วานนี้ (23 กรกฎาคม) เป็นอีกครั้งที่พรรคแคมโบเดียนพีเพิลส์ (Cambodian People’s Party: CPP) ของ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ชนะการเลือกตั้งทั่วไปแบบแลนด์สไลด์ ต่ออายุให้เขาสามารถกุมอำนาจในกัมพูชาได้อีกสมัย หลังจากที่นั่งเก้าอี้นายกฯ มานานถึง 38 ปี
แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้สปอตไลต์ไม่ได้จับจ้องอยู่แค่ฮุน เซน เท่านั้น เพราะแสงไฟยังสอดส่องไปที่ ฮุน มาเนต บุตรชายคนโตของฮุน เซน ซึ่งผู้เป็นพ่อหมายมั่นปั้นมือว่าเขาจะมาเป็นผู้ที่สืบต่ออำนาจและนั่งเก้าอี้ผู้นำคนต่อไป ดังที่เขาเคยลั่นวาจาไว้ว่า พรรค CPP จะครอบงำและครองอำนาจนำในการเมืองกัมพูชาไปยาวนานกว่า 100 ปี
การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นการเปิดตัวฮุน มาเนต วัย 45 ปี บนเส้นทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหากย้อนกลับไปในปี 2021 ฮุน เซน เคยประกาศเอาไว้ว่า ลูกชายคนโตของเขาจะเป็น ‘ตัวเลือกแรก’ ในการสืบทอดตำแหน่งผู้นำ และในไม่ช้าพรรค CPP ของเขาก็จะให้การสนับสนุนฮุน มาเนต เป็น ‘นายกรัฐมนตรีในอนาคต’
และในขณะนี้ ฮุน มาเนต ก็ขยับเข้าใกล้เก้าอี้นายกฯ ไปอีกขั้น หลังจากที่โฆษกพรรค CPP ออกมาเปิดเผยว่า เขาสามารถคว้าที่นั่งในรัฐสภาได้สำเร็จในการเลือกตั้งวานนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เขามีโอกาสขึ้นครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้หากสภาลงมติเห็นชอบ
ผู้สังเกตการณ์หลายคนคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นการลงสนามด้วยตัวเองครั้งสุดท้ายของฮุน เซน และการถ่ายโอนอำนาจจากพ่อสู่ลูกจะเกิดขึ้นภายในช่วงไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ ซึ่งสื่อต่างชาติกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนเป็น ‘พิธีบรมราชาภิเษกมากกว่าการเลือกตั้ง’
หนุ่มนักเรียนนอก
ฮุน เซน ปูเส้นทางชีวิตให้ฮุน มาเนต มาอย่างดี เขามีประวัติทั้งด้านการศึกษาและเส้นทางอาชีพที่เพียบพร้อมตั้งแต่วัยเยาว์จนเติบใหญ่ ชายผู้นี้เติบโตและได้รับการศึกษาในกรุงพนมเปญ ก่อนเข้ารับราชการในกองทัพกัมพูชาปี 1995 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเขาได้เข้าโรงเรียนทหารสหรัฐอเมริกาที่เวสต์พอยต์ และเป็นชาวกัมพูชาคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้
ส่วนทางด้านวิชาการ ฮุน มาเนต จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol)
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2003 ฮุน มาเนต เคยกล่าวกับนักเขียนชีวประวัติของฮุน เซน ว่า เขาชื่นชมหลายแง่มุมของวัฒนธรรมอเมริกัน รวมถึง ‘วิถีชีวิตของผู้คนที่มีอิสรภาพและมีโอกาสที่จะทำตามสิ่งที่ตนเองปรารถนา’ รวมถึง ‘การยอมรับความหลากหลาย’ และ ‘การตัดสินสิ่งต่างๆ จากมุมมองที่แตกต่างกัน’
ส่วนประเด็นเรื่องการพัฒนาประเทศ ฮุน มาเนต แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศใดๆ ก็ตามจำเป็นต้องมีการพัฒนาขั้นต่ำก่อนจึงจะสามารถใช้ระบอบประชาธิปไตยได้ ขณะที่ในปี 2015 ฮุน มาเนต กล่าวกับสำนักข่าว ABC ว่า กัมพูชาต้องรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง ‘ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม’
ลี มอร์เกนเบสเซอร์ (Lee Morgenbesser) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (Griffith University) ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบเผด็จการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความเห็นว่า แม้ฮุน มาเนต จะได้รับการศึกษาแบบตะวันตก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะกลายเป็นผู้ปกครองประเทศที่เดินทางสายกลางหรือแตกต่างจากผู้เป็นพ่อ
“ทุกๆ ครั้งที่ลูกชายของเผด็จการขึ้นสืบต่ออำนาจจากผู้เป็นพ่อ ผู้คนมักจะมองว่าเขาอาจมีศักยภาพมากพอในการเข้ามาปฏิรูปประเทศ เขาจะเป็นผู้นำที่ประนีประนอม เขาจะเป็นผู้นำที่มีหัวก้าวหน้า เขารับเอามุมมองของชาติตะวันตกมา…แต่มุมมองพวกนี้ไม่เคยเป็นจริงเลย” มอร์เกนเบสเซอร์กล่าว
(ต้อง) เดินตามรอยเท้าพ่อ
นอกเหนือจากประวัติด้านการศึกษาที่แสนสมบูรณ์แบบแล้ว ในด้านวิชาชีพทหารก็เรียกได้ว่าโดดเด่นไม่แพ้กัน ฮุน มาเนต กุมหลายตำแหน่งสำคัญในกองทัพกัมพูชา ทั้งรองผู้บัญชาการหน่วยองครักษ์ของฮุน เซน, หัวหน้าหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย, ผู้บัญชาการกองทัพบก และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกัมพูชา
นอกเหนือจากนี้ ฮุน มาเนต ยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากพรรค CPP ให้เป็นประธานคณะทำงานเยาวชนกลาง และเป็นหนึ่งในกรรมการถาวรของพรรคอีกด้วย
ส่วนประวัติการทำงานในระดับสากลนั้น ในปี 2019 และ 2020 ฮุน มาเนต เคยมีโอกาสได้เข้าพบผู้นำต่างประเทศถึง 3 คน และหลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นเป็น 10 คนในปี 2022 หลังจากที่ฮุน เซน แย้มว่าเขาคือ ‘ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป’
ที่ผ่านมา ฮุน เซน เคยแสดงจุดยืนว่า เขาคาดหวังให้ฮุน มาเนต เดินตามรอยเท้าของตนเองด้วยการปกครองกัมพูชาตามสไตล์ของเขา เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นเขาอาจยึดอำนาจคืน โดยหนังสือพิมพ์ Phnom Penh Post เคยรายงานคำกล่าวของฮุน เซน ว่า “หากลูกชายของผมไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ผมจะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง”
เมื่อนักข่าวถามว่า การปกครองประเทศของฮุน มาเนต อาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่นั้น ฮุน เซน หัวเราะ และตอบกลับไปว่า “แบบไหนล่ะ ในเมื่อความแตกต่างหมายถึงการขัดขวางสันติภาพและทำลายความสำเร็จของคนรุ่นเก่า”
ภาพ: REUTERS / Cindy Liu
อ้างอิง: