ฝนตกเมื่อไร คนกรุงเทพฯ รู้ตัวและทำใจล่วงหน้าได้ทันทีว่า ‘น้ำท่วม’ แน่นอน ปัญหาน้ำท่วมขังเป็นปัญหาโลกแตกของ ‘กรุงเทพฯ’ รองจากปัญหารถติด ซึ่งภาครัฐก็ทุ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง
รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหาครมีอุโมงค์ระบายน้ำรวมกว่า 8 แห่ง เป็นอุโมงค์ยักษ์ 3 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นอุโมงค์ขนาดเล็ก
แต่ทำไมเรายังเห็นปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายในหลายพื้นที่ THE STANDARD ลงพื้นที่โครงการอุโมงค์น้ำใต้คลองบางซื่อ พร้อมหาคำตอบเรื่องนี้
เปิดใช้งานอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร
วันนี้ (6 ก.ย. 2560) กรุงเทพมหานคร เริ่มเปิดใช้งานจริง ‘โครงการอุโมงค์น้ำใต้คลองบางซื่อ’ แม้โครงการยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% แต่เหลือเพียงงานเก็บรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น
โครงการอุโมงค์น้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ความยาวของอุโมงค์ 6.4 กิโลเมตร
เริ่มจากบริเวณถนนรัชดา ลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ไม่น้อยกว่า 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง มีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 6 เครื่อง ประสิทธิภาพระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร ใน 6 เขต ได้แก่ เขตดุสิต, บางซื่อ, พญาไท, จตุจักร, ดินแดง และห้วยขวาง
พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เชื่อว่า การเปิดระบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนสำคัญ ได้แก่
- ถนนพหลโยธิน ช่วงสี่แยกสะพานควาย ถึง ห้าแยกลาดพร้าว
- ถนนวิภาวดี ช่วงสี่แยกสุทธิสาร ถึง ห้าแยกลาดพร้าว
- ถนนรัชดาภิเษก ช่วงสี่แยกรัชโยธิน ถึง คลองบางซื่อ
- ถนนลาดพร้าว ช่วงสี่แยกรัชดาลาดพร้าว ถึง คลองบางซื่อ
- ถนนกำแพงเพชร ช่วงใต้ทางด่วนศรีรัช ถึง ตลาดนัดสวนจตุจักร
- ถนนสามเสน ช่วงคลองบางกระบือ ถึง สี่แยกเกียกกาย
ออกแบบเตรียมสร้างอุโมงค์ยักษ์แห่งที่ 4 ของกรุงเทพฯ
สำหรับ ‘โครงการอุโมงค์น้ำใต้คลองบางซื่อ’ เป็น 1 ใน 3 อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ ต่อจากอุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 และอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน
ทำให้ตอนนี้ กรุงเทพมหานครมีอุโมงค์ระบายรวม 8 แห่ง ประกอบด้วย อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ 3 อุโมงค์ และอุโมงค์ระบายน้ำขนาดเล็กอีก 5 อุโมงค์ ได้แก่
- อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรม-โรงปูน
- อุโมงค์ระบายน้ำซอยอารีย์ เขตพญาไท
- อุโมงค์ระบายน้ำสุขุมวิท 26
- อุโมงค์ระบายน้ำสุขุมวิท 32
- อุโมงค์ระบายน้ำสุขุมวิท 42
โดยอนาคต กทม. เตรียมก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ แห่งที่ 4 คือ ‘โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ําคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา’ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 109 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ พื้นที่ เขตดอนเมือง, สายไหม, บางเขน, หลักสี่ และจตุจักร เงินประมาณการเบื้องต้น 7,300 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบโครงการ คาดว่าจะก่อสร้างภายใน พ.ศ. 2561
มีอุโมงค์ยักษ์แล้วทำไมน้ำยังท่วม?
สมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ไขข้อข้องใจให้กับ THE STANDARD ว่า เพราะอุโมงค์ระบายน้ำไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง โดยปัจจัยของระบบระบายน้ำมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่
- ท่อระบายน้ำจากพื้นผิวถนน
- คลองที่รับน้ำจากพื้นที่ต่างๆ
- สถานีสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ แหล่งน้ำอื่นๆ
การจะแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้สมบูรณ์ต้องพัฒนาครบวงจรทั้ง 3 องค์ประกอบนี้
ขณะที่ ‘อุโมงค์ระบายน้ำ’ สามารถช่วยตัวที่ 2 กับ 3 คือ ช่วยให้การระบายน้ำจากคลองและการระบายน้ำจากสถานีสูบน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนท่อระบายน้ำยังเป็นสิ่งที่ต้องแก้ปัญหาพัฒนาต่อไป
ผอ. สำนักการระบายน้ำเล่าว่า ท่อระบายน้ำที่นำน้ำจากพื้นผิวถนนมายังคลองและสถานีสูบน้ำต่างๆ ถูกออกแบบไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ขนาดกว้าง (เส้นผ่านศูนย์กลาง) ไม่เกิน 1 เมตร ซึ่งในเวลานั้นมันเพียงพอ เพราะในอดีตน้ำสามารถไหลลงลำคลองต่างๆ ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านท่อระบายน้ำอย่างเดียว
แต่ปัจจุบันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่และอาคารบ้านเรือนที่มากขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้น้ำไม่มีที่ไป นอกจากต้องไหลลงท่ออย่างเดียว ซึ่งท่อที่มีขนาด 1 เมตรจึงไม่เพียงพอ ต้องขยายเป็น 1.5-2 เมตร
แต่ปัญหาคือ การขยายขนาดท่อระบายน้ำในบางพื้นที่ไม่สามารถทำได้ ปัจจุบันเรามีโครงการสร้างท่อลอด (Pipe Jacking) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ตอนนี้มีทั้งหมด 11 โครงการ ในถนนที่เป็นจุดอ่อนการระบายน้ำ เช่น ถนนอโศก, สุขุมวิท, ทรงวาด, ศรีอยุธยา, แบริ่ง และงามวงศ์วาน ขณะนี้เซ็นสัญญาไปแล้ว 4 โครงการ ส่วนที่เหลือจะทยอยเซ็นสัญญาจ้างให้ครบ ระยะเวลาแต่ละโครงการคือ 1-2 ปี เบื้องต้นคาดว่าใช้งบประมาณ 2,200 ล้านบาท
ข้อดีของเทคโนโลยี Pipe Jacking คือไม่ต้องเจาะถนนตลอดทั้งสาย แต่ใช้หัวเจาะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตรครึ่ง ถึง 2 เมตร เจาะใต้ดินขนานกับแนวถนน แล้วดันท่อใหม่เข้าไปเรื่อยๆ
ตัวอย่างรูปธรรมเมื่อระบบระบายน้ำทำงานเต็มที่
ใช่ว่าอุโมงค์ระบายน้ำมูลค่าเป็นร้อยเป็นพันล้านจะไร้คุณค่าเสียทีเดียว
ผอ. สำนักการระบายน้ำ ย้อนประสบการณ์ทำงานในอดีตให้ฟังว่า สมัยก่อนเราจะเห็นน้ำท่วมขังรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ สนามเป้า ถนนเหล่านี้ท่วมหมด แต่ทุกวันนี้เราไม่เห็นแล้ว ตั้งแต่อุโมงค์ระบายน้ำแห่งแรกที่บึงมักกะสันเริ่มเดินระบบได้
“ก่อนมีอุโมงค์บึงมักกะสัน ผมต้องไปยืนดูปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เหล่านั้นทุกครั้งเมื่อฝนตกหนักๆ แต่นับจากวันที่อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันเริ่มใช้งาน ปัญหาน้ำท่วมถนนสายที่พูดมาก็ไม่มีอีกต่อไป เพราะอุโมงค์สามารถดึงปริมาณน้ำบริเวณคลองสามเสนให้ต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การรองรับน้ำทำได้ดีขึ้น
“สรุปคือการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังกรุงเทพฯ อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำเป็นเพียงส่วนหนึ่ง การแก้ปัญหาต้องทำให้ครบวงจรของการระบายน้ำ ตัวอย่างย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่ประสบความสำเร็จ เพราะน้ำลงท่อระบายน้ำได้ คลองรองรับน้ำได้ และส่งมายังสถานีสูบน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ถ้าพื้นที่ที่ระบบยังไม่เสร็จครบวงจร มีแค่สถานีสูบน้ำ แต่ท่อระบายน้ำยังขยายไม่ได้ เจอฝนตกลงมา 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงก็ท่วมแน่นอน” ผอ. สำนักการระบายน้ำกล่าว
ความคาดหวังของคนกรุง สูงกว่า ระดับน้ำที่ท่วมขัง กทม.
เมื่อถามถึงความพร้อมในการเตรียมรับพายุฝนที่จะเข้ากรุงเทพฯ ในสัปดาห์หน้านั้น ผอ. สำนักการระบายน้ำยอมรับกับ THE STANDARD ตรงๆ ว่า พื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน ขณะที่บางพื้นที่ไม่มีความลาดชันเหมือนต่างจังหวัด แถมมีลักษณะเป็นแอ่ง การระบายน้ำจึงทำได้ยาก
แม้ในพื้นที่ที่อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ครอบคลุมไปถึง แต่หากฝนตกเกิน 100 – 200 มิลลิเมตรต่อวัน ก็ต้องยอมรับว่ามีน้ำท่วมขังแน่นอน
ถ้าเปรียบเทียบการระบายน้ำกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด
ฝนตก 150 มิลลิเมตรต่อวันที่บริเวณถนนรัชดาภิเษก หน้าศาลอาญา เราใช้เวลาระบายน้ำ 8 ชั่วโมง ขณะที่ต่างจังหวัดถ้าตกขนาดนี้น้ำจะท่วมนานร่วมสัปดาห์ เพราะเขาไม่มีระบบระบายน้ำเหมือนกรุงเทพฯ
แต่แน่นอนว่าความคาดหวังของคนกรุงเทพฯ มีสูง ดังนั้นเราจึงตั้งใจเร่งทำหน้าที่ต่อไป เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังให้ดีที่สุด ผอ. สำนักการระบายน้ำทิ้งท้าย
ดังนั้น ฤดูฝนปีนี้ กทม. จึงอาจจะยังมีน้ำท่วมขัง ‘รอการระบาย’ ให้เห็นอยู่ประปราย