×

เยอรมนีปฏิเสธข้อเสนอยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 แม้สหรัฐฯ เปลี่ยนใจมาสนับสนุน

โดย THE STANDARD TEAM
08.05.2021
  • LOADING...
เยอรมนีปฏิเสธข้อเสนอยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีน

เยอรมนีแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้มีการยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตรเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนใจหันมาให้การสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว 

 

รัฐบาลเยอรมนีระบุในแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดีว่า “การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาคือจุดกำเนิดของนวัตกรรม” พร้อมทั้งระบุว่า ข้อเสนอยกเว้นสิทธิบัตรที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการผลิตวัคซีนโดยรวม 

 

“ปัจจัยที่จำกัดการผลิตวัคซีนคือกำลังการผลิตและมาตรฐานคุณภาพสูง ไม่ใช่สิทธิบัตร” แถลงการณ์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า บรรดาบริษัทยากำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มการผลิต

 

เยอรมนีเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป และเป็นผู้นำในภาคอุตสาหกรรมเภสัชกรรม โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทยาและบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพรายใหญ่ หนึ่งในนั้นรวมถึง BioNTech ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ร่วมกับ Pfizer

 

สำหรับแนวคิดที่ให้มีการยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตรถูกเสนอโดยอินเดียและแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มประเทศประมาณ 60 ประเทศในองค์การการค้าโลก (WTO) โดยประเทศกลุ่มนี้กำลังผลักดันให้มีการยกเลิกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับวัคซีนเป็นการชั่วคราว เพื่อที่การผลิตวัคซีนโควิด-19 จะได้ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงประเทศร่ำรวย แต่จะช่วยให้มีผู้ผลิตจำนวนมากขึ้น ได้ผลิตวัคซีน และจะเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในประเทศที่ยากจน

 

ในตอนแรกข้อเสนอดังกล่าวได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อนภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป แต่ข้อเสนอนี้เริ่มได้รับการผลักดันมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันโดยการนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปลี่ยนใจหันมาให้การสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวในสัปดาห์นี้

 

เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก กล่าวกับรายการ Newshour ของ BBC ว่า เธอยินดีที่แผนการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เนื่องจากปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านวัคซีนที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

 

ด้านสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่าพร้อมที่จะพูดคุยเกี่ยวกับข้อเสนอนี้ และประเทศสมาชิกบางประเทศก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

 

โดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อูร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน กล่าวว่า EU พร้อมที่จะหารือข้อเสนอเรื่องการยกเว้นสิทธิบัตร ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของประเทศสมาชิก EU เช่น ฝรั่งเศสและอิตาลีให้การสนับสนุนข้อเสนอนี้อย่างเต็มที่

 

ทั้งนี้มีรายงานว่าประเด็นนี้ถูกกำหนดให้เป็นวาระการประชุม EU ที่จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันในสัปดาห์นี้

 

สำหรับท่าทีของประเทศอื่นๆ นอกสหภาพยุโรปนั้น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียกล่าวว่า เขาสนับสนุนแนวคิดเรื่องการยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตร

 

ขณะที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่ากำลัง “ทำงานร่วมกับสมาชิก WTO เพื่อแก้ไขปัญหานี้” และอยู่ระหว่างการ “หารือกับสหรัฐอเมริกาและสมาชิก WTO เพื่ออำนวยความสะดวกในการผลิตและจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้น”

 

ทั้งนี้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศโอดครวญว่ากฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ประเทศต่างๆ ต้องปกป้องสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบอื่นๆ นั้นเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มการผลิตวัคซีนและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการรับมือกับการแพร่ระบาด และทำให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนวัคซีน จนนำมาสู่การเรียกร้องให้ประเทศอุตสาหกรรมยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีน

 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมยาและเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ช่วยแก้ปัญหา

 

โทมัส เควนี ประธานสมาพันธ์ผู้ผลิตและสมาคมยาระหว่างประเทศ กล่าวกับรายการ Today ของ BBC ว่า เขากังวลอย่างยิ่งว่าการยกเว้นสิทธิบัตรจะทำให้คุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนนั้นลดลง

 

บรรดาบริษัทยาให้เหตุผลที่ไม่สนับสนุนแผนการดังกล่าวว่า แผนการดังกล่าวก็เหมือนกับการแจกสูตรโดยไม่แบ่งปันวิธีการหรือส่วนผสม ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่ปัญหาด้านคุณภาพและการผลิตที่มีประสิทธิภาพลดน้อยลง

 

อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปกลับเห็นดีกับระบบการออกใบอนุญาต ซึ่งเปิดทางให้มีการแบ่งปันความรู้และมีการกำกับดูแลมากขึ้น โดยได้ดำเนินการในลักษณะนี้ไปบ้างแล้ว เช่น ความร่วมมือระหว่าง Oxford-AstraZeneca กับสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย 

 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งกล่าวว่า บริษัทยาจะต้องแบ่งปันความรู้ เช่น เทคนิคการผลิตกับประเทศที่ยากจนกว่าเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่แท้จริง

 

ภาพ: Tobias Schwarz – Pool / Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising