โจทย์สำคัญที่สตาร์ทอัพและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ทั่วโลกต้องเผชิญไม่ต่างกันคือการหา ‘จุดคุ้มทุน’ ที่ธุรกิจของตัวเองจะเริ่มทำกำไรและรายได้ให้กับบริษัท เพราะขึ้นชื่อว่าสตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่แทบทุกรายก็มักจะต้องเสียเวลาและยอม ‘เผาเงิน’ ไปกับการทำการตลาดโปรโมตคนให้มาใช้บริการเป็นหลักเพื่อหวังน้ำบ่อหน้าในอนาคต
ซึ่งตัวอย่างของสตาร์ทอัพที่ล้มเหลวและระส่ำบนเส้นทางนี้ก็มีให้เห็นมาแล้ว เช่น WeWork สตาร์ทอัพผู้ให้บริการเช่าพื้นที่โคเวิร์กกิ้งสเปซ
ขณะที่ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี หรือไรด์เฮลลิงเองก็เผชิญปัญหาการเผาเงินเพื่อให้ผู้ใช้บริการเริ่มติดใจและใช้บริการของพวกเขาไม่ต่างกัน โดยทุกวันนี้ ภิญญา นิตยาเกษรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET ประเทศไทย ก็ยอมรับว่าธุรกิจของพวกเขาหรือแม้แต่ผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ก็ยังไม่เริ่มทำกำไร
แต่ประเด็นสำคัญที่ภิญญามองก็คือ ธุรกิจส่งอาหารเริ่มมีแนวโน้มจะเป็นธุรกิจที่ ‘ใหญ่เกินจะล้มเหลว’ ไปแล้ว เนื่องจากจะมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ใช้บริการ พาร์ตเนอร์คนส่งอาหาร และพาร์ตเนอร์ร้านอาหาร โดยแนวคิดที่ทำให้ GET จะอยู่กับประเทศไทยได้ยั่งยืนคือการเน้นทำจำนวน Transaction ให้สูงขึ้น (จำนวนการทำธุรกรรมและออร์เดอร์การสั่งอาหาร) ทำให้คนขับมีงานมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน เช่นเดียวกับพาร์ตเนอร์ร้านอาหารที่จะต้องมีรายได้โตตามไปด้วย
โดยหลังจากที่ GET ได้เริ่มต้นให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พวกเขามียอดออร์เดอร์รวมกว่า 10 ล้านทริปแล้ว พร้อมด้วยจำนวนคนขับที่เพิ่มขึ้น 4 เท่าเป็น 40,000 ราย นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้ร้านอาหารที่เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับ GET เติบโตขึ้นในเชิงรายได้อย่างน้อย 4 เท่าแล้ว
ส่งผลให้กลยุทธ์หลักที่ GET จะเน้นในปี 2020 นี้คือ ‘การเติบโตแบบยั่งยืน’ หลังจากที่ในปี 2019 ที่ผ่านมานี้ได้เน้นการขยายฐานลูกค้าให้เติบโตไปแล้ว โดยภิญญามองว่า คำว่ายั่งยืนคือ GET จะต้องมีผู้ใช้บริการมาใช้บริการผ่านแอปฯ ของพวกเขาบ่อยและถี่, สร้างคอมมูนิตี้คนขับให้แข็งแรงและเพิ่มความหลากหลายให้กับพาร์ตเนอร์ร้านอาหารในแต่ละพื้นที่ให้บริการ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยพัฒนารากฐานธุรกิจของ GET มีประสิทธิภาพในระยะยาวมากยิ่งขึ้น
ภิญญายังบอกอีกด้วยว่า ในปี 2020 นี้ GET ประเทศไทยจะเริ่มให้บริการ ‘GET PAY’ e-Wallet ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึง ‘GET RUNNER’ บริการเดินส่งอาหารในระยะทางสั้นเพื่อช่วยให้อาหารส่งถึงมือผู้บริโภคได้เร็วขึ้น ขณะที่คนส่งก็ไม่มีต้นทุนการให้บริการ โดยที่ผ่านมาได้เริ่มทดสอบการให้บริการไปแล้วบางส่วนพบว่าน่าพอใจ ระยะเวลาเฉลี่ยการส่งอาหารอยู่ที่ 19 นาที ซึ่งเร็วกว่าเวลาเฉลี่ยส่งอาหารทั่วไปที่ 28 นาที
นอกจากนี้ด้วยฐานข้อมูลที่ GET ให้บริการและเก็บจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง พวกเขายังมีแพลนจะต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้อีกมหาศาล ตัวอย่างเช่น การปล่อยสินเชื่อกู้ยืม หรือสินเชื่อรายย่อย กับคนขับหรือพาร์ตเนอร์ร้านค้า เป็นต้น
สำหรับบริการเรียกรถยนต์ไรด์เฮลลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET มองว่ายังมีข้อจำกัดในเชิงการให้บริการอีกพอสมควรเมื่อเทียบกับรถจักรยานยนต์ 2 ล้อ ทั้งการปลดล็อกข้อกฎหมาย จำนวนผู้ใช้บริการ และการหา ‘พื้นที่ตรงกลาง’ ที่จะทำให้ทั้งผู้ให้บริการเดิม (แท็กซี่) คนขับรถ และผู้ใช้บริการเกิดความพึงพอใจมากที่สุด ซึ่งในไตรมาส 1 ของปี 2020 ที่จะถึงนี้อาจจะยังเป็นไปได้ยาก แต่ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่เราอาจจะได้เห็นบริการในกลุ่มนี้จาก GET ออกมาสู่ตลาด
ภิญญายังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ในอนาคตพวกเขาอยากพัฒนาให้แอปพลิเคชันของ GET สามารถใช้งานได้อย่างเสรีและไร้รอยต่อในภูมิภาคอาเซียน (เหมือนที่ Uber หรือ Grab ทำได้) รวมถึงการเบลนด์บริการดีๆ จากบริษัทแม่ในอินโดนีเซียอย่าง Go-Jek เข้ามาช่วยต่อยอด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า