×

ภาคพลังงานไทยประกาศจุดยืน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน แก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกอย่างยั่งยืน

11.10.2021
  • LOADING...
ปัญหาสภาพภูมิอากาศ

ผู้บริหารองค์กรและบริษัทด้านพลังงานของไทยร่วมประกาศจุดยืน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในงาน Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2021 

 

โดยในวงเสวนาหัวข้อ ‘Solutions to Address Climate Change by Relevant Business Sectors’ บัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท BCPG กล่าวว่า BCPG มีเป้าหมายจะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเชื่อว่าภายในไม่เกิน 10 ปี จะมีการปล่อยคาร์บอนที่เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ได้ เนื่องจากบริษัทมุ่งเน้นทำธุรกิจพลังงานสะอาดอย่างเดียว โรงไฟฟ้าทุกโรงของ BCPG จะเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว ขณะเดียวกันการพัฒนาโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งของบริษัทจะต้องยึดโยงกับการพัฒนาชุมชนโดยรอบไปด้วย เช่น เปิดให้เกษตรกรเข้ามาปลูกพืชใต้แผงโซลาร์เซลล์ได้ 

 

บัณฑิตกล่าวว่า ในปีนี้ BCPG ได้ร่วมกับพันธมิตร 11 องค์กรชั้นนำ ก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดิจิทัล เพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

 

“ผมเชื่อว่านวัตกรรมด้านพลังงานที่พัฒนาขึ้นในโลกจะทำให้ต้นทุนของการติดตั้งพลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ต่ำลงเรื่อยๆ จนในที่สุดคนจะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ในบ้าน การติดตั้งโซลาร์เซลล์จะเหมือนเราซื้อตู้เย็น ทีวี โดยคนในอนาคตจะเป็นทั้ง Producer และ Consumer หรือที่เรียกว่า Prosumer พลังงาน สิ่งที่ไทยอาจต้องเร่งพัฒนามากขึ้นในเวลานี้คือ Energy Storage” บัณฑิตกล่าว 

 

วรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. กล่าวว่า ปตท. ตระหนักถึงความเร่งด่วนของปัญหาเรื่องภูมิอากาศของโลก ทำให้มีการจัดทำวิสัยทัศน์ชื่อ ‘Powering Life with Future Energy and Beyond’ เพื่อให้ความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจไปพร้อมๆ กับสังคม ผู้คน และสิ่งแวดล้อม 

 

วรพงษ์กล่าวว่า ปตท. ได้กำหนดแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 

 

  1. In Process คือการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในธุรกิจของตัวเอง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การนำก๊าซที่เผาทิ้งกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงลดการรั่วไหลของก๊าซมีเทนและการนำกลไกราคาคาร์บอนมาประกอบการตัดสินใจลงทุน 

 

  1. After Process ได้แก่ การปลูกป่า 1 ล้านไร่ การช่วยชุมชนต่างๆ ติดแผงโซลาร์เซลล์ ติดตั้งระบบ Biogas ในฟาร์มปศุสัตว์

 

  1. Decarbonization คือการนำเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนำไปใช้ประโยชน์ หรือ CCS และ CCU มาใช้

 

“เราได้กำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่า จะมีรายได้จากธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วน 30% ภายในปี 2030 ซึ่งรวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 12 กิกะวัตต์ต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 15% จากปัจจุบัน ขณะเดียวกันจะลดการนำเข้าพลังงานฟอสซิลและเร่งพัฒนา Energy Storage และแบตเตอรี่ เพื่อให้ครัวเรือนไทยสามารถผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืนและครบวงจรได้มากขึ้น พร้อมๆ กับพัฒนา EV Value Chain

 

พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับภาครัฐคือ จะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2065 

 

ทั้งนี้ กฟผ. ได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศภายใต้ชื่อว่า EGAT Air ‘TIME’ โดยตัว T ย่อมาจาก Tree หมายถึงการปลูกป่า ตัว I ย่อมาจาก Innovation หมายถึงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ตัว M ย่อมาจาก Monitoring คือการติดตามและผลของมาตรการต่างๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และตัว E ย่อมาจาก Education and Engagement คือการส่งต่อความรู้

 

พิสุทธิ์กล่าวอีกว่า หัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของ กฟผ. คือการเชื่อมโยงข้อมูลและบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ควบคู่กับการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกใน 4 ด้าน คือ 

 

  1. การพัฒนาคน: ต้องสร้างพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Pro-Environmental Behavior: PEBS) และส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดความตระหนักและการกระทำเพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

 

  1. เครื่องมือ: การจัดทำแผนที่ความเสี่ยง (Risk Map) ในการกำหนดพื้นที่เสี่ยงด้านคุณภาพอากาศ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำลังดำเนินการ หรือการนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน เข้ามาใช้ในกระบวนต่างๆ

 

  1. โครงสร้าง: ต้องพัฒนาแพลตฟอร์มในการจัดเก็บข้อมูลจากเซนเซอร์อย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลด้านคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมตลาดซื้อขายคาร์บอน (Carbon Market) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

  1. โครงการ: สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการต่างๆ กิจกรรม CSR ที่มุ่งเน้นในการสร้างพื้นที่สีเขียว รวมถึงการพัฒนาเกษตรตามแนวคิดโคก หนอง นา โมเดล   

 

ด้าน ภราไดย สืบมา กรรมการบริหาร บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม ระบุว่า บริษัทถือเป็นผู้บุกเบิกด้านพลังงานหมุนเวียนของไทย โดยเริ่มทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังผลิต 84 เมกะวัตต์ตั้งแต่ในปี 2011 นอกจากนี้ยังไปลงทุนทำโรงไฟฟ้าพลังงานลมกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ในญี่ปุ่น และล่าสุดได้ไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 600 เมกกะวัตต์ที่ สปป.ลาว เพื่อส่งไฟฟ้าไปเวียดนาม

 

“โครงการต่างๆ ของบริษัท สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศไทยไปได้มากกว่า 40 ล้านตันแล้ว และเราจะเดินหน้าพัฒนาพลังงานสะอาดต่อไป”  ภราไดยกล่าว 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X