ย้อนกลับไปในปี 2561 วันที่ผู้ชมได้รู้จักกับ ‘แนนโน๊ะ’ ตัวละครหลักจากซีรีส์ เด็กใหม่ (Girl From Nowhere) เป็นครั้งแรก เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้เสียงตอบรับจากผู้ชมในระดับปรากฏการณ์ ด้วยกลวิธีนำเสนอที่โหดสะใจ การแสดงสุดจัดจ้านของ คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล ในบทแนนโน๊ะที่ตราตรึงใจผู้ชม รวมถึงการหยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยมาดัดแปลงใหม่ ก็ยิ่งส่งให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมไปกับซีรีส์ได้เป็นอย่างดี
การสานต่อความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ใน เด็กใหม่ ซีซัน 2 (Girl From Nowhere Season 2) มาพร้อมกับ ‘ความคาดหวังของผู้ชม’ ที่หนักหนาพอสมควร ดังนั้นการพยายามหาเหลี่ยมมุมใหม่ๆ ในการนำเสนอจึงเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญของผู้กำกับและทีมสร้าง ไม่ใช่เพื่อเอาชนะใจผู้ชมเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อเอาชนะ สร้างความแตกต่าง หรืออยู่ในระดับเดียวกับความสำเร็จในซีซันแรกให้ได้อีกด้วย
ในที่สุด เด็กใหม่ ซีซัน 2 ทั้ง 8 ตอนก็ได้ออกฉายสู่สายตาผู้ชมทาง Netflix ในวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการกลับมาที่ ‘สมการรอคอย’ และในขณะเดียวกันก็มี ‘จุดด้อย’ ในบางช่วงให้เราได้กล่าวถึง
หนึ่งในความดีงามของ เด็กใหม่ ซีซัน 2 คือทัพนักแสดงคุณภาพที่ต่างทำหน้าที่ถ่ายทอดบทบาทในตอนของตัวเองได้อย่างถึงแก่น เช่น เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ ผู้รับบทเป็น นะนาย เด็กหนุ่มนักล่าแต้มในตอน Pregnant ที่ถ่ายทอดความเจ็บปวดที่ต้องรับกรรมของตัวเองด้วยการตั้งครรภ์ได้อย่างยอดเยี่ยม
แพทริเซีย กู๊ด ผู้สวมบทเป็น มินนี่ เด็กบ้านรวยที่มีพ่อคอยใช้เงินแก้ปัญหาในตอน Minnie and the Four Bodies ที่ถ่ายทอดความรู้สึกหวาดกลัวที่ต้องเผชิญหน้ากับเหล่าวิญญาณเด็กนักเรียนจนทำให้ผู้ชมขวัญผวาไปพร้อมกัน
และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ ที่เข้ามารับบทเป็น ยูริ ซาตานคนใหม่ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันแนนโน๊ะ ซึ่งนิ้งทำหน้าที่ถ่ายทอดคาแรกเตอร์ของยูริออกมาได้อย่างแตกต่าง มีเสน่ห์ และสำหรับเรา ยิ่งผู้ชมไม่ชอบตัวละครยูริมากเท่าไร นั่นก็จะหมายถึงความสำเร็จที่ควรค่าแก่การปรบมือ ทั้งกับตัวนักแสดง รวมไปถึงทีมเขียนบทที่สร้างตัวละครนี้ขึ้นมา
แต่หากเราจะกล่าวถึงตัวละครที่โดดเด่นที่สุดใน เด็กใหม่ ซีซัน 2 เราคงต้องยกให้กับ เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ ผู้รับบทเป็น เค หัวหน้าพี่ว้ากในตอน SOTUS ที่สามารถทำให้ผู้ชมเกลียดพี่ว้ากคนนี้ได้ถึงขั้วกระดูกดำ ไปพร้อมกับทำให้ผู้ชมรู้สึกสงสารที่ต้องมาเผชิญกับบทลงโทษของแนนโน๊ะและยูริ โดยเฉพาะฉากที่เขาถูกบังคับให้เป็นหมา เรียกได้ว่าฉากโห่ร้องด้วยความเจ็บปวดของเอมจะเป็นหนึ่งในฉากที่ผู้ชมจดจำไปอีกนานอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ เด็กใหม่ ซีซัน 2 ยังเป็นซีรีส์ฝีมือคนไทยที่เรากล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่างานโปรดักชันสามารถเทียบชั้นกับซีรีส์ระดับโลกได้ทีเดียว โดยเฉพาะงาน Art Direction ที่ถูกสร้างสรรค์มาอย่างละเอียดถี่ถ้วน งานเมกอัพเอฟเฟกต์สุดสยองที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเรื่อง รวมถึงการจัดแสงเงาที่เสริมให้ความเหนือจริงของซีรีส์โดดเด่นยิ่งขึ้น
อีกทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้กำกับในแต่ละตอนได้ตีความและนำเสนอเรื่องราวของตัวเอง นับว่าเป็นการดึงเอาจุดเด่นของเรื่องสั้นจบในตอนมาขยายให้มีความน่าสนใจแตกต่างกันไปอีกด้วย เช่น ในตอน Minnie and the Four Bodies ที่ได้ ไพรัช คุ้มวัน จากภาพยนตร์ สยามสแควร์ (2560) มารับหน้าที่กำกับในตอนนี้ นับว่าเป็นตอนที่มีกลิ่นอายของภาพยนตร์ / ซีรีส์สยองขวัญมากที่สุด ทั้งจังหวะจะโคนในการเล่าเรื่อง และการสร้างบรรยากาศที่ชวนให้ผู้ชมขวัญผวา
หรือในตอน Liberation ที่ได้ กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา จากภาพยนตร์ บอดี้..ศพ#19 (2550) และ สุรวุฒิ ตุงคะรักษ์ จากภาพยนตร์ สี่แพร่ง (2551) มารับหน้าที่กำกับ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตอนที่แฟนๆ ต่างยกให้เป็นตอนที่ดีที่สุดของซีซันนี้ (รวมถึงตัวผู้เขียนเช่นกัน) โดยเฉพาะการนำเสนอที่เอนเอียงไปทางภาพยนตร์ทดลอง (Experimental Film) ทั้งการปรับขนาดภาพให้เป็น 4:3 การเกรดสีภาพเป็นขาวดำ และการเลือกใช้ดนตรีออร์เคสตราเป็นดนตรีประกอบ เพื่อสร้างบรรยากาศเสมือนว่าเรากำลังชมภาพยนตร์คลาสสิกสักเรื่องหนึ่ง
และการตัดต่อแบบ Montage (การตัดต่อเหตุการณ์ช่วงหนึ่งที่กระโดดไปมาไม่เชื่อมต่อกัน) ในช่วงกลางตอน ที่ชวนให้เราคิดถึงฉากสังหารหมู่ที่บันไดโอเดสซาในภาพยนตร์สุดคลาสสิกอย่าง Battleship Potemkin (1925) รวมถึงการเกรดสีภาพให้เหลือเพียงสีเดียว ก็ชวนให้เราคิดถึงเด็กสาวที่สวมเสื้อโค้ตสีแดงในภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง Schindler’s List (1993) และการจัดวางองค์ประกอบภาพ (Mise en Scène) ที่แฝงนัยบางอย่างให้ผู้ชมได้ตีความ เรียกได้ว่า Liberation คือตอนที่เปี่ยมล้นไปด้วยศิลปะภาพยนตร์อย่างแท้จริง
Battleship Potemkin (1925)
Schindler’s List (1993)
แต่ในขณะเดียวกัน การเปิดโอกาสให้ผู้กำกับนำเสนอเรื่องราวของตัวเองได้อย่างอิสระก็ส่งผลเสียต่อภาพรวมของซีรีส์อยู่เช่นกัน นั่นคือกราฟความสนุกของซีรีส์ที่ขึ้นๆ ลงๆ แตกต่างกันไป
เช่น ในตอนที่ 2 True Love ที่แม้ว่าจะโดดเด่นด้วยการถ่ายทำแบบ Long Take (การถ่ายทำยาวๆ แบบไม่สั่งคัต) แต่ตัวเทคนิคการถ่ายทำกลับไม่ได้เสริมให้เนื้อเรื่องน่าสนใจหรือสนุกสนานยิ่งขึ้น จึงส่งผลให้เนื้อเรื่องที่เบาบางอยู่แล้วกลับรู้สึกจืดชืดมากกว่าเดิม
ในภาพรวมแล้ว เด็กใหม่ ซีซัน 2 เป็นซีรีส์ไทยคุณภาพ ที่เป็นภาพสะท้อนทางสังคมที่ทั้งเชื่อมโยงกับปัจุบันและผู้คนในหลายๆ ยุคสมัย แต่ที่สำคัญมันเหมาะควรที่ผู้ชมจะเปิดดู อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อความบันเทิง และถ้าจะมากกว่านั้นก็อาจจะหมายรวมไปถึงการเป็นกระจกสะท้อนอะไรก็ตามถึงสิ่งที่ซุกซนอยู่ในตัวเองหรือสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมอยู่รอบตัว
และเมื่อเราติดตามไปถึงตอนสุดท้ายของซีซันอย่าง The Judgement ตอนนี้เราเชื่อว่าใครหลายคนกำลังมองไกลถึงความเป็นไปได้ในซีซันถัดไปแล้วว่า เรื่องราวที่มีจุดเริ่มต้นจากแนนโน๊ะ จะถูกขยายต่อยอดให้ใหญ่และไกลขึ้นได้แค่ไหนในซีซันถัดไป
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: