ธนาคารอาคารสงเคราะห์เผยผลการดำเนินงาน 4 เดือนแรกของปี 2567 ปล่อยสินเชื่อใหม่ช่วยเหลือคนไทยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ถึง 37,200 บัญชี คิดเป็นวงเงิน 4.77 หมื่นล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.71 ล้านล้านบาท มั่นใจทั้งปี 2567 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.42 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 5.63% ของยอดสินเชื่อรวม ลั่นพร้อมสนับสนุนคนไทยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมากขึ้น และขยายความร่วมมือกับพันธมิตรสร้างความแข็งแกร่งของระบบ Ecosystem เพื่อพัฒนาองค์กรมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน
กมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ ‘ทำให้คนไทยมีบ้าน’ พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลังในการช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์
ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่จำนวน 37,200 บัญชี คิดเป็นวงเงิน 4.77 หมื่นล้านบาท หรือ 20% ของเป้าหมายในปี 2567 ที่ตั้งไว้ 2.42 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ให้กับลูกค้าที่ต้องการวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางถึง 24,400 ราย โดยมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.71 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบ ณ สิ้นปี 2566 สินทรัพย์รวม 1.80 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.26% เงินฝากรวม 1.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.08%
“ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วง 4 เดือนแรกได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลในการลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จาก 1% เหลือ 0.01% รวมถึงการจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคาร ทำให้ลูกค้าตัดสินใจยื่นขอสินเชื่อมากขึ้น”
ผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีลูกค้าเลือกใช้บริการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- สินเชื่อบ้านลูกค้าสวัสดิการ ธอส. มียอดนิติกรรมสูงถึง 9,523 ล้านบาท
- สินเชื่อบ้าน Happy Life มียอดนิติกรรมสูงถึง 7,607 ล้านบาท
- โครงการบ้าน ธอส. เพื่อคุณ ปี 2567 มียอดนิติกรรมสูงถึง 4,101 ล้านบาท
ดังนั้น จึงคาดว่าสิ้นปี 2567 ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมาย 2.42 ล้านล้านบาท” กมลภพกล่าว
ลุยตลาดบ้านมือสอง จ่อปล่อยสินเชื่อ 6.4 หมื่นล้านบาท
วิทยา แสนภักดี รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ ธอส. กล่าวว่า นอกจากบ้านใหม่ที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์พัฒนาแล้ว ในตลาดอสังหาและความต้องการลูกค้าก็ยังมีบ้านมือสองอยู่ด้วย โดยเป็นพอร์ตที่อยู่ในมือโบรกเกอร์ และ AMC ซึ่ง ธอส. มีความสนใจเข้ามาโฟกัสตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น โดยจะเป็นพาร์ตเนอร์กับตัวกลางที่มีสินทรัพย์บ้านมือสองในมือ และออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินมารองรับ
“ก่อนหน้านี้ก็มี ก็ทำอยู่ แต่ไม่ได้ยกขึ้นมาบนโต๊ะ ทำอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 17% แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่วางยุทธศาสตร์ โดยเราจะยกระดับส่วนแบ่งทางการตลาดมาที่ 20% หรือคิดเป็น 6.4 หมื่นล้านบาท สำหรับ Resale Home” วิทยากล่าว
ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) พบว่า ณ ไตรมาส 4 ปี 2566 ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองมีจำนวนประกาศขาย 150,465 หน่วย มูลค่า 999,874 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยลดลง -7.6% แต่มูลค่ากลับเพิ่มขึ้นถึง 16.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) กลับมีการเพิ่มขึ้นทั้งหน่วยและมูลค่า โดยจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 4.4% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 1.8%
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ที่อยู่อาศัยมือสองปรับตัวลดลงจากปีก่อน เนื่องจากกลุ่มที่มีราคาต่ำได้ทยอยถูกดูดซับไปจากตลาด แต่มีที่อยู่อาศัยมือสองราคาสูงเริ่มเข้ามาทดแทน โดยจะเห็นได้ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของบ้านมือสองเพิ่มขึ้นจาก 5.3 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2565 เป็น 6.6 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2566
รับ NPL ทั้งปีนี้สูงกว่า 5%
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 5.63% ของยอดสินเชื่อรวม โดยมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 1.53 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 158.55% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ระดับแข็งแกร่งที่ 15.30% สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.5%
ธอส. ประเมินว่า NPL ทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าจะควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับ 4%
ทั้งนี้ ธอส. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลังในการสนับสนุนคนไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และประชาชนกลุ่มเปราะบางอย่าง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ขาดโอกาสในด้านต่างๆ ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมากขึ้น ด้วยการจัดทำสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ธอส. ยังให้ความสำคัญในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) และลูกค้าสถานะ NPL ให้ยังคงรักษาบ้านของตนเองไว้ได้ต่อไป ด้วยการจัดทำมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ปี 2567 ประกอบด้วย
มาตรการ HD1: สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-3 จำนวน 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี
มาตรการ HD2: สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-3 คำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90% +100 บาท
มาตรการ HD3: สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ NPL ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-4 จำนวน 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี โดยปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการแล้วจำนวน 25,798 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 29,966 ล้านบาท