หากพูดถึง Cartier แล้วเชื่อว่าหลายคนจะต้องนึกถึงสินค้าอย่างเครื่องประดับและนาฬิกาสุดหรู แต่อีกหนึ่งพาร์ตสำคัญของแบรนด์ลักชัวรียักษ์ใหญ่เจ้านี้ภายใต้กลุ่ม Richemont Group คือการทำโปรเจกต์ที่ช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์ Cartier Women’s Initiative หรือการสร้างคอมมูนิตี้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ Red Club x Cartier ที่ล่าสุด THE STANDARD POP ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับ Giada Zhang ประธานคอมมูนิตี้นี้ที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงงานแถลงข่าว Young Leader Awards 2024 ที่เพิ่งเปิดรับสมัครผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อชิงเงินรางวัลรวมกว่า 3 ล้านบาท
Giada Zhang ถือเป็นผู้หญิงชาวอิตาเลียนเชื้อสายจีนที่ดีกรีไม่ธรรมดา เพราะนอกเหนือจากบทบาทการเป็นประธานคอมมูนิตี้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ Red Club x Cartier ที่ริเริ่มในปี 2019 แล้ว เธอยังได้ก่อตั้งบริษัท Mulan Group ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเอเชียแบบแช่แข็งที่มีจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วยุโรป ทำให้นิตยสาร Forbes เลือกให้เธอเป็น 1 ใน 30 บุคคลที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปีที่โดดเด่นที่สุดของยุโรป
ช่วยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับ Red Club x Cartier และเส้นทางของคุณสู่การเป็นประธานของคอมมูนิตี้นี้
Red Club x Cartier ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2019 โดยจุดเริ่มต้นของคอมมูนิตี้นี้เกิดภายใต้วิสัยทัศน์ของฉัน ซึ่งพอเดินทางไปไหนในฐานะผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ฉันก็จะรู้สึกโดดเดี่ยวมาก และรู้สึกว่าเป็นคนเดียวที่กำลังเผชิญกับความท้าทาย เมื่อเจอปัญหาบางอย่างจึงมักจะมีคำถามต่างๆ เช่น ฉันจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร แต่กลับไม่มีเจ้านายหรือผู้จัดการที่จะขอความช่วยเหลือได้ ดังนั้นจึงมีเพียงคนรอบข้างและผู้ประกอบการรายอื่นเท่านั้นที่เหมือนกำลังเผชิญกับความท้าทายหรือปัญหาอื่นๆ อยู่บ้างในระหว่างนี้ ฉันเลยคิดว่าทำไมเราไม่สร้างกลุ่ม Entrepreneur จริงๆ ไปเลยล่ะ ซึ่งเป็นที่ที่เราจะเชื่อมต่อ แบ่งปันประสบการณ์ และสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ โดยในขณะนั้น Cartier ก็กำลังพยายามทำสิ่งที่คล้ายกันนี้
ดังนั้นเราจึงพยายามสร้างกลุ่ม Entrepreneur ซึ่งเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันและมีอิทธิพลในรุ่นต่อๆ ไป เมื่อถึงจุดนั้นก็ได้รวมเอาสิ่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน และนั่นคือที่มาของ Red Club x Cartier
เริ่มแรกของ Red Club x Cartier แบ่งออกเป็น 3 ประเทศ ได้แก่ อิตาลี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ซึ่งฉันเป็นคนที่มาจากอิตาลี ถ้าให้วัดจากใบหน้านะ (หัวเราะ) ต่อมาเราก็ขยายกลุ่ม Red Club x Cartier ไปยังอีก 11 ประเทศ โดยเปิดตัวที่สเปน, ดูไบ, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, ฮ่องกง, ไทเป และอีกมากมาย
ส่วนการเป็นประธานนั้นมาได้ยังไง? มันเป็นเรื่องธรรมดามาก สำหรับฉันในตอนแรกนี่เป็นเหมือนจุดประสงค์ของฉัน และอยากทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นมากๆ แม้ว่าเราแต่ละคนในฐานะสมาชิกจะมีบริษัทเป็นของตัวเองที่ต้องดำเนินการอยู่ในระหว่างนี้ สำหรับฉันมองว่านี่เป็นเหมือนความท้าทายที่จะทำให้มันเกิดขึ้น แน่นอนว่าฉันมีทีมที่น่าทึ่งซึ่งประกอบไปด้วยคนอื่นๆ อีกมากมาย
Giada Zhang กับ Cyrille Vigneron ซีอีโอของ Cartier
ตั้งแต่ปี 2021 คุณได้เปิดตัวรางวัล Young Leader Award เหตุใดคุณถึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องเปิดตัวรางวัลนี้
หลังจากที่คอมมูนิตี้ Red Club x Cartier ได้เปิดตัว ฉันก็คิดว่าพวกเราเชื่อมโยงถึงกัน เรากำลังแบ่งปันประสบการณ์ สิ่งที่เรากำลังทำคือการสร้างพลังต่อการขับเคลื่อนให้คนรุ่นต่อไป เรารู้สึกเหมือนมีอิทธิพล ดังนั้นเราจึงคิดว่าทำไมเราไม่สร้างรางวัลขึ้นมาล่ะ โดยที่เราเรียกร้องการดำเนินการอย่างเหมาะสมกับผู้ประกอบการทุกคน และพูดว่าหากคุณต้องการความช่วยเหลือจากเราก็มาเข้าร่วมสมัคร แล้วเราจะพยายามสนับสนุนคุณ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเราตระหนักได้ว่าพวกเขาต้องการการสนับสนุนทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก และนั่นก็ได้รับความช่วยเหลือจาก Cartier
มากไปกว่านั้น ผู้ประกอบการที่มาเข้าร่วมชิงรางวัลพวกเขาต้องการการฝึกอบรมและการศึกษา ฉันจึงคิดเสมอว่านักกีฬาและเจ้าของกิจการมีความคล้ายคลึงกันเสมอ แต่ในทางกลับกัน พวกเขาก็แตกต่างกันมาก เพราะว่านักกีฬาใช้เวลา 90% ในการฝึกซ้อม และเพียง 10% ในเกมสุดท้ายของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ในทางกลับกัน เจ้าของธุรกิจจะใช้ 90% ของเวลา แม้ว่าพวกคุณจะใช้เวลา 90% ไปกับ Performance เพียงอย่างเดียวก็ตาม แล้วเราก็เหลือเวลาเพียง 10% เท่านั้นในการฝึกฝน เรียนรู้ และศึกษา ดังนั้นเราจึงพยายามช่วยให้คนรุ่นใหม่มีการศึกษามากขึ้น เพราะมีเพียงคุณเท่านั้นที่รู้ การเรียนรู้คุณสามารถพัฒนาได้จริงในฐานะผู้ประกอบการ
ดังนั้นในทุกๆ ปีเราจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของรางวัล Young Leader Award โดยในปีนี้เรามี National University of Singapore Business School และ University of Sydney Business School มาเป็นพาร์ตเนอร์
งานแถลงข่าว Young Leader Award 2024 ที่ประเทศสิงคโปร์
ธีมในปีนี้ของ Young Leader Award คือ ‘Tech for a Sustainable Future’ ซึ่งในฐานะที่คุณเป็นผู้ประกอบการที่ก่อตั้งบริษัท Mulan Group ที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเอเชียแบบแช่แข็ง คุณจะใช้ธีมในปีนี้กับธุรกิจของคุณอย่างไรบ้าง
นั่นเป็นคำถามที่ดี คุณรู้ไหมว่าเรากำลังทำสิ่งนั้นจริงๆ เช่นกัน โดยในกรณีของฉันกับบริษัท Mulan Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำอาหารเอเชียพร้อมรับประทานทั้งแบบแช่แข็งและสดสำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรป เมื่อพูดถึงความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือเรื่องเกี่ยวกับเศษอาหาร โดยสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนไปมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเราพูดถึงเรื่อง Food Waste ในรุ่นก่อนๆ ของคุณพ่อคุณแม่ หรือปู่ย่าตายายของเรา พวกเขาก็จะทำอาหารกันเองและแบ่งให้ทุกคนในครอบครัวช่วยกันกิน
แต่ในยุคสมัยนี้เรากลับซื้อหรือกินที่ร้านอาหารมากกว่าทำกันเอง ซึ่ง Mulan Group ตอนนี้เราได้เริ่มใช้ AI เพื่อตรวจสอบว่าพ่อครัวของเราได้ทิ้งเศษอาหารอะไรลงในถังขยะ เช่น เศษแครอตหรือไข่ และอะไรคือค่าอาหารของสิ่งที่คุณโยนทิ้งไป ดังนั้นคุณจึงสามารถติดตาม KPI ของเศษอาหารได้
คุณได้มีโอกาสศึกษาถึงกลุ่มผู้ประกอบการในประเทศไทยบ้างไหม
แน่นอน ฉันคิดว่าประเทศไทยคือสถานที่พิเศษสำหรับฉัน ฉันคิดว่าประเทศไทยมี DNA ของผู้ประกอบการที่แข็งแกร่ง มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งคนมักมีความคิดบวกและความอ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อคุณเป็นผู้ประกอบการ คุณจะต้องคิดบวกอยู่เสมอ เพราะคุณต้องรับความเสี่ยงทุกวัน ดังนั้นวันที่คุณเริ่มคิดบวกเกี่ยวกับอนาคตและทัศนคติต่ออนาคต คุณจะหยุดเติบโต แต่กลับกลายเป็นความถ่อมตัว
เพราะส่วนใหญ่ยิ่งคุณเติบโตขึ้น คุณก็ยิ่งเข้าใจคุณค่าในตัวเองมากขึ้น และบางครั้งคุณก็ลืมที่จะถ่อมตัว สำหรับฉันอย่างที่คุณทราบ การมีองค์ประกอบสำคัญทั้งสามอย่างนี้คือสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ และฉันแน่ใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีองค์ประกอบทั้งหมดนี้ ซึ่งมันดีมาก
แน่นอนว่าธุรกิจหลักของคุณเกี่ยวกับอาหารเอเชีย เลยอยากรู้ว่าอาหารไทยมีบทบาทมากน้อยขนาดไหน
โดยทั่วไปแล้วอาหารไทยเป็นสิ่งที่บางประเทศในยุโรปมองว่าเป็นอาหารกินง่าย โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส ตัวอย่างเช่น ในฝรั่งเศสนอกจากอาหารฝรั่งเศสเราก็ยังมีอาหารอิตาเลียน แล้วก็มีอาหารไทย ญี่ปุ่นและจีนตามหลังไทยมาอีกที ดังนั้นแต่ละประเทศจึงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย
สุดท้ายคุณอยากฝากอะไรถึงผู้ประกอบการผู้หญิงหรือคนที่มาจากชนกลุ่มน้อยบ้าง เพื่อให้มาร่วมโครงการ Young Leader Award ของ Red Club x Cartier
ตั้งแต่แรกเริ่มฉันคิดว่าจริงๆ แล้วมีเพียงนักธุรกิจภายในที่เป็นผู้ชายและคนผิวขาวเท่านั้น คุณจะรู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งอะไรเลยในเรื่องนี้ เหมือนกับว่าคุณรู้สึกว่าไม่สามารถนำเสนอมันได้ ซึ่งฉันรู้สึกว่าปัจจุบันหลังจากผ่านไปไม่กี่ปี สิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มันอาจจะยังไปไม่ถึงจุดที่เราต้องการ แต่ฉันคิดว่าการมีแบบอย่างที่ดีของชนกลุ่มน้อยจากที่อื่นๆ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะทุกสิ่งที่เราทำในวันนี้ ทุกสิ่งที่เราซื้อ ทุกนิสัยที่เรามี เรามีเพราะมีคนคุยกับเรา และเรารู้สึกว่าคนนั้นคุ้นเคยกับเรา ดังนั้นเราจึงรู้สึกว่าโอเค มันเป็นส่วนหนึ่งของเรา เป็นครอบครัวไปแล้ว วิธีที่เราบริโภคอาหาร สิ่งที่เรากิน และแม้แต่งานของคุณในฐานะนักข่าว ถ้าคุณไม่เห็นใครเหมือนคุณจากข้างนอกนั่น คุณจะรู้สึกเหมือนว่าฉันทำอะไรผิดหรือเปล่าที่มาปรากฏตัวที่นี่ หรืออาจเป็นเพราะฉันเป็นคนเดียวที่เป็นข้อยกเว้น ฉันต้องแน่ใจว่ามีทุกหนทางในอนาคต ฉันจึงเชื่ออย่างแท้จริงว่าเราต้องปูทางไปสู่ผู้ประกอบการรายอื่นที่เป็นชนกลุ่มน้อย และหวังว่าคำว่าชนกลุ่มน้อยจะไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว
- สำหรับโปรแกรม Young Leader Award เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2024 ภายใต้กรอบแนวคิด ‘Tech for a Sustainable Future’ โดย Red Club x Cartier เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการจากทั่วทุกมุมโลกไม่ว่าจะจากอุตสาหกรรมอะไรก็ตามที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี สามารถสมัครได้ที่ลิงก์นี้ https://apply.redclubcartier.com/submit