×

รายงาน UN คาด โลกร้อนอาจทำให้ธารน้ำแข็งบนยอดเขาคิลิมันจาโรในทวีปแอฟริกาละลายหายไปภายในปี 2050

04.11.2022
  • LOADING...

วานนี้ (3 พฤศจิกายน) รายงานล่าสุดของสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ธารน้ำแข็งหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงหนึ่งในธารน้ำแข็งขนาดใหญ่แผ่นสุดท้ายในทวีปแอฟริกาบนยอดเขาคิลิมันจาโร ประเทศแทนซาเนีย อาจละลายหายไปภายในปี 2050 จากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

รายงานดังกล่าวระบุว่า ธารน้ำแข็งราว 1 ใน 3 ส่วนของพื้นที่มรดกโลกทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งสำคัญจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจละลายหายไปภายใน 30 ปีข้างหน้านี้ โดยหนทางเดียวที่จะรักษาธารน้ำแข็งที่เหลืออีกราว 2 ใน 3 ของพื้นที่มรดกโลกเอาไว้ได้นั้นคือ ประชาคมโลกจะต้องบรรลุเป้าหมายจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม ตามที่ได้เห็นพ้องต้องกันในความตกลงปารีส เมื่อปี 2015


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


พื้นที่มรดกโลกที่ธารน้ำแข็งอาจจะละลายหายไปภายในปี 2050 นอกเหนือไปจากธารน้ำแข็งบนยอดเขาคิลิมันจาโร ตัวอย่างเช่น อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (สหรัฐอเมริกา), อุทยานแห่งชาติโยเซมิตี (สหรัฐอเมริกา), อุทยานแห่งชาติลอเรนทซ์ (อินโดนีเซีย), อุทยานแห่งชาติเมาท์เคนยา (เคนยา) และพื้นที่ที่มีคุณค่าทางทัศนียภาพและประวัติศาสตร์หวงหลง (จีน) เป็นต้น

 

นอกจากนี้รายงานยังชี้อีกว่า การละลายของธารน้ำแข็งในพื้นที่มรดกโลกอาจทำให้ระดับน้ำทะลเพิ่มสูงขึ้นราว 4.5% ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (2000-2020) โดยในแต่ละปีธารน้ำแข็งเหล่านี้สูญเสียปริมาณน้ำแข็งไปมากถึง 5.8 หมื่นล้านตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณของน้ำที่สเปนและฝรั่งเศสใช้ในแต่ละปีรวมกัน

 

อีกทั้งยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่พึ่งพาธารน้ำแข็งเหล่านี้ในภาคครัวเรือนและภาคการเกษตร ดังนั้นการหายไปของธารน้ำแข็งอาจนำไปสู่การขาดแคลนน้ำจืดในช่วงฤดูแล้ง กระทบกับการทำชลประทาน ตลอดจนกระทบกับพืชผลทางการเกษตร กลายเป็นวิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร

 

รายงานฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่ก่อนที่บรรดาผู้นำโลก ผู้แทนระดับสูง และตัวแทนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศต่างๆ จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมโลกร้อน หรือ COP27 ที่จะจัดขึ้นที่เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายนนี้ เพื่อหารือถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงแนวทางสนับสนุนเงินทุนให้แก่บรรดาประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

แฟ้มภาพ: AndreyFilippov.com / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X