×

จับตาอนาคตอิตาลีในยุค จอร์เจีย เมโลนี หลังผู้นำหญิงขวาจัดประกาศตัวไม่สนับสนุน LGBTQIA+ ต่อต้านรับผู้ลี้ภัย

25.10.2022
  • LOADING...
Giorgia Meloni

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ชื่อของ จอร์เจีย เมโลนี ได้ถูกจารึกลงหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของอิตาลีอย่างเป็นทางการ ในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง นับตั้งแต่สมัยของผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ เบนิโต มุสโสลินี

 

สิ่งที่น่าจับตาคือ ภายใต้การนำของเมโลนี ทิศทางอนาคตของอิตาลีจะเป็นอย่างไร ในเมื่อผู้นำหญิงที่เด็ดเดี่ยววัย 45 ปีคนนี้ ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า เธอไม่สนับสนุน LGBTQIA+ ต่อต้านการทำแท้งของสตรี และไม่สนับสนุนให้อิตาลีแบกรับผู้อพยพลี้ภัยที่ไหลทะลักเข้าประเทศ

 

อนาคตสิทธิสตรีในยุคผู้นำหญิงคนแรก

 

  • “ดิฉันชื่อจอร์เจีย ดิฉันเป็นผู้หญิง ดิฉันเป็นแม่ ดิฉันเป็นคนอิตาลี ดิฉันเป็นคริสเตียน” นี่คือคำกล่าวของเมโลนีเมื่อครั้งลงหาเสียงเมื่อปี 2019

 

  • จอร์เจีย เซรูเกตตี (Giorgia Serugetti) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาการเมืองแห่ง University of Milano-Bicocca ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านเพศและการเมือง กล่าวว่า คำกล่าวของเมโลนีนั้นไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิสตรี แต่เป็น ‘การประกาศถึงความเป็นปรปักษ์กับศัตรู’ ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ LGBTQIA+ บรรดาเฟมินิสต์ รวมถึงผู้ที่สนับสนุนให้รับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ

 

  • เซรูเกตตีตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่ที่เมโลนีเริ่มเข้าสู่ถนนการเมืองนั้น ก็ไม่ค่อยมีเหตุการณ์ที่เธอออกมาเรียกร้องประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีในอิตาลี อันเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต่อต้านเฟมินิสต์อยู่แล้วด้วย

 

  • และถึงแม้ตอนนี้เธอจะก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง แต่ ฟลามิเนีย ซัคคา (Flaminia Sacca) นักสังคมวิทยาการเมืองจาก Sapienza University ในกรุงโรม กล่าวว่า เมโลนีไม่ใช่สตรีที่เป็นความท้าทายต่อระบบปิตาธิปไตยที่หยั่งรากลึกในอิตาลีแม้แต่น้อย ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอเป็นที่ยอมรับ และไม่ได้ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสังคมนี้

 

  • วาทกรรมของเมโลนีที่เกี่ยวข้องกับสตรีส่วนใหญ่นั้นจะเป็นประเด็นด้านแม่และเด็ก รวมถึงนโยบายที่สนับสนุนให้คนมีลูกมากขึ้น เช่น นโยบายโรงเรียนอนุบาลฟรี สิทธิสำหรับคุณแม่ยังสาวในที่ทำงาน หรือการลดภาษีในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอ่อน เป็นต้น

 

  • ทั้งนี้ นักวิชาการมองว่าการให้ความสำคัญกับบทบาทของการเป็นแม่ของสตรีนั้นเป็นผลมาจากลัทธิฟาสซิสต์ ซึ่งเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่นิยมฝ่ายขวา โดยสำหรับเมโลนี เธอไม่ได้เรียกร้องให้มีการยกระดับสิทธิสตรีในสังคมหรือบทบาทด้านอาชีพการงาน แต่เธอมักจะพูดถึงบทบาทของการเป็นแม่ และสิทธิในการทำงานแม้จะมีบุตรแล้วก็ตาม

 

  • แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลมากที่สุดนั้นคือเรื่องของสิทธิการทำแท้ง หลังจากที่ผู้นำหญิงคนล่าสุดประกาศชัดว่าเธอไม่สนับสนุนการกระทำดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นก็มีการประท้วงกลุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ออกมารวมตัวกันแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับเมโลนีในเรื่องสิทธิเหนือร่างกายของสตรี

 

  • เมโลนีกล่าวว่า เธอไม่ได้มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนกฎหมายการทำแท้งปี 1978 ของอิตาลี แต่เป้าหมายของเธอคือการเสนอทางเลือกอื่นๆ ให้กับผู้หญิงที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางออกอื่นนอกจากการทำแท้ง

 

  • อย่างไรก็ตาม เอ็มมา โบนิโน (Emma Bonino) ผู้นำพรรคมอร์ยุโรป (More Europe) และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิการทำแท้งตั้งแต่ช่วงปี 1970 ได้แสดงความวิตกกังวลว่า เมโลนีจะ ‘ผลักดันให้กฎหมายการทำแท้งถูกละเลย’ แทน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะทำให้ปัญหาการสรรหาสูตินรีแพทย์ที่เต็มใจทำแท้งในอิตาลีนั้นยุ่งเหยิงไปกว่าเดิม

 

  • ยกตัวอย่างสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ในแคว้นมาร์เค (Marche) ซึ่งถูกปกครองโดยพรรคฟราเตลลี ดิตาเลีย (Brothers of Italy) ของเมโลนีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ สิทธิด้านการทำแท้งของสตรีได้ถูกลดทอนลงอย่างมากในระดับท้องถิ่น

 

  • โดยเมืองอัสโคลี (Ascoli) ในแคว้นดังกล่าว เป็นสถานที่เดียวที่ผู้หญิงยังสามารถเดินทางไปทำแท้งได้ เนื่องจากในเมืองอื่นๆ นั้น แพทย์หลายคนได้ปฏิเสธที่จะทำแท้งให้กับสตรี เนื่องจากมีความเชื่อทางจริยธรรมที่แตกต่างออกไป

 

  • เจ้าหน้าที่วางแผนครอบครัวรายหนึ่งในอัสโคลีให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ผู้หญิงหลายคนต้องย้ายไปอยู่ภูมิภาคอื่น บ้างก็ต้องไปแอบทำแท้งผิดกฎหมาย บางคนต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำแท้ง ขณะที่บางคนก็จำต้องรับสภาพ เพราะไม่สามารถทำแท้งอย่างถูกกฎหมายได้

 

  • ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงกังวลว่านโยบายในยุคของเมโลนีที่เตรียมออกมาใหม่ในอนาคต อาจทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิในการทำแท้งลำบากไปกว่าเดิม โดยนักวิเคราะห์รายหนึ่งมองว่า นโยบายด้านสังคมของเมโลนีนั้นเหมือนกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาไม่มีผิด

 

ชาว LGBTQIA+ เริ่มสิ้นหวัง

 

  • จากรายงานที่ผ่านมานั้น อิตาลีถือเป็นหนึ่งในประเทศแถบยุโรปที่ให้สิทธิเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ย่ำแย่ที่สุด หรือรั้งอันดับที่ 23 โดยอิตาลีเป็นประเทศใหญ่แห่งเดียวในยุโรปตะวันตกที่ยังไม่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

  • เมื่อครั้งที่เมโลนีเปิดแคมเปญหาเสียงในแคว้นซาร์ดิเนีย มาร์โค มาร์ราส (Marco Marras) ชาว LGBTQIA+ ได้เดินถือธงสีรุ้งขึ้นไปบนเวทีหาเสียงของเธอ ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไล่ลงจากเวที

 

  • ในวันนั้นมาร์ราสบอกกับเมโลนีว่า เขาหวังที่จะได้รับสิทธิการแต่งงานและสร้างครอบครัวอย่างถูกต้องตามกฎหมายเฉกเช่นชายหญิงในอิตาลี แต่สิ่งที่เมโลนีตอบกลับมานั้นคือ “คุณมีความต้องการหลายอย่างเหลือเกิน… ทุกคนล้วนมีความต้องการ แต่คุณก็มี Civil Union อยู่แล้ว”

 

  • Civil Union คือการรับรองความสัมพันธ์ทางกฎหมายของคนเพศเดียวกัน คล้ายกับคู่ชายหญิงที่จดทะเบียนสมรส ซึ่งอิตาลีได้รับรองกฎหมายดังกล่าวเมื่อปี 2016 เมื่อครั้งที่พรรคเดโมเครติก (Democratic) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายกลางที่ค่อนไปทางฝ่ายซ้ายได้เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม

 

  • แต่ถึงเช่นนั้น ชาว LGBTQIA+ หลายคนมองว่า แม้จะมีการให้สิทธิทางกฎหมายมากขึ้น แต่ Civil Union ก็ไม่ได้เท่ากับการแต่งงาน อีกทั้งยังไม่ได้ให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกันในการรับเลี้ยงลูกบุญธรรมด้วย และหากนี่คือความเท่าเทียมจริง เหตุใดจึงต้องมีกฎหมาย 2 ฉบับแยกสิทธิของชายหญิงออกจากเพศทางเลือก

 

  • ปัจจุบันมีบางเมืองของอิตาลีที่ยอมรับให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถร่วมกันเลี้ยงดูบุตรได้ รวมถึงอนุญาตให้ลูกของคู่รักเพศเดียวกันสามารถใช้นามสกุลของผู้ปกครองได้ตามกฎหมาย แต่ถึงเช่นนั้น พื้นที่อื่นๆ ของอิตาลีก็ไม่ได้เปิดกว้างเช่นนี้

 

  • ฉะนั้นการขึ้นครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเมโลนีก็ยิ่งทำให้ชุมชนเพศทางเลือกนั้นรู้สึก ‘หมดหวัง’ มากกว่าเดิม เพราะท่าทีของผู้นำหญิงคนใหม่แสดงให้เห็นชัดเจนมาตลอดว่าเธอไม่สนับสนุน LGBTQIA+ และพร้อมปกป้องค่านิยมด้านครอบครัวตามขนบธรรมเนียมเดิม

 

  • ครั้งหนึ่งเมโลนีเคยพูดว่า ‘เด็กที่โชคไม่ดี’ ซึ่งรอให้มีพ่อแม่บุญธรรมมารับเลี้ยงดูนั้น ‘ควรได้รับสิ่งที่ดีที่สุด’ ซึ่งตอกย้ำถึงมุมมองของเธอที่ว่า เด็กๆ ควรได้รับการเลี้ยงดูโดยพ่อและแม่ที่เป็นชายหญิงเท่านั้น

 

  • สำหรับในอิตาลีนั้น การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) สำหรับคู่รักเพศเดียวกันถือว่าผิดกฎหมาย ส่งผลให้คู่รักหลายคู่ต้องแอบเดินทางไปทำ IVF ที่ต่างประเทศ ขณะที่การอุ้มบุญ (Surrogacy) หรือการตั้งครรภ์แทนผู้อื่นนั้นก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน

 

  • ยิ่งไปกว่านั้น เมโลนีได้เสนอให้มีการขยายขอบเขตของกฎหมายห้ามการอุ้มบุญ โดยเสนอให้คู่รักเพศเดียวกันที่ไปหาผู้หญิงตั้งครรภ์แทนในต่างประเทศก็จะมีความผิดด้วย

 

ผู้ลี้ภัยหวั่น

 

  • นอกจากประเด็นด้านสิทธิสตรีและสิทธิของชุมชน LGBTQIA+ แล้ว ชัยชนะของเมโลนีในครั้งนี้หมายถึงความไม่แน่นอนของบรรดาผู้ลี้ภัยในอิตาลีด้วยเช่นกัน

 

  • บาร์ยาลี ไวซ์ (Baryali Waiz) ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าว ABC News ว่า หลังจากที่เขาทราบว่าเมโลนีชนะการเลือกตั้ง เขาก็รู้สึกวิตกขึ้นมาทันที เนื่องจากในช่วงการหาเสียงนั้น เมโลนีให้คำมั่นว่าเธอจะยกระดับการควบคุมชายแดน และเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์จัดการผู้อพยพภายใต้การควบคุมของสหภาพยุโรป เพื่อพิจารณาการขอลี้ภัยที่เข้มงวดมากขึ้น

 

  • นอกจากนี้เมโลนียังเคยเรียกร้องให้มีการ ‘ปิดล้อมเส้นทางทางทะเล’ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายจากฝั่งของแอฟริกาเหนือ

 

  • นอกจากนี้เธอยังเคยออกโรงคัดค้านร่างกฎหมาย Ius Scholae ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่เสนอมอบสิทธิการเป็นพลเมืองให้กับนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งอพยพมาอิตาลีด้วยเหตุผลด้านการศึกษา

 

  • เมโลนีกล่าวว่า มาตรการสนับสนุนผู้ลี้ภัยเป็นการสมคบคิดของฝ่ายซ้ายที่จะ ‘แทนที่ชาวอิตาลีด้วยผู้อพยพ’ ซึ่งในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อเดือนมกราคม 2017 เธอเรียกการอพยพย้ายถิ่นฐานมายังอิตาลีว่าเป็น ‘การแทนที่ทางชาติพันธุ์’ (Ethnic Substitution)

 

  • สิ่งที่ทำให้ผู้ลี้ภัยวิตกกังวลคือ ปัจจุบันชาวอิตาลีส่วนมากก็ไม่ค่อยปลื้มพวกเขาอยู่แล้ว โดยผลสำรวจจาก YouGov เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่าชาวอิตาลี 77% มองว่าตัวเลขของผู้ลี้ภัยในประเทศนั้น ‘สูงเกินไป’ ขณะที่ผู้คนกลัวว่าผู้ลี้ภัยจะก่ออาชญากรรมในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

 

  • ขณะที่ชาวอิตาลีหลายคนโทษว่าการที่พวกเขาตกงาน เป็นเพราะเหล่าผู้ลี้ภัยมาแย่งอาชีพของพวกเขาไป โดยอัตราว่างงานในอิตาลีเมื่อเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 8.1% สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศในสหภาพยุโรป รองจากสเปนและกรีซ

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่ากระแสความเกลียดชัง การเหยียดเชื้อชาติ และความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกันภายใต้การนำของพรรคฝ่ายขวาจัด จะก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในอิตาลี ซึ่งเราจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าผู้นำหญิงคนใหม่จะเดินหน้าเกมการเมืองของเธอไปในทิศทางใด

 

ภาพ: Alessandra Benedetti – Corbis / Corbis via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising