×

ธอส. เผยผลการดำเนินงาน 4 เดือนแรกปีนี้ ปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 4.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 20% ของเป้าหมาย

22.05.2024
  • LOADING...

ธนาคารอาคารสงเคราะห์เผยผลการดำเนินงาน 4 เดือนแรกของปี 2567 ปล่อยสินเชื่อใหม่ช่วยเหลือคนไทยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ถึง 37,200 บัญชี คิดเป็นวงเงิน 4.77 หมื่นล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.71 ล้านล้านบาท มั่นใจทั้งปี 2567 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.42 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 5.63% ของยอดสินเชื่อรวม ลั่นพร้อมสนับสนุนคนไทยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมากขึ้น
และขยายความร่วมมือกับพันธมิตรสร้างความแข็งแกร่งของระบบ Ecosystem เพื่อพัฒนาองค์กรมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน 

 

กมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ ‘ทำให้คนไทยมีบ้าน’ พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลังในการช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ 

 

ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่จำนวน 37,200 บัญชี คิดเป็นวงเงิน 4.77 หมื่นล้านบาท หรือ 20% ของเป้าหมายในปี 2567 ที่ตั้งไว้ 2.42 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ให้กับลูกค้าที่ต้องการวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางถึง 24,400 ราย โดยมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.71 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบ ณ สิ้นปี 2566 สินทรัพย์รวม 1.80 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.26% เงินฝากรวม 1.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.08% 

 

“ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วง 4 เดือนแรกได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลในการลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2%
เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จาก 1% เหลือ 0.01% รวมถึงการจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคาร ทำให้ลูกค้าตัดสินใจยื่นขอสินเชื่อมากขึ้น”

 

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีลูกค้าเลือกใช้บริการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. สินเชื่อบ้านลูกค้าสวัสดิการ ธอส. มียอดนิติกรรมสูงถึง 9,523 ล้านบาท 
  2. สินเชื่อบ้าน Happy Life มียอดนิติกรรมสูงถึง 7,607 ล้านบาท 
  3. โครงการบ้าน ธอส. เพื่อคุณ ปี 2567 มียอดนิติกรรมสูงถึง 4,101 ล้านบาท 

 

 

ดังนั้น จึงคาดว่าสิ้นปี 2567 ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมาย 2.42 ล้านล้านบาท” กมลภพกล่าว

 

ลุยตลาดบ้านมือสอง จ่อปล่อยสินเชื่อ 6.4 หมื่นล้านบาท 

 

วิทยา แสนภักดี รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ ธอส. กล่าวว่า นอกจากบ้านใหม่ที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์พัฒนาแล้ว ในตลาดอสังหาและความต้องการลูกค้าก็ยังมีบ้านมือสองอยู่ด้วย โดยเป็นพอร์ตที่อยู่ในมือโบรกเกอร์ และ AMC ซึ่ง ธอส. มีความสนใจเข้ามาโฟกัสตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น โดยจะเป็นพาร์ตเนอร์กับตัวกลางที่มีสินทรัพย์บ้านมือสองในมือ และออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินมารองรับ 

 

“ก่อนหน้านี้ก็มี ก็ทำอยู่ แต่ไม่ได้ยกขึ้นมาบนโต๊ะ ทำอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 17% แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่วางยุทธศาสตร์ โดยเราจะยกระดับส่วนแบ่งทางการตลาดมาที่ 20% หรือคิดเป็น 6.4 หมื่นล้านบาท สำหรับ Resale Home” วิทยากล่าว 

 

ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) พบว่า ณ ไตรมาส 4 ปี 2566 ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองมีจำนวนประกาศขาย 150,465 หน่วย มูลค่า 999,874 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยลดลง -7.6% แต่มูลค่ากลับเพิ่มขึ้นถึง 16.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) กลับมีการเพิ่มขึ้นทั้งหน่วยและมูลค่า โดยจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 4.4% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 1.8% 

 

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ที่อยู่อาศัยมือสองปรับตัวลดลงจากปีก่อน เนื่องจากกลุ่มที่มีราคาต่ำได้ทยอยถูกดูดซับไปจากตลาด แต่มีที่อยู่อาศัยมือสองราคาสูงเริ่มเข้ามาทดแทน โดยจะเห็นได้ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของบ้านมือสองเพิ่มขึ้นจาก 5.3 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2565 เป็น 6.6 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2566

 

รับ NPL ทั้งปีนี้สูงกว่า 5% 

 

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 5.63% ของยอดสินเชื่อรวม โดยมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 1.53 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 158.55% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ระดับแข็งแกร่งที่ 15.30% สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.5% 

 

ธอส. ประเมินว่า NPL ทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าจะควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับ 4%

 

ทั้งนี้ ธอส. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลังในการสนับสนุนคนไทย
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และประชาชนกลุ่มเปราะบางอย่าง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ขาดโอกาสในด้านต่างๆ ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมากขึ้น ด้วยการจัดทำสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่อง 

 

ขณะเดียวกัน ธอส. ยังให้ความสำคัญในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) และลูกค้าสถานะ NPL ให้ยังคงรักษาบ้านของตนเองไว้ได้ต่อไป ด้วยการจัดทำมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ปี 2567 ประกอบด้วย 

 

มาตรการ HD1: สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-3 จำนวน 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี 

 

มาตรการ HD2: สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-3 คำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90% +100 บาท



มาตรการ HD3: สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ NPL ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-4 จำนวน 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี โดยปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการแล้วจำนวน 25,798 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 29,966 ล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X