เหตุการณ์เลวร้ายจากภัยธรรมชาติเกิดขึ้นมากมายในปี 2024 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ กระทบต่อชีวิตผู้คนทั่วโลก ภัยธรรมชาติเหล่านี้มีทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ในด้านภัยที่ไม่เกี่ยวกับโลกร้อนอย่างเช่นการปะทุของภูเขาไฟ ไปจนถึงแผ่นดินไหว อาจเป็นเรื่องที่เราเข้าไปลดทอนให้บางเบาไม่ได้ แต่ภัยธรรมชาติด้านลมฟ้าอากาศ ซึ่งเกี่ยวกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกนั้น เราควรใส่ใจในการศึกษาและให้ความร่วมมือในการลดทอนการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้มากที่สุด
ซึ่งในปีนี้เกิดปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติจากสภาพอากาศแบบสุดขั้วขึ้นมากมาย ยกตัวอย่างเช่นปริมาณของน้ำฝนที่ตกมากมายผิดปกติและผิดที่ผิดเวลาทั้งในอเมริกาใต้ ยุโรป ตะวันออกกลาง และจีน ตลอดไปจนถึงการเกิดไต้ฝุ่น ไซโคลน เฮอริเคนที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาก โดยมีลำดับการเกิดของภัยตามเดือนดังต่อไปนี้
มกราคม: แผ่นดินไหวใหญ่รับปีใหม่
เปิดต้นปี 1 มกราคม มาด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.6 ในทะเลใกล้ชายฝั่งภูมิภาคโนโตะของญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 ราย สิ่งก่อสร้างเสียหายจำนวนมาก จากนั้นก็ตามมาด้วยเหตุการณ์ด้านลมฟ้าอากาศหลายแห่งทั่วโลก เช่น แม่น้ำคองโกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่เกิดล้นตลิ่งครั้งใหญ่ในรอบ 60 ปี ท่วมบ้านเรือนจนต้องมีการอพยพประชาชนจำนวนหลายแสนราย ฝนที่ตกหนักผิดปกติยังเกิดในทวีปอื่น เช่น อินโดนีเซียในแถบอาเซียน ในซีกโลกใต้ รวมทั้งโลกยังมีสภาวะเอลนีโญ จึงเกิดภัยธรรมชาติแตกต่างกันหลากหลายชนิดในเดือนเดียวกัน เช่น คลื่นความหนาวอุณหภูมิลดต่ำใกล้ -50 องศาเซลเซียส เข้าปกคลุมรัฐแอลเบอร์ตา และเพราะเดือนมกราคมเป็นเดือนที่อยู่ในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือซึ่งตรงกับฤดูร้อนของประเทศแคนาดา จนแม่น้ำ ทะเลสาบ กลายเป็นน้ำแข็ง หิมะตกหนักในยุโรปและรัสเซีย สหรัฐฯ ไปจนถึงเม็กซิโก ขณะที่เกิดไฟป่าในชิลี และฝนตกหนักจนน้ำท่วมขังมิดหลังคารถในกรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ซ้ำด้วยไซโคลน Belal เข้าถล่มเมืองพอร์ตลูอิส ประเทศมอริเชียส ในทวีปแอฟริกา จนน้ำท่วมมิดหลังคารถ
กุมภาพันธ์: เฮอริเคนรุนแรงสุดในรอบ 30 ปี ถล่มนอร์เวย์
เริ่มเดือนที่ 2 ของปี ก่อนหมดฤดูหนาวด้วยเฮอริเคนอินกุนน์ ความเร็วลมสูงสุด มากกว่า 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) ถือเป็นพายุหมุนรุนแรงที่สุดที่ขึ้นฝั่งประเทศนอร์เวย์ในรอบ 30 ปี ตามมาด้วยไฟป่าในแคว้นบัลปาราอีโซและตัลกา ประเทศชิลี พายุหิมะในรัฐโนวาสโกเชียของแคนาดาและในประเทศจีน โดยเฉพาะการเกิดภาวะอุณหภูมิลดต่ำฉับพลัน -52 องศาเซลเซียส ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ จนห่านป่าตายเป็นจำนวนมาก เกิดน้ำท่วมจากฝนหนักในกรุงการาจี ประเทศปากีสถาน หลายพื้นที่ในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงหลายแคว้นในบราซิล และที่ไม่พบบ่อยคือฝนหนักน้ำท่วมในกรุงมัสกัตของโอมาน และเมืองอัล บาฮา ของซาอุดีอาระเบีย ไปจนถึงบางเมืองในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย
มีนาคม: ฝนเยือกแข็งในจีน
เดือนแรกของฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือเกิดฝนเยือกแข็งในมณฑลซานซี ไฟป่าในมณฑลเสฉวนของจีนและในเม็กซิโก พายุทรายในโมร็อกโกและมองโกเลีย ฝนหนักน้ำท่วมมิดหลังคารถในอุรุกวัย บราซิล และอาร์เจนตินา กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางก็ยังคงมีฝนหนักต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว
เมษายน: น้ำท่วมตะวันออกกลาง
ฝนยังคงตกในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น โอมาน ซาอุดีอาระเบีย ดูไบ และบาห์เรน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวันที่ 14-17 เมษายน ฝนตกหนักกว่า 259 มิลลิเมตร ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นปริมาณที่มากที่สุดในรอบ 75 ปี ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันครั้งใหญ่ ฝนหนักยังไปตกในแคว้นโอบลาสต์ของรัสเซีย จนเขื่อนในเมืองออร์สก์รับน้ำไม่ไหวเกิดวิบัติ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ใกล้เคียงเช่นเมืองโอเรนบูร์กและอื่นๆ นอกจากนี้พื้นที่อื่นก็พบฝนมากมายไม่แพ้กัน เช่น เมืองกาซีอันเตปของตุรกี, เมืองลิมเปียของปารากวัย, จังหวัดควาซูลู-นาทาลของแอฟริกาใต้, มณฑลกวางตุ้งของจีน จนมีน้ำหลากท่วมฉับพลัน ฝนที่ตกหนักในเขตฮัดราเมาต์ของเยเมน ส่งผลให้มีน้ำท่วมสูงถึงหลังคารถ
พฤษภาคม: ฝนถล่มทั่วโลก
ใกล้สิ้นสุดฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ ยังคงเกิดฝนหนักน้ำท่วมสูงในหลายทวีป เช่น ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศโอมานและอิหร่าน ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่เดือนที่แล้ว ฝนหนักยังก่อให้เกิดน้ำท่วมสูงในจังหวัดชึร์นัก ประเทศตุรกี, มณฑลกวางตุ้งและกว่างซีของจีน, รัฐมณีปุระ ประเทศอินเดีย, เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี, จังหวัดมอแซล แคว้นกร็องแต็สต์ ประเทศฝรั่งเศส, เขตซาร์เวลลิงเก และรัฐไรน์ลันด์-พฟัลซ์ ประเทศเยอรมนี, จังหวัดบาลือเกซีร์ ประเทศตุรกี, เขตดิมิทรอฟสกี กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย, เมืองซันติอาโก เดอคาลี ประเทศโคลอมเบีย มีเหตุการณ์น้ำท่วมท่าอากาศยานนานาชาติซัลกาโด ฟินโย เมืองปอร์ตูอาเลเกร รัฐริโอกรันเดโดซูล ประเทศบราซิล นอกจากฝนหนัก ภัยอื่นก็ไม่น้อยหน้า นั่นคือวาตภัย ด้วยการเกิดพายุทรายถล่มเมืองญีซาน ซาอุดีอาระเบีย และรัฐมหาราษฏระของอินเดีย และด้วยการที่เดือนนี้เป็นเดือนแรกของฤดูพายุหมุนเขตร้อนประจำปี ซึ่งก็ได้เริ่มจากการเกิดทอร์นาโดเข้าถล่มรัฐเทนเนสซีของสหรัฐฯ และเกิดการก่อตัวของไซโคลนริมาลในมหาสมุทรอินเดีย เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบังกลาเทศ
มิถุนายน: สิ้นสุดฤดูใบไม้ผลิ ฝนลานีญาถล่มจีน
ฝนในตะวันออกกลางเริ่มจางหายไป แต่กลับมาตกหนักจนมีน้ำท่วมฉับพลันตามมาในทวีปอื่น เช่น เมืองฮีลสโค-เบียวา ทางตอนใต้ของประเทศโปแลนด์, รัฐชไตเออร์มาร์ค ประเทศออสเตรีย, กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย, เมืองคูรานิลาฮู ประเทศชิลี, รัฐฟลอริดาและไอโอวา สหรัฐอเมริกา, จังหวัดโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น, เขตแอตเลติโกของโคลอมเบีย, เมืองแซร์มัท รัฐวาเลของสวิตเซอร์แลนด์, เมืองฟาลปาไรโซ ประเทศชิลี เดือนนี้ลมมรสุมเริ่มพัดเข้าสู่แหลมมลายูจนเกิดฝนหนักน้ำท่วมในภาคใต้ของไทย เช่น จังหวัดภูเก็ต ไปจนถึงรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย, จังหวัดสุมาตราตะวันตก และกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซียก็ไม่เว้น ฝนจากปรากฏการณ์ลานีญายังตกหนักในหลายมณฑลของจีน จนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน บางแห่งน้ำท่วมค่อนข้างรุนแรง เช่น เมืองกุ้ยหลิน เขตปกครองตนเองกว่างซี ตลอดจนมณฑลอานฮุย มณฑลหูหนาน โดยเฉพาะมณฑลเฮยหลงเจียง ที่ฝนตกน้ำท่วมข้ามไปถึงเดือนกรกฎาคม
กรกฎาคม: จีนพบฝนระดับทำลายสถิติ
เริ่มต้นเดือนด้วยซูเปอร์เฮอริเคน ‘เบริล’ ที่ก่อตัวขึ้นในทะเลแคริบเบียนแล้วเคลื่อนตัวเข้าถล่มจาเมกาจนมีผู้เสียชีวิต 73 ราย จากนั้นก็เคลื่อนตัวไปก่อฝนหนักน้ำท่วมในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ ส่วนฝนจากมรสุมก็รุนแรงต่อเนื่องจนเกิดน้ำท่วม เช่นเหตุการณ์ที่เกิดในนครชัยปุระ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย หลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยก็มีน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากจากฝนหนัก เช่น จังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น ไปจนถึงภาคตะวันออกคือจังหวัดจันทบุรี ตราด ฝนจากลานีญาก็ส่งผลให้เกิดฝนหนักน้ำท่วมในตุรกี แคนาดา และคีร์กีซสถาน ตลอดจนประเทศจีนก็ยังคงมีฝนหนักผิดปกติ เช่น ฝนที่ตกหนักถึง 300 มิลลิเมตร ใน 6 ชั่วโมง ถือเป็นการทำลายสถิติฝนหนักในเขตหลินอี เมืองจี่หนิง มณฑลซานตง ตามมาด้วยฝนปริมาณมากถึง 320 มิลลิเมตร ใน 24 ชั่วโมง ถล่มเทศมณฑลหยุนหยางในนครฉงชิ่งจนแม่น้ำแยงซีเกียงช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองเกิดล้นตลิ่งในระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีบันทึกมา นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมฉับพลันในเมืองถังเซีย ตงกวน รวมทั้งเขตหลงหัว นครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ไปจนถึงเมืองอู่ชาง มณฑลเฮยหลงเจียงของจีน ในเดือนนี้พายุหมุนเขตร้อนต่างๆ เริ่มเกิดถี่ขึ้น และส่วนใหญ่มีพลังค่อนข้างรุนแรง เช่น ไต้ฝุ่นแคมีที่ถล่มเกาสงของไต้หวันด้วยปริมาณฝนมหาศาลถึง 1,412.5 มิลลิเมตร จนเกิดน้ำท่วมสูงในหลายพื้นที่
สิงหาคม: สารพัดภัยพิบัติเกิดทั่วโลก
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือของไทย ฝนตกหนักตั้งแต่ต้นเดือน เอเชียใต้ก็โดนมรสุมอย่างหนัก เช่น ฝนหนักจนเกิดน้ำท่วมขังบริเวณสนามบินนานาชาติชัยปุระ รัฐราชสถาน ไปจนถึงรัฐหิมาจัลประเทศ ประเทศอินเดีย มีผู้เสียชีวิตตามรัฐต่างๆ หลายราย
เฮอริเคน Debby เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ด้วยความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุ 128 กม./ชม. ก่อให้เกิดฝนตกหนัก ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 ราย จากนั้นพายุได้เคลื่อนสู่หลายรัฐ เกิดฝนหนักน้ำท่วมต่อเนื่อง เช่นรัฐแมริแลนด์ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 ลึก 30 กิโลเมตร พิกัด 31.8N131.7E ทะเลฮิวงะทางทิศตะวันออกของเกาะคิวชู ความรุนแรงระดับ 6- ตามมาตราชินโดะ มีฝนหนักน้ำท่วมในนครถังชาน มณฑลเหอเป่ยของจีน จีนปล่อยน้ำลงแม่น้ำโขงท่วมฝั่งนครพนม ส่งผลให้แม่น้ำหลายสายเพิ่มระดับจนถึงระดับสีแดง ล้นทะลักเข้าท่วมย่านการค้าสายลมจอย และชุมชนเกาะทรายที่อยู่ริมแม่น้ำสายบางส่วน เกิดฝนถล่มกรุงโตเกียว น้ำที่ท่วมขังไหลลงรถไฟใต้ดินโทเอสายโอเอโดะ เกิดน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน และสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีความผิดเพี้ยนของสภาพอากาศโลกปรากฏให้เห็น นั่นคือเกิดคลื่นความร้อนกลางฤดูหนาวในออสเตรเลีย บางบริเวณร้อนจนทำลายสถิติ นั่นคือ 41.6 องศาเซลเซียส
กันยายน: ซูเปอร์ไต้ฝุ่น ‘ยางิ’ ผลิตผลจากโลกร้อน
อุณหภูมิในเขตซานเสียใกล้กรุงไทเปสูงแตะ 40.6 องศาเซลเซียส ทำสถิติใหม่ของเดือนกันยายนที่ร้อนสุดเมื่อเทียบกับทุกปีที่มีบันทึกมา และพายุหมุนเขตร้อนลูกสำคัญสัญลักษณ์ของปัญหาโลกร้อนปีนี้นั่นคือ ‘ยางิ’ ก็ได้ก่อตัวขึ้นจากผิวน้ำทะเลที่อุ่นผิดปกติ เริ่มจาก 1 กันยายน หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง 92W ปรากฏในทะเลฟิลิปปินส์ ทวีกำลังขึ้นเป็นดีเปรสชัน 12W ทวีกำลังต่อเนื่องเป็นพายุโซนร้อน จนในวันที่ 5 กันยายน พายุลูกนี้กลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ควรมีไต้ฝุ่นระดับซูเปอร์เกิดขึ้น พายุลูกนี้ขึ้นฝั่งถล่มกวางตุ้งและเวียดนาม จากนั้นอ่อนกำลังลง แต่น้ำฝนปริมาณมหาศาลที่มากับพายุได้ก่อปัญหาตามมา นั่นคือช่วงวันที่ 10 กันยายน หย่อมความกดอากาศต่ำหลังการสลายตัวของพายุยังส่งผลให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องใน สปป.ลาว จนเขื่อนน้ำทามีน้ำล้น ต้องหยุดผลิตไฟฟ้า ฝนหนักเริ่มเข้าสู่เขตเมียนมา ตกสะสมจนแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง จากปริมาณน้ำที่สูงอยู่แล้วเนื่องจากจีนระบายน้ำลงมา ส่งผลให้น้ำและดินโคลนไหลบ่าลงตามลำน้ำกก ท่วมมิดหลังคาบ้านในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ความร้อนของสภาพอากาศในเดือนสุดท้ายของฤดูร้อนในซีกโลกเหนือยังส่งผลให้เกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ของทวีปอเมริกาเหนือและใต้ เช่นการเกิดไฟป่าที่ลุกลามเผาผลาญพื้นที่ติดกับเมืองลา คาเลรา รัฐกอร์โดบา ประเทศอาร์เจนตินา รวมทั้งไฟป่าขนาดใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ที่ไหม้เนื้อที่ราว 17,000 เอเคอร์ มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบและเสียหาย 1,267 หลังคาเรือน จนทางการต้องอพยพผู้คนจำนวนมาก ฝนตกน้ำท่วมจากสภาพลานีญายังคงส่งผลไปถึงยุโรปและอเมริกาใต้ เกิดฝนหนักถล่มโคอาคัลโก เด แบร์ริโอซาบัล ทางเหนือของเม็กซิโกซิตี้ จนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากจากฝนที่ตกหนักในจังหวัดอัลเบอเซตี ประเทศสเปน ไม่นับวาตภัยจากพายุหมุนเขตร้อนที่เป็นแม้เป็นเรื่องปกติของเดือนนี้ แต่ความรุนแรงกลับไม่ธรรมดา นั่นคือ ไต้ฝุ่น Bebinca ที่ถือเป็นไต้ฝุ่นที่มีพลังลมสูงสุดในรอบ 75 ปี ที่ขึ้นฝั่งนครเซี่ยงไฮ้ช่วงกลางเดือน
ตุลาคม: ฝนหนักสุดในรอบ 37 ปี ถล่มสเปน
ทั่วโลกมีฝนน้อยลง แต่ยังคงมีความผิดปกติทั้งเวลาและพื้นที่ ฝนจากมรสุมที่ช้ากว่าปกติในภาคเหนือยังคงตกหนักจนแม่น้ำปิงล้นตลิ่งท่วมเชียงใหม่ ทำเอาคนกรุงเทพฯหายใจไม่ทั่วท้องกลัวน้ำเหนือลงมาถึง โชคดีที่เขื่อนภูมิพลมีระดับน้ำต่ำหลังระบายน้ำทิ้งครั้งใหญ่เมื่อปี 2555 รองรับเอาไว้ ทางด้านยุโรปก็ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมจากฝนหนักเช่นเดียวกัน เช่น น้ำที่ท่วมอย่างฉับพลันในเมืองบูดริโอ แคว้นเอมิเลีย-โรมานยาของอิตาลี และฝนที่ตกหนักถึง 771 มิลลิเมตร ถล่มแคว้นบาเลนเซียของสเปนจนมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยราย น้ำที่หลากท่วมยังพัดเอารถยนต์มากองสุมกันเป็นจำนวนมาก วาตภัยในเดือนนี้ก็ยังคงมีต่อเนื่อง เช่น ไต้ฝุ่น ‘กระท้อน’ ที่ขึ้นฝั่งไต้หวัน จนต้องยกเลิกเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยว ไปจนถึงพายุโซนร้อน ‘จ่ามี’ ถล่มบาตังกัสซิตี้ของฟิลิปปินส์
พฤศจิกายน: หิมะตกในทะเลทราย
โลกยังผิดเพี้ยนไม่หยุด สัปดาห์แรกของเดือนเกิดหิมะตกในทะเลทรายซาอุดีอาระเบีย จากนั้นก็ปรากฏไต้ฝุ่น 4 ลูกเรียงกันในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดในเดือนนี้และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกย้อนหลังไป 73 ปี ส่วนฝนหนักในยุโรปยังปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะประเทศสเปนที่ยังโดนฝนหนักถล่มจังหวัดมาลากา รวมไปถึงภูมิภาคคาตาโลเนียช่วงกลางเดือนจนเกิดน้ำหลากท่วมอาคาร ถนน และระบบรางใต้ดินหลายแห่ง จากนั้นก็เกิดปรากฏการณ์ DANA* ก่อให้เกิดฝนปริมาณมากในช่วงเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงตกลงสู่พื้นที่อัลการ์วึ ทางใต้สุดของประเทศโปรตุเกส ก่อให้เกิดน้ำหลากท่วมถนนและอาคารบ้านเรือนอย่างรวดเร็ว ทางด้านซาอุดีอาระเบียหลังโดนหิมะในช่วงต้นเดือน เมื่อถึงปลายเดือนก็ต้องพบฝนหนักน้ำท่วมในเมืองญิดดะฮ์ เมืองท่าในแคว้นมักกะฮ์ ทางแหลมมลายูคือมาเลเซียและ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยก็พบฝนหนักต่อเนื่องนานนับสัปดาห์จนเกิดน้ำท่วมสูงในหลายอำเภอ วาตภัยยังคงมีต่อเนื่อง พายุโซนร้อน ‘ซาร่า’ ในทะเลแคริบเบียน ขึ้นฝั่งประเทศฮอนดูรัส ก่อให้เกิดฝนหนักน้ำหลากท่วม และซูเปอร์ไต้ฝุ่น ‘หม่านหยี่’ เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งถล่มจังหวัดคาตันดัวเนสของฟิลิปปินส์
ธันวาคม: เข้าสู่ฤดูหนาว เกิดพายุหมุนนอกเขตร้อนถล่มยุโรป
ซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว เกิดการก่อตัวของพายุหมุนนอกเขตร้อน ‘ดาร์ราห์’ (Darragh) ความเร็วลมกระโชกเกือบ 150 กม./ชม. เข้าปกคลุม ส่งอิทธิพลให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของยุโรปโดยเฉพาะพื้นที่สหราชอาณาจักร ฝนยังคงตกหนักในภาคใต้ของไทยและแหลมมลายูจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี หลายจังหวัดของประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะบนเกาะชวาของอินโดนีเซียนั้นเกิดน้ำป่าไหลหลากค่อนข้างรุนแรง ฝนจากมรสุมยังคงถล่มรัฐทมิฬนาฑู แต่ในเวลาใกล้กันกลับเกิดหิมะถล่มในรัฐหิมาจัลประเทศในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังเกิดพายุลูกเห็บตกในโครเอเชียและอาร์เจนตินา เกิดไฟป่าในแคลิฟอร์เนีย ส่วนวาตภัย ซึ่งในเดือนนี้พายุหมุนเขตร้อนจะย้ายไปเกิดในซีกโลกใต้ นั่นคือการก่อตัวของไซโคลนชิโดที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 94 รายจากการขึ้นฝั่งประเทศโมซัมบิก และความผิดเพี้ยนของสภาพอากาศโลกก็ยังส่งผลให้เกิดหิมะตกหนักในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ซึ่งคือประเทศในเขตทะเลทรายของตะวันออกกลาง
นี่คือสิ่งที่เกิดในปี 2024 โดยในปีหน้าหรือ 2025 โลกจะเปลี่ยนจากสภาพอากาศแบบลานีญา เข้าสู่สภาพอากาศเป็นกลางหรือนิวทรัล ซึ่งโดยปกติฝนที่ตกทั่วไปจะลดความรุนแรงลง แต่การที่ปีนี้เป็นปีที่อุณหภูมิโลกแตะจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่อาจส่งผลให้การเกิดภัยธรรมชาติในปีหน้ายังคงมีความรุนแรง ซึ่งเราควรเตรียมพร้อมในการรับมือมากกว่าที่เป็นไปในปีที่ผ่านๆ มา
ภาพ: Gallo Images / Orbital Horizon / Copernicus Sentinel Data 2024
- DANA (Depresión Aislada en Niveles Altos) คือสภาพอากาศแปรปรวนที่ความกดอากาศสูงผลักกลุ่มฝนระหว่างกลางพุ่งไปหาความกดอากาศต่ำอย่างรวดเร็ว