กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูมรสุมของปี 2568 โดยได้สั่งการให้ทีมปฏิบัติการเร่งประเมินสถานการณ์ วางแผน และบันทึกภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ขณะนี้เป็นต้นไป พร้อมจัดทำชุดข้อมูลแสดงสถานการณ์น้ำท่วม ส่งต่อให้กับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการดำเนินงานต่อเนื่อง
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยว่า องค์กรจะนำภาพถ่ายจากดาวเทียมร่วมกับข้อมูลจากเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำมาใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยชุดข้อมูลจะถูกจัดส่งให้กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมชลประทาน, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) รวมถึงคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า
ในปีนี้ GISTDA ได้ยกระดับการปฏิบัติการด้วยข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ผนวกกับดาวเทียมที่มีอยู่เดิม เช่น ไทยโชต (THEOS-1), Sentinel-1A, Sentinel-1C, Sentinel-2A, Sentinel-2B, Sentinel-2C, Landsat-8, Landsat-9, COSMO-SkyMed และ RADARSAT-2 โดยได้จัดตั้งทีมปฏิบัติการเฉพาะกิจเร่งประเมิน วางแผน และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังได้จัดตั้งทีมสำรวจภาคพื้นดินโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อสนับสนุนการทำงานในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต
จากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 พบว่าขณะนี้มีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตทุ่งรับน้ำรวม 11 ทุ่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.4 ล้านไร่ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน ก่อนจะเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน
ขณะนี้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศผ่านข้อมูลจากดาวเทียมยังคงอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม กระทรวง อว. โดย GISTDA ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้ศูนย์ปฏิบัติการฯ วิเคราะห์สถานการณ์แบบวันต่อวัน เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานต่างๆ และชุมชนให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันท่วงที อันเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง:
- GISTDA