×

ไทยติดอันดับ 2 ฟื้นตัวจากโควิด-19 ดีที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของดัชนี GCI

13.06.2020
  • LOADING...

ไทยติดอันดับ 2 ของโลกในด้านการฟื้นตัวจากโควิด-19 จากการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ซึ่งพัฒนาโดย PEMANDU Associates บริษัทที่ปรึกษาเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้วยความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเลเซีย

 

GCI ใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าในการคำนวณคะแนน และจัดอันดับความสามารถของ 184 ประเทศและดินแดน ในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยนำตัวชี้วัดหลายด้านมาประกอบการคิดคะแนน แบ่งเป็นดัชนี Severity Index (ดัชนีความรุนแรงของโรคระบาด) และ Recovery Index (ดัชนีการฟื้นตัวจากโรคระบาด) 

 

สำหรับ Severity Index นั้น ดูจากจำนวนเคสผู้ติดเชื้อยืนยันต่อจำนวนประชากร ซึ่งวัดตามขนาดประชากรที่ไม่เท่ากันของแต่ละประเทศ และเทียบสัดส่วนอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ซึ่ง 2 ตัวชี้วัดนี้คิดเป็นคะแนน 70% ของคะแนนรวมใน Severity Index และเป็นข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงได้แบบวันต่อวันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโรคระบาด

 

ส่วนอีก 30% มาจากคะแนนคงที่ที่มาจากดัชนี Global Health Security (GHS) (ความปลอดภัยทางสุขภาพทั่วโลก) ซึ่งคิดค้นขึ้นโดยมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ เพื่อวัดความพร้อมของแต่ละประเทศในการจัดการหรือรับมือกับโรคระบาด โดยแบ่งเป็น 2 หมวดหมู่ ประกอบด้วย 1. ความสามารถในการป้องกันโรคระบาด และ 2. ความเสี่ยงด้านสาธารณสุข

 

อีกดัชนีที่ GCI ใช้วัดประเทศต่างๆ ที่เผชิญกับโรคระบาดก็คือดัชนีการฟื้นตัว (Recovery Index) ซึ่งคะแนน 70% มาจากตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ 1. จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาอยู่ต่อจำนวนประชากร (ไม่นับผู้ที่รักษาหายหรือเสียชีวิตจากโควิด-19) 2. สัดส่วนผู้ที่หายดีจากโควิด-19 ต่อจำนวนเคสผู้ติดเชื้อยืนยัน 3. การตรวจเชื้อกลุ่มตัวอย่างต่อจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยัน และ 4. การตรวจหาเชื้อต่อจำนวนประชากร โดย 2 หมวดหลังนี้จะดูว่าแต่ละประเทศลงทุน และมีความพร้อมในด้านการตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึงเพียงใด

 

ส่วนอีก 30% ที่นำมารวมเป็นคะแนน Recovery Index มาจากดัชนี Global Health Security (GHS) ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์เช่นกัน ซึ่งตัวชี้วัดที่นำมาประกอบ แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ 1. การวัดความสามารถของประเทศต่างๆ ในการตรวจหาและรายงานผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 2. ความรวดเร็วในการตอบสนองต่อสถานการณ์เพื่อบรรเทาการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งรวมถึงความสามารถในการสื่อสารและเผยแพร่ข่าวสารแก่ประชาชน และ 3. โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณสุขเพื่อรักษาผู้ป่วยและปกป้องบุคลากรแพทย์จากโรคระบาด ซึ่งหมวดสุดท้ายนี้จะรวบรวมข้อมูลด้านสาธารณสุขที่สำคัญ เช่น สัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากร​ จำนวนแพทย์ต่อประชากร และความยากง่ายในการเข้าถึงระบบเฮลธ์แคร์ขั้นพื้นฐาน

 

โดยการจัดอันดับภาพรวมดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด-19 (Recovery Index) ไทยติดอันดับ 2 ของโลก ด้วยคะแนนดัชนี 83.32 และจัดอยู่ในกลุ่มเรตติ้ง 5 คือประเทศที่บรรเทาการระบาดของไวรัสได้ก้าวหน้าที่สุดในโลก โดยอันดับ 1 คือออสเตรเลีย 86.34 คะแนน

 

ส่วนในด้านความรุนแรงของโรคระบาด (Severity Index) นั้น ไทยมี 10.98 คะแนน อยู่ในกลุ่มเรตติ้ง 1 ซึ่งหมายถึงประเทศที่รับมือกับวิกฤตได้ดีโดยมีเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อต่ำ และมีผู้เสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร

 

คะแนน-อันดับประเทศและดินแดนที่มีค่าดัชนี Recovery Index สูงสุด (10 อันดับแรก) ข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2563

 

  1. ออสเตรเลีย 86.34
  2. ไทย 83.32
  3. เดนมาร์ก 81.56
  4. ฮ่องกง 81.29
  5. ไต้หวัน 79.55
  6. นิวซีแลนด์ 79.06
  7. เกาหลีใต้ 78.68
  8. ลิทัวเนีย 76.40
  9. ไอซ์แลนด์ 75.81
  10. สโลวีเนีย 75.77 

 

สามารถดูตารางการจัดอันดับฉบับเต็มได้ที่ https://covid19.pemandu.org/#main

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • Global Covid-19 Index (GCI)

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising