คนไทยเริ่มสนใจไม้โขดกันมากขึ้นเพราะบัวบกโขด เราคงปฏิเสธความน่ารักของโขดกลมๆ เล็กๆ เหมือนก้อนดิน มีกิ่งก้านยืดสูงขึ้นไป แตกใบกลมสีเขียวสดใสไม่ได้ และยิ่งเทรนด์พื้นที่สีเขียวที่ต้องการผสานธรรมชาติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์เริ่มคุกคามเข้าไปในชีวิตประจำวันของผู้คน การมองหาพื้นที่สีเขียวเล็กๆ มาช่วยมอบความสบายตาจึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยง่าย เพียงแค่หยิบต้นไม้ใส่กระถางแล้วนำไปตั้งวางรับแสงแดด ชีวิตกลางเมืองก็ดูจะผ่อนคลายลงไม่น้อย แล้วต้นไม้อะไรจะเหมาะไปกว่าไม้โขด เพราะไม้โขดขึ้นชื่อว่าเลี้ยงง่าย ไม่ต้องดูแลหรือรดน้ำให้วุ่นวาย เนื่องจากลักษณะของพันธุ์ไม้ที่มีหัวหรือรากไว้สำหรับสะสมอาหารและน้ำ ยิ่งทำให้วิถีชีวิตคนเมืองดำเนินไปโดยแทบไม่สะดุด
ไม้โขดมีหลากหลายสายพันธุ์ และพันธุ์ไทยเองก็มีให้เลือกปลูกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น บัวบกโขด ที่หลายคนคงคุ้นตา หรือว่าจะเป็น บอระเพ็ดพุงช้าง เสน่ห์นางพิมพ์ ยังไม่รวมไม้โขดพันธุ์ใหม่หลังจากที่ได้มีการค้นพบไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พืชพันธุ์ใหม่นี้มีชื่อว่า บัวหิน (Stephania Kaweesakii Jenjitt. & Ruchis.) หรือในท้องตลาดเรียกกันว่า บัวผา หรือ บัวเงิน มีลักษณะคล้ายพันธุ์ไม้โขดชนิดอื่นๆ ของไทยตรงที่ส่วนหัวมีขนาดใหญ่ มีเปลือกหนา รูปทรงแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม ลักษณะของใบเป็นทรงกลมมีหลายขนาด มักจะพบได้ตามซอกหิน โดยเฉพาะเขาหินปูน หากฟังผ่านๆ ก็ดูจะเหมือนไม้โขดทั่วๆ ไป แต่หากพิจารณาดีๆ แล้วไม้โขดแต่ละชนิดมีความพิเศษแตกต่างกันไป เราจึงอยากชวนคุณมาลองสำรวจพันธุ์ไม้โขดของไทยที่พบเห็นได้ตามตลาดต้นไม้ หรืออาจพบเจอระหว่างเดินในป่า เผื่อว่าจะช่วยเตือนความจำกับเพื่อนร่วมโลกสีเขียวได้มากขึ้น
บัวบกโขด (Stephania Erecta Craib) / โขดเรียบกลม ใบกลมเหมือนแว่น
บัวบดโขดน่าจะเป็นไม้โขดที่หลายคนคุ้นเคยมากที่สุด ด้วยกระแสความนิยมปลูกไม้โขดในช่วงนี้ ทำให้พันธุ์ไม้โขดหลายชนิดผุดจากใต้ดินขึ้นมาเบ่งบานในกระถางอย่างแพร่หลาย บัวบกโขดเองก็มีหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น บัวบกหัว หรือ บัวบกป่า เนื่องจากขึ้นอยู่ตามป่าเขา เวลาเก็บคนก็มักจะขุดเอาหัวที่ฝังอยู่ใต้ดินมาขาย ความน่ารักของบัวบกโขดนอกจากหัวทรงกลมเหมือนก้อนดินแล้ว มีทั้งขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือไปจนถึงใหญ่กว่ากำปั้น แตกใบออกมาเป็นทรงกลมสีเขียวขนาดกำลังพอดี ยิ่งอยู่ในที่มีแสงรำไรจะยิ่งแตกกิ่งก้านสูงขึ้นไปอีก ลักษณะดังกล่าวจะแตกต่างจากบัวบกหิน ที่แม้จะมียอดคล้ายบัวบกโขด แต่ลักษณะโขดกลับออกไปทางรากไม้เปลือกหนามากกว่าก้อนกลม คนนิยมนำมาปลูกในกระถางเล็กๆ เพื่อเพิ่มสีสันบนโต๊ะทำงานหรือริมระเบียงให้รู้สึกสดชื่นในทุกๆ เช้า
บอระเพ็ดพุงช้าง (Stephania Suberosa) / โขดกลม เปลือกแข็ง ใบเป็นรูปหยดน้ำ
ไม้โขดไทยอีกพันธุ์ที่เห็นได้ตามท้องตลาดคือบอระเพ็ดพุงช้าง สังเกตได้จากโขดเป็นเปลือกแข็งหนา ผิวไม่เรียบเหมือนกับบัวบกโขด ลักษณะของใบก็แตกต่างกัน เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่า รูปทรงคล้ายหยดน้ำแบบใบบัว ออกดอกเป็นช่อสีแดง พบได้ตามป่าทุกภาคของประเทศไทย สมัยก่อนนิยมปลูกไว้ตามบ้านเรือนเพื่อนำมาดองเหล้า ตัวยางของบอระเพ็ดพุงช้างมีสีแดง เวลานำไปดองเหล้าจึงทำให้เหล้ากลายเป็นสีแดง มีบ้างที่เรียกกันไปว่า ‘สบู่เลือด’ ซึ่งมีที่มาจากต้นบอระเพ็ดพุงช้างนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยให้เกิดกำลัง ดื่มแล้วทำให้ผิวหนังเกิดอาการชา จนเคยเชื่อกันไปว่าทำให้คงกระพันฟันแทงไม่เข้า ถูกใจนักเลงนักดื่มเหล้าสมัยก่อนกันมาก แต่ก็อย่าเอาทำไปตามกันเลยนะครับ
มะยมเงินมะยมทอง (Phyllanthus Mirabilis) / โขดเรียว ใบทรงรีสีออกแดง
แม้ว่ามะยมเงินมะยมทองจะไม่ได้จัดอยู่ในวงศ์ Sterculia แต่ก็เป็นไม้โขดอีกชนิดที่นิยมนำมาปลูกบนกระถางสวยๆ จนมีชื่อเรียกกันติดปากว่า มะยมโขด ถิ่นกำเนิดของมะยมเงินมะยมทองพบได้ทั้งในประเทศไทยและเมียนมา ลักษณะของต้นมีหัวเป็นโขด พบได้ทั้งแบบกลมและยืดสูงขึ้นไปหายอดแล้วแต่ความสมบูรณ์ของหัว ใบเรียวขนาดไม่ใหญ่มาก พอๆ กับใบมะยม สีออกแดงเช่นเดียวกับก้านที่แก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเช่นกัน มะยมเงินมะยมทองจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง เนื่องจากชื่อว่ามีคำว่าเงินและทอง เชื่อกันว่าหากปลูกไว้ในบ้านจะช่วยเรียกทรัพย์กลับเข้ามาในบ้าน ช่วงนี้ใครมีปัญหาเงินๆ ทองๆ ก็ลองยกไม้โขดพันธุ์นี้เข้าบ้านสักต้นดูครับ
เสน่ห์นางพิมพ์ (Sterculia Colorata) / โขดเหมือนรากไม้ ใบแตกออกเป็นแฉก
ไม้โขดในวงศ์เดียวกับ Sterculia มีชื่อเรียกหลากหลายพันธุ์ อาทิ โพธิ์ค้างคาว และ ปอแก้ว มีลักษณะแตกต่างจากไม้โขดชนิดอื่นๆ ตั้งแต่หัวจะมีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไป ผิวไม่เรียบเนียน ลักษณะใบมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับไม้โขดอื่นๆ รูปทรงแตกออกเป็นแฉกเหมือนปีกค้างคาว บางกลุ่มนำเสน่ห์นางพิมพ์ไปทำบอนไซก็มีให้เห็น อีกทั้งยังจัดเป็นไม้มงคลที่ช่วยในการปกป้องคุ้มครองและมอบโชคลาภให้แก่ผู้ปลูก เหมาะกับผู้ที่ทำการค้าขายและช่วยเรื่องเรียกลูกค้าได้ดี เผื่อใครอยากหนีจากธุรกิจแมวนางกวักก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลย
แห้วกระต่าย (Brachystelma Spec. Thailand) / โขดกลม ผิวเรียบ ใบเรียวยาว
พันธุ์ไม้โขดขนาดเล็กเมื่อเทียบกับไม้โขดชนิดอื่นๆ รูปทรงภายนอกจะคล้ายคลึงกับบัวบกโขดคือมีลักษณะกลม ผิวเรียบเนียน แต่ส่วนที่ต่างให้ดูที่ยอด เพราะแห้วกระต่ายจะแตกยอดเป็นก้านเล็กๆ และมีใบเรียวยาวเหมือนใบไผ่ ออกดอกสีแดง ส่วนหัวสามารถนำมารับประทานได้ด้วย คนสมัยก่อนนิยมนำมากินแก้ไข้ เคล็ดขัดยอก
ภาพ: Mossiata
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
ไม้โขดมีลักษณะเด่นอยู่ที่หัวหรือราก ใช้ในการสะสมน้ำและอาหารจนมีขนาดใหญ่ตามอายุ ส่วนยอดแตกใบออกเพื่อใช้สังเคราะห์แสง รูปทรงของใบแตกต่างกันตามชนิดของพันธุ์ ลักษณะของหัวก็สามารถใช้บ่งบอกอายุคร่าวๆ และพันธุ์ไม้โขดได้เช่นกัน ไม้โขดไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน เพราะมีหัวที่ช่วยในการสะสมน้ำและอาหารอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือแสงอาทิตย์ สังเกตได้ว่าต้นไหนที่ขาดแสงกิ่งก้านจะยืดยาวสูงขึ้นไปจนกว่าจะพอมีแสงให้พืชช่วยปรุงอาหารได้ ความสนุกของการปลูกไม้โขดจึงเป็นการบ่มเพาะช่วงเวลาที่หัวค่อยๆ เติบโตไปพร้อมๆ กับฟอร์มกิ่งก้านของยอดด้านบน เป็นศิลปะที่ใช้เวลาสร้างคุณค่าและมูลค่าในเวลาเดียวกัน