อาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก เป็นสัญญาณบอกเหตุของ ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ ในประเทศไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี และอาจมีอาการมองเห็นภาพซ้อนแบบเฉียบพลันควบคู่ไปด้วย ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง จะช่วยลดความพิการหรือเสียชีวิต
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองมีกระบวนการรักษาทั้งการให้ยาฉีดละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง หรือการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดสมองภายใน 24 ชั่วโมง โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก
ในประเทศไทย โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 และเป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะที่สำคัญอันดับ 2 พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง
หากเกิดโรคแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความพิการหลงเหลืออยู่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติ แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยลดความรุนแรงของโรคและความพิการลงได้
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ประชาชนจะต้องมีความรู้เรื่องปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค การป้องกัน การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อเกิดโรค โดยสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคนี้ได้ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ภาวะโรคอ้วน
ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการเตือนสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเองคือ อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก ตามัวเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก และต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง
อาการเหล่านี้มักเกิดอย่างเฉียบพลัน ในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว อาจเกิดอาการขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดอาการขึ้นหลายครั้ง ก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดอย่างถาวร
สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้นและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด จะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการได้ ปัจจุบันมีกระบวนการรักษาทั้งการให้ยาฉีดละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง และการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดสมองหากเป็นหลอดเลือดเส้นใหญ่อุดตันภายใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้สถาบันประสาทวิทยาจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้และความเข้าใจ โดยมีเสวนา เรื่อง ‘การดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมอง’ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผ่านรายการ NIT Talk ทาง Facebook Live สถาบันประสาทวิทยา