×

‘มันจบแล้วโยกี้’ เสียงนกหวีดที่ดังขึ้นก่อนหมดเวลาและภารกิจสุดท้ายของ โยอาคิม เลิฟ

02.04.2021
  • LOADING...
Opinion-Goal-of-Life

‘มันจบแล้วโยกี้’ เป็นพาดหัวของบทความในหนังสือพิมพ์ Bild ที่เขียนโดย มัตธิอัส บรูเกิลมันน์ ที่สื่อความหมายชัดเจนและไม่ต้องตีความอะไรให้ซับซ้อนสำหรับผลงานของ โยอาคิม เลิฟ เทรนเนอร์ทีมชาติเยอรมนี

 

บรูเกิลมันน์บอกว่า นี่เป็นความปราชัยที่น่าอับอายครั้งที่ 3 ของ Die Mannschaft (สมญาทีมชาติเยอรมนี) ภายใต้การคุมทีมของบุนเดสเทรนเนอร์คนนี้

 

หนที่หนึ่งคือการตกรอบฟุตบอลโลกในรอบแรกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งพวกเขาเดินทางไปแข่งขันในฐานะแชมป์เก่า

 

ครั้งต่อมาคือการพ่ายแพ้ต่อกองเรือ Spanish Armada ทีมชาติสเปนถึง 0-6 เป็นความพ่ายแพ้ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1931

 

และล่าสุดที่เกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนหน้านี้ คือการพ่ายแพ้ต่อนอร์ธ มาซิโดเนีย (หรือทีมชาติมาซิโดเนียเดิม) ทีมชาติอันดับที่ 65 ของโลกคาบ้านของตัวเอง 1-2 

 

Bild ไม่ได้เป็นสื่อเดียวที่วิพากษ์ผลงานของเลิฟและทีมอินทรีเหล็กแบบรับไม่ได้ครับ เพราะยังมี Die Zeit และ Kicker ที่กระโดดเข้าร่วมวงตะลุมบอนบุนเดสเทรนเนอร์กันยกใหญ่ ไม่นับเสียงวิจารณ์บนโลกออนไลน์ที่หากจะให้เปรียบเทียบแล้วก็คงไม่ต่างอะไรจากในวันที่ทีมชาติไทยแพ้ทีมรองบ่อนสักทีม ที่เราเชื่อว่าเราน่าจะชนะพวกเขาได้ไม่ยาก

 

ความจริงสถานการณ์ของเลิฟและทีมชาติเยอรมนีในช่วงก่อนหน้านี้ถือว่าผ่อนคลายลงมาบ้างแล้วนะครับ

 

เพราะหลังผลงานไม่สู้ดีมาสักระยะใหญ่ บรรยากาศก็เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา เมื่อเลิฟประกาศก่อนจะนำทีมลงสนามในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกช่วงโปรแกรมทีมชาติที่ผ่านมาว่า เขาตั้งใจที่จะยุติการทำหน้าที่ในฐานะบุนเดสเทรนเนอร์ (คำเรียกของโค้ชทีมชาติเยอรมนี) หลังจบศึกฟุตบอลยูโร 2020 ที่ต้องมาแข่งกันในปี 2021 

 

เป็นการบอกลาตำแหน่งล่วงหน้าก่อนที่สัญญาจะหมดเวลาลง 1 ปีด้วยกัน

 

โมงยามหลังการประกาศการตัดสินใจเหมือนเยอรมนีจะกลับมาเกิดใหม่ พวกเขาเอาชนะไอซ์แลนด์และโรมาเนียได้ แต่ทุกอย่างก็สลายไปอย่างรวดเร็วหลังความพ่ายแพ้ในเกมล่าสุด

 

นั่นเป็นที่มาของเสียงวิจารณ์ โดยเฉพาะกับคำพูดที่ชัดเจนจาก Bild ซึ่งแทนความรู้สึกของแฟนฟุตบอลชาวเยอรมนี

 

พวกเขาไม่ต้องการอดทนรอเลิฟไปจากตำแหน่งหลังจบศึกฟุตบอลยูโรกลางปีนี้

 

ไปตอนนี้เสียเลยได้ไหม… นี่ต่างหากที่พวกเขาต้องการ

 

สถานการณ์ของเลิฟเป็นเครื่องสะท้อนสอนสัจธรรมบนโลกได้ดีทีเดียวนะครับว่าไม่ว่าจะเก่งจากไหน ต่อให้เคยขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของโลกแล้ว ไม่มีใครที่หนีความเปลี่ยนแปลงพ้น

 

และทุกเรื่องดีๆ นั้นมีวันจบ

 

การทำงานของเลิฟกับทีมชาติเยอรมนีเองเป็นหนึ่งใน ‘ปริศนา’ ที่น่าขบคิด

 

อะไรที่ทำให้เขาทำงานกับทีมชาติมาอย่างยาวนานถึง 15 ปี นับตั้งแต่เสร็จสิ้นศึกฟุตบอลโลก 2006 ในบ้านเกิดที่เยอรมนี ซึ่งแม้ว่า เจอร์เกน คลินส์มันน์ จะเป็นบุนเดสเทรนเนอร์ แต่หลายคนเชื่อว่าคนที่อยู่เบื้องหลังของผลงานที่ดีเกินกว่าคาด (เพราะเยอรมนีในยามนั้นอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัวใหม่) ก็คือกุนซือหนุ่มในเวลานั้นคนนี้

 

ในเรื่องของผลงานการพาทีมเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลยูโร 2008 ซึ่งเป็นรายการระดับเมเจอร์ครั้งแรกของเขา และจบด้วยการเป็นรองแชมป์ (วันนั้นผมอยู่ในสนามนัดชิงที่แอร์นสท์ ฮัปเปล สตาดิโอน ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียด้วย) ถือเป็นผลงานที่น่าประทับใจ ต่อด้วยการเข้าถึงรอบรองชนะเลิศของฟุตบอลโลก 2010 และฟุตบอลยูโร 2012

 

เลิฟทำภารกิจของเขาสำเร็จ เมื่อพาเยอรมนีผงาดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาครองได้สำเร็จในปี 2014 บนแผ่นดินบราซิล ซึ่งทำให้เป็นชาติจากยุโรปชาติแรกที่บุกไปคว้าแชมป์โลกได้ถึงแผ่นดินลาตินอเมริกา (และสร้างบาดแผลครั้งใหญ่ให้ชาวแซมบ้าด้วยการถล่มทีมของพวกเขาในรอบรองชนะเลิศถึง 7-1!) ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว

 

ความจริงจุดนั้นคือจุดที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเลิฟควรจะพอหลังเดินทางมาถึงจุดสูงสุดแล้ว และเดเอฟเบก็ควรจะปล่อยตัวเขาไปเพื่อหาคนใหม่เข้ามาคุมทีมแทน

 

เวลามันควรจะหมดลงตั้งแต่วันนั้นแล้ว

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือต่างฝ่ายต่างยังยื้อกันอยู่ โดยมีการต่อสัญญากันต่อเนื่องจากฟุตบอลโลก 2014 มาถึงฟุตบอลยูโร 2016, คอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2017, ฟุตบอลโลก 2018 และรายการที่กำลังจะมาถึงคือฟุตบอลยูโร 2020

 

ยื้อกันจนคนเมืองเบียร์แทบจะบ่นเป็นภาษาอีสานบ้านเฮาแล้วว่า “เบิดคำสิเว่า”

 

เยอรมนีไม่มีคนมีฝีมืออีก? ก็ไม่น่าใช่ เราได้เห็นแล้วว่ากุนซือเลือดด็อยชต์นั้นยอดเยี่ยมแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็น เจอร์เกน คล็อปป์, โธมัส ทูเคิล หรือปีกลายกับ ฮันซี ฟลิก ไม่นับระดับซือแป๋อย่าง ราล์ฟ รังนิก ที่หากจะให้ถอยลงมารับตำแหน่งเป็นบุนเดสเทรนเนอร์ก็ไม่น่ามีปัญหา

 

เพราะโดยธรรมชาติของการเป็นโค้ชทีมชาติแล้ว ส่วนใหญ่มักจะมีอายุการใช้งานไม่นานมาก แต่กรณีของเลิฟนั้นยาวนานถึง 15 ปี ทำให้เขาเป็นโค้ชทีมชาติที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก

 

ลองจินตนาการดูครับว่าหากทำงานแบบเดิมๆ ต่อเนื่องกันมาถึง 15 ปี ต่อให้เป็นคนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเองแต่ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนี้มีหรือที่ไฟจะไม่มอด

 

และการจะจุดไฟให้ลุกโชนขึ้นใหม่ก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำกันได้โดยง่ายด้วย

 

คนในวงการฟุตบอลเยอรมนีดูออกว่าตอนนี้เลิฟเองก็อ่อนแรง หากเปรียบเป็นไฟก็ริบหรี่ใกล้มอดเต็มที

 

สิ่งที่แย่กว่าคือเขาดูสับสนในแนวทาง วิถีทาง และการตัดสินใจ โดยเฉพาะการตัดสินใจที่จะเดิมพันกับนักฟุตบอลแห่งอนาคต ซึ่งความจริงไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่อะไร

 

แต่ในความเห็นของคนในวงการแล้วทุกคนคิดว่าการให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่นั้นอาจจะดีขึ้นหากมีรุ่นพี่คอยประคับประคองไปด้วย

 

โธมัส มุลเลอร์ ซึ่งกลับมาเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมอีกครั้งเป็นหนึ่งใน ‘ไม้แก่’ ที่ถูกเลิฟตัดทิ้งออกจากทีม เช่นเดียวกันกับ เฌอโรม บัวเต็ง และ มัตส์ ฮุมเมิลส์

 

เลิฟเลือกจะหย่อนเมล็ดพันธุ์ใหม่อย่าง จามาล มูเซียลา ในวัย 18 ปี และฟลอเรียน เวิร์ตซ์ ในวัย 17 ปีแทน

 

ถ้าให้มอง นี่คือการเดิมพันครั้งสุดท้ายของเลิฟกับทีมชาติเยอรมนีครับ กับการให้โอกาสนักเตะสมัยใหม่ ไปจนถึงการทดลองอะไรใหม่ๆ

 

ต่อให้มันจะเป็นการกระทำที่ดูไม่เข้าท่าก็ตาม

 

เพราะขั้นต่ำที่สุดคนที่มารับตำแหน่งต่อจากเขา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็จะได้คอยรดน้ำพรวนดินเมล็ดพันธุ์ใหม่เหล่านี้ต่อ ไม่ต้องถึงกับวางรากฐานอะไรใหม่ให้วุ่นวายในอดีตที่วงการฟุตบอลเยอรมนีเคยเผชิญกับปัญหานักฟุตบอลทีมชาติอายุมากเกินไปจนสู้ชาติอื่นไม่ไหว

 

แต่มันจะดีกว่านี้หากเขาจะลดทิฐิและรับฟังเสียงจากคนอื่นบ้าง อย่างน้อยการขอให้พิจารณาโอกาสสำหรับคนที่ยังดีพอจะรับใช้ทีมชาติและน่าจะแก้ปัญหาให้ทีมได้เหมือนที่เขาทำได้กับบาเยิร์น มิวนิก อย่าง โธมัส มุลเลอร์ ก็จะช่วยทีมได้มาก

 

โดยเฉพาะในยามที่ไม่มีเด็กรุ่นใหม่คนไหนที่ฝากผีฝากไข้ได้เลยไม่ว่าจะเป็น ติโม แวร์เนอร์, ไค ฮาเวิร์ตซ์ หรือ แซร์จ นาบรี และ ลีรอย ซาเน

 

หากเขายอมรับฟังและเรียกใช้บริการแข้งอาวุโสบ้าง ก็ไม่แน่ที่ฟุตบอลยูโร 2020 นี้เยอรมนี ซึ่งเป็นชาติที่มักจะมีพลังแฝงยามเล่นรายการใหญ่เสมออาจจะพลิกจากทีมที่ดูไม่มีลุ้นกลายเป็นทีมที่มีลุ้นอีกครั้งก็เป็นไปได้ เพราะตามประวัติศาสตร์ก็มีหลายชาติที่ทำได้แบบนี้ (กรีซในยูโร 2004, อิตาลีในฟุตบอลโลก 2006 หรือโปรตุเกสในยูโร 2016)

 

คนเราเลือกได้นะครับว่าอยากจะให้คนจดจำตัวเองอย่างไร

 

เลิฟเองก็คงอยากให้คนจดจำเขาในทางที่ดี และจะสวยงามหากในโมงยามสุดท้ายของการทำหน้าที่เลิฟจะจากไปด้วยความทรงจำที่ดีต่อกัน

 

ไม่ใช่แฟนทีมชาติเยอรมนี แต่ก็แอบเอาใจช่วยอยู่เนืองๆ ครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising