×

GET ปักธงศึกส่งอาหาร เจาะตลาดแมส ปล่อยออริจินัลคอนเทนต์ 7 เมนูเอ็กซ์คลูซีฟ

07.08.2019
  • LOADING...
Get Food Delivery

ต้องยอมรับว่าตลาดธุรกิจส่งอาหาร ‘Food Delivery’ ในประเทศไทย พ.ศ. นี้มีการแข่งขันที่สูงและดุเดือดมากๆ สืบเนื่องจากทั้งปัจจัยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและสภาพแวดล้อมการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่าอัตราการเติบโตในตลาดนี้นั้นสูงกว่า 6 เท่าตัว

 

สำหรับ ‘GET’ แอปพลิเคชันไลฟ์สไตล์ออนดีมานด์ถือเป็นบริการน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ข้อได้เปรียบคือเป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับสตาร์ทอัพสัญชาติอินโดนีเซียที่ประสบความสำเร็จมาแล้วอย่าง ‘GoJek’ ปัจจุบันมีอายุมากกว่า 6 เดือน จุดเด่นอยู่ที่ความหลากหลายของบริการในแพลตฟอร์ม ทั้งเรียกมอเตอร์ไซค์วิน, ส่งของ, e-Wallet และสั่งอาหาร มียอดผู้ใช้งานรวมเฉลี่ยกว่า 500,000 รายต่อเดือน

 

โดย ‘บริการสั่งอาหาร’ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ระดับแฟลกชิปของ GET ที่มีส่วนแบ่งรายได้ในปัจจุบันครอบคลุมมากกว่า 50% ของบริษัท เมื่อนับจากช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมาจนถึงไตรมาส 2 นี้ พบว่า อัตราการเติบโตของยอดการใช้บริการสั่งอาหารผ่าน GET ก็สูงกว่า 168% ส่วนร้านอาหารจะเน้นไปที่กลุ่มสตรีทฟู้ดเป็นหลัก และมีให้เลือกมากกว่า 22,000 ร้าน ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในบางจุด ด้วยค่าสั่งเริ่มต้นที่ 10 บาท

 

จากการเปิดเผยของทีมผู้บริหาร GET แน่นอนว่าเมื่อบริการของพวกเขาขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven) เป็นหลัก แพลตฟอร์มของ GET จึงมีการปรับและเพิ่มฟีเจอร์การใช้งานต่างๆ ออกมาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ Localize และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มให้ได้มากที่สุด ซึ่งผู้ใช้ GET ในปัจจุบันสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย

 

1. Explorer (58%): เป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลักที่รู้ว่าเข้าแอปฯ ของ GET มาแล้วจะสั่งอาหารเมนูใด ซึ่งปัจจุบัน ก๋วยเตี๋ยว, ขนมปัง และส้มตำ ถือเป็น 3 เมนูยอดฮิตที่ถูกสั่งผ่านแพลตฟอร์มมากที่สุดตามลำดับ

2. Chillaxer (18%): กลุ่มผู้ใช้งานที่หิวแต่ไม่รู้จะเลือกทานหรือสั่งอะไร และจากร้านไหน

3. Routine Lovers (16%): กลุ่มผู้ใช้งานที่สั่งอาหารผ่านแอปฯ เป็นประจำ รู้ว่าจะเลือกทานอะไรในแต่ละมื้อ ร้านไหน และสั่งได้อย่างไร

 

ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET เปิดเผยว่า กลยุทธ์ของ GET ต่อจากนี้จะเน้นเจาะตลาดผู้ใช้งานกลุ่มกระแสหลัก (Mass) มากขึ้น เพื่อดึงผู้ใช้ในโลกออฟไลน์ให้หันมาใช้บริการสั่งอาหารผ่านแอปฯ เนื่องจากมองว่าคู่แข่งในตลาด Food Delivery ของ GET ไม่ใช่ผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ แต่คือโลกออฟไลน์ 

 

เริ่มต้นจากการเปิดตัวแคมเปญ ‘อยากกินอะไร สั่ง GET เลย’ และ ‘Only At GET’ สร้างออริจินัลคอนเทนต์ในรูปแบบเมนูอาหารสุดพิเศษ 7 เมนูจากเชฟและร้านอาหารชื่อดัง ที่ผู้บริโภคจะสามารถสั่งได้ผ่านแพลตฟอร์มของ GET เท่านั้น เพื่อสร้างประสบการณ์การสั่งอาหารที่ต่างออกไปจากเดิม เริ่มตั้งแต่ 8 สิงหาคม ถึง 7 กันยายนนี้ พร้อมเปิดตัวพรีเซนเตอร์คนแรก นนท์-ธนนท์ จำเริญ โดยต่อจากนี้จะเริ่มเดินเกมเน้นทำการตลาดสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคทั้งออฟไลน์และออนไลน์

 

เมื่อถามถึงภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจสั่งอาหารผ่านแอปฯ ภิญญาให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า การทำราคาค่าส่งอาหารที่ 10 บาทในวันนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ดุเดือดแค่ไหน ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ให้บริการต้องช่วยกันบิลด์ตลาดเพื่อให้ผู้ใช้งานหันมาใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก

 

อีกหนึ่งจุดต่างที่ทำให้ GET โดดเด่นเหนือคู่แข่ง อยู่ที่การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมและโนว์ฮาวจาก GoJek มาปรับใช้งานเพื่อ Localize ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้ใช้งานในไทยให้ได้มากที่สุด (จุดนี้น่าสนใจว่าจะนำ Cloud Kitchen เข้ามาใช้กับตลาดไทยหรือไม่) ขณะที่จนถึงสิ้นปีนี้ จะเน้นทำตลาดบริการสั่งอาหารเป็นหลัก ก่อนจะเปิดตัวบริการใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ร่วมเดินทางหรือรับส่งของในช่วงปีหน้า

 

ประเด็นที่น่าสนใจที่หลายคนให้ความสนใจมากที่สุดคือ การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์มาใช้วัสดุประเภทที่ย่อยสลายได้ด้วยตัวเองและไม่ใช่พลาสติก ซึ่งในวันที่บริการสั่งอาหารผ่านแอปฯ ได้รับความนิยมมากขึ้น ขยะพลาสติกจำพวกบรรจุภัณฑ์อาหารก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยตอนนี้มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่เห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าว ขณะที่ GET มองว่าแนวคิดบรรจุภัณฑ์ก็เป็นสิ่งที่ GET เล็งเห็นเช่นเดียวกัน แต่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณานำมาปรับใช้จริง ซึ่งอาจจะเริ่มต้นกับร้านอาหารที่มีแนวร่วมเดียวกันและเข้าใจความสำคัญของประเด็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X