าสู่ Lost Decade

 

ไทยรับอานิสงส์ FDI จีนไหลออก

 

ซึ่งไทยก็ได้รับอานิสงส์จากการโยกย้ายของ FDI โดยส่วนมากไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยหากพิจารณาแหล่งที่มาของการลงทุน FDI ในไทย ข้อมูลการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในเขต EEC ของไทย จะพบว่าญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากที่สุด 14% ตามด้วยจีน 11%, สิงคโปร์ 4%, สหรัฐฯ 4% และฮ่องกง 4% โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ อิเล็กทรอนิกส์ 34%, เทคโนโลยีชีวภาพ 13%, ยานยนต์ 26%, แปรรูปอาหาร 19.4% และดิจิทัล 11.5%

 

จัดทัพลงทุนครึ่งหลังของปี

 

ในส่วนของภาคการลงทุนนั้น สุทธิชัยให้แง่มุมที่น่าสนใจว่า เหตุการณ์สำคัญในครึ่งแรกของปี 2024 มีค่อนข้างหลากหลาย เช่น Fed ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอื่นๆ เริ่มลดดอกเบี้ยลง, จีนตั้งเป้า GDP ปี 2024 ไว้ที่ 5% พร้อมมาตรการกระตุ้นหลายประการ, IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกอีกครั้งเป็น 3.2% จาก 3.1% หนุนโดยสหรัฐฯ และอินเดียเป็นหลัก, กลุ่ม OPEC+ ยังลดการผลิตรวม แต่เริ่มส่งสัญญาณปรับเพิ่มในไตรมาส 4 ปี 2024 รวมถึงสถานการณ์การเมืองในไทยที่ร้อนแรงขึ้น ทั้งนี้ ในแง่ผลตอบแทนครึ่งแรกของปี 2024 พบว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดคือ -8.11% ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นและ Nasdaq ให้ผลตอบแทนมากกว่า 18% ส่วนสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากสุดคือ Bitcoin ที่ปรับเพิ่มขึ้น 43.36% สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น ครึ่งแรกของปี 2024 ปรับตัวลดลง 8% หุ้นส่วนใหญ่ที่ปรับลดลงเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่อิงกับเศรษฐกิจ มีเพียงหุ้นบางกลุ่มเท่านั้นที่ปรับตัวขึ้นได้หรือทรงตัว ได้แก่ หุ้นกลุ่มการบริโภค สินค้าเกษตร และท่องเที่ยว ปัจจัยหลักๆ ที่กระทบต่อตลาดหุ้นไทยก็คือความกังวลด้านการเมือง ซึ่งลุกลามทำให้ Fund Flow ไหลออกไปในตลาดหุ้นอื่นๆ ในเอเชีย เช่น ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน

 

 

หุ้นไทยครึ่งหลังของปีเต็มไปด้วยความหวัง

 

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในครึ่งหลังของปี 2024 มองว่ายังมีปัจจัยบวกรออยู่ โดยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2024 หดตัวลง 2.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เทียบกับคาดการณ์ถือว่าดีกว่ามาก จึงคาดว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี หลังจากเริ่มเห็นการปรับเพิ่มประมาณการ ส่งผลให้แนวโน้มกำไรฟื้นตัวต่อเนื่องเฉลี่ยมากกว่า 10% ในปี 2024-2025 นำโดยกลุ่มท่องเที่ยว อาหาร และเครื่องดื่ม

 

เรามองว่าในไตรมาส 3 ปี 2024 ตลาดจะเปลี่ยนโฟกัสไปที่ Valuation ของกลุ่มเทคโนโลยีและปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตใหม่นอกเหนือจาก AI โดยคาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนกลุ่มเล่น จากหุ้นเติบโตไปยังหุ้นคุณค่าและหุ้นวัฏจักร ไม่รวมกลุ่มเทคโนโลยี ทั้งนี้ ตาม Sentiment ที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจุดยืนของ Fed ต่อการลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลดีต่อตลาด EM ทำให้กำไรของตลาด EM ฟื้นตัวในไตรมาส 3 ปี 2024 เป็นต้นไป

 

“มองว่าหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway Up ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนกลุ่มเล่นและความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ โดย InnovestX มองว่าผลประกอบการมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ความเร็วในการฟื้นตัวอาจชะลอลง เพราะความเสี่ยงจากการเติบโตในระดับต่ำของเศรษฐกิจยังคงอยู่”

 

และหากมองไปถึงไตรมาส 4 ปี 2024 เรามองเป้าหมาย SET Index อยู่ที่ 1,500 จุด โดยในไตรมาส 4 ยังคงมีความเสี่ยงหลักอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

 

  1. ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า
  2. การเลือกตั้งสหรัฐฯ
  3. ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

 

ซึ่ง 3 ความเสี่ยงนี้อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นไทยผันผวนมากขึ้น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ธนาคารกลางต่างๆ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไม่เท่ากันในไตรมาส 4 ซึ่งจะทำให้ค่าเงินผันผวน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมองในแง่ดีเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตในปี 2025

 

“เป้า SET Index ของเราปีนี้มองไว้ที่ 1,500 จุด แนะนำให้นักลงทุนรอซื้อที่ระดับต่ำกว่า 1,300 จุด“ ดังนั้นในการจัดทัพการลงทุน เราโฟกัสที่การฟื้นตัวของผลประกอบการ โดยคุณสมบัติของหุ้นเด่น ได้แก่ มีฐานะการเงินที่ดี ได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรของภาคการผลิตทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ผลประกอบการฟื้นตัวด้วยแรงหนุนจากรายได้และมาร์จิน และสุดท้ายต้องได้ประโยชน์จากสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ซึ่งสามารถคัดออกมาเป็นหุ้นเด่นสำหรับไตรมาส 3 ปี 2024 ได้แก่ ADVANC, KCE, OSP, PTTGC และ TU”

 

 

ภาพ: alexsl / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising