×

ประมวลเหตุการณ์เยอรมนีทลายแผนรัฐประหาร จับกลุ่มขวาจัดที่มีแกนนำอ้างเป็น ‘เจ้าชาย’ หวังสถาปนาจักรวรรดิใหม่

08.12.2022
  • LOADING...
เยอรมนี

กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก หลังจากที่วานนี้ (7 ธันวาคม) ทางการเยอรมนีได้ปฏิบัติการจับกุมสมาชิกกลุ่มขวาจัด 25 คน ที่วางแผนอุกอาจด้วยการเตรียมบุกอาคารรัฐสภาในกรุงเบอร์ลิน เพื่อก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล และมีเป้าหมายใหญ่ถึงขั้นต้องการสถาปนาจักรวรรดิเยอรมนีขึ้นใหม่

 

หลังการจับกุม ทางการเยอรมนีเปิดเผยว่า กลุ่มขวาจัดสุดโต่งนี้มีชื่อว่า ขบวนการ ‘ไรคส์เบอร์เกอร์ (Reichsbürger)’ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 2 หมื่นคน และวางแผนสำหรับ ‘วันก่อการ’ หรือ ‘Day X’ มานานนับเดือน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


สิ่งที่น่าตกใจคือ ในบรรดาแกนนำขบวนการที่ถูกจับกุมได้นั้น มีชายที่เป็นสมาชิกตระกูลขุนนางเก่า ซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘เจ้าชาย’ รวมถึงอดีตนักการเมือง และอดีตทหารพลร่ม ขณะที่ยังพบว่า มีความพยายามขอการสนับสนุนจากรัสเซียในเรื่องนี้ด้วย

 

เหตุการณ์ระทึกที่เรียกได้ว่าเป็นเหมือนบทภาพยนตร์นี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร และกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังแผนการ มีแนวคิดและความเชื่ออย่างไร ถึงต้องการโค่นล้มอำนาจของรัฐบาลประชาธิปไตย ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจหลักของยุโรป 

 

ทลายแผนรัฐประหาร

 

ปฏิบัติการสกัดแผนรัฐประหาร เริ่มต้นในช่วงรุ่งสางของวัน โดยตำรวจเยอรมนีกว่า 3,000 นาย นำกำลังบุกเข้าค้นมากกว่า 130 สถานที่ จาก 11 รัฐทั่วประเทศและจับผู้ต้องสงสัยได้ 25 คน รวม 2 คน ที่จับกุมได้ผ่านการประสานงานกับทางการอิตาลีและออสเตรีย 

 

การสืบสวนของทางการในแผนรัฐประหารดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่แน่ชัด แต่คาดว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยทั้งหมด ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการไรคส์เบอร์เกอร์ นั้นถูกจับตามองจากทางการเยอรมนี ที่เฝ้าระวังการก่อเหตุรุนแรง และแนวคิดที่อันตราย ทั้งทฤษฎีต่อต้านยิวและแบ่งแยกเชื้อชาติ และการปฏิเสธที่จะยอมรับรัฐเยอรมนียุคใหม่

 

ผู้ต้องสงสัยหลายคนที่ถูกจับกุมนั้นมาจากขบวนการ ‘คิวอะนอน (QAnon)’ ที่สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งเชื่อว่าประเทศนั้นตกอยู่ในเงื้อมมือของ ‘รัฐลึก (Deep State)’ หรืออำนาจลับที่ชักจูงการเมืองอยู่เบื้องหลัง และเป็นแนวคิดเดียวกับกลุ่มผู้ที่ถูกจับกุม ในเหตุการณ์บุกรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2021

 

สำนักงานข่าวกรองของเยอรมนี จับตามองความเคลื่อนไหวของขบวนการไรคส์เบอร์เกอร์ มาตั้งแต่ปี 2016 และพบว่ามีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในปีที่แล้ว 

 

โดยปัจจุบัน ทางกลุ่มมีสมาชิกที่เรียกตนเองว่า ‘พลเมืองแห่งอาณาจักรไรคส์ (Citizens of the Reich)’ มากถึงราว 2.1 หมื่นคน และมีการนำเสนอแนวคิดและความเชื่อที่เป็นอันตรายในระดับสูง

 

ข้อมูลข่าวกรองยังพบว่า มีโอกาสสูงที่จะเกิดการก่อเหตุรุนแรงโดยกลุ่มไรคส์เบอร์เกอร์ และที่น่าเป็นห่วงคือ ‘สมาชิกประมาณ 500 คนในกลุ่มนี้ มีใบอนุญาตพกอาวุธปืนอย่างน้อยหนึ่งใบ’ 

 

ด้านอัยการสูงสุดระบุว่า บรรดาพลเมืองแห่งอาณาจักรไรคส์ มีการจัดประชุมลับและซ้อมยิงปืนเพื่อเตรียมการรัฐประหารมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 โดยในแผนของพวกเขา ไม่ลังเลที่จะใช้กำลังหรือการฆาตกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมาย

 

ขณะที่โฆษกหน่วยข่าวกรองของกองทัพเยอรมนี เปิดเผยต่อสำนักข่าว Reuters ว่ามีทหารที่ยังประจำการนายหนึ่ง และทหารกองหนุนอีกหลายนาย อยู่ในกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งหลายคนรับหน้าที่จัดหาอุปกรณ์และรับสมาชิกใหม่ พร้อมทั้งสอนยิงปืนให้ผู้ร่วมขบวนการ และมุ่งเน้นเป้าหมายหลักในการหาสมาชิกไปที่กลุ่มทหารและตำรวจ

 

โดยทหารที่ยังประจำการดังกล่าว พบว่าเป็นสมาชิกในหน่วย KSK ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษชั้นยอดที่ได้รับการยกเครื่องใหม่ เพื่อรับมือกับการก่อความวุ่นวายของกลุ่มขวาจัดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งตำรวจได้บุกค้นที่พักของเขาในเมืองคาล์ว ใกล้กับสตุตการ์ต

 

สำหรับเป้าหมายอื่นของขบวนการไรคส์เบอร์เกอร์หากการรัฐประหารสำเร็จ นอกเหนือจากการตั้งรัฐบาลเงา ยังมีแผนตั้งหน่วยงานหลักหรือกระทรวงที่ดูแลด้านการต่างประเทศ สุขภาพ และความยุติธรรมด้วย

  

ด้าน แนนซี เฟเซอร์ (Nancy Faeser) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเยอรมนี ประกาศภายหลังปฏิบัติการบุก โดยยืนยันว่ารัฐบาลเยอรมนีจะตอบโต้ศัตรูของระบอบประชาธิปไตยด้วยกฎหมายอย่างเต็มกำลัง

 

“การสืบสวนทำให้มองเห็นก้นบึ้งของภัยคุกคามการก่อการร้ายจากกลุ่มไรคส์เบอร์เกอร์” เฟเซอร์กล่าวในแถลงการณ์ พร้อมเสริมว่า รัฐตามรัฐธรรมนูญรู้วิธีที่จะป้องกันตัวเองจาก ‘ศัตรูของประชาธิปไตย’

 

โดยหลังจากนี้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เธอจะเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งจะทำให้การปลดลูกจ้างรัฐที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูกับรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น

 

ทางด้าน วูล์ฟกัง คูบิกกี (Wolfgang Kubicki) รองประธานสภาเยอรมนี เปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์ Rheinische Post ว่าอาคารรัฐสภามีการเตรียมพร้อมรับมือกับการโจมตี และพวกเขาตระหนักถึงสถานการณ์ภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นแผนของกลุ่มไรคส์เบอร์เกอร์ จึง ‘ล้มเหลว’ ตั้งแต่เริ่มคิด

 

เจ้าชาย อดีตทหาร และนักการเมือง

 

แกนนำหลักของแผนรัฐประหารดังกล่าว เป็นชายวัย 71 ปี ที่เรียกตัวเองว่า ‘เจ้าชายไฮน์ริชที่ 13’ ซึ่งถูกวางตัวให้ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ หากการยึดอำนาจประสบความสำเร็จ 

 

โดยเขามาจากตระกูลรอยส์ (House of Reuss) ตระกูลขุนนางที่เคยปกครองดินแดนส่วนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่ารัฐทือริงเงิน (Thüringen) ทางภาคกลางของเยอรมนี จนถึงปี 1918 ซึ่งเด็กชายทุกคนที่ถือกำเนิดในตระกูลนี้ จะถูกเรียกชื่อว่าไฮน์ริช และกำหนดคำต่อท้ายเป็นตัวเลข และเมื่อครอบครัวถึงหนึ่งร้อยคนจึงเริ่มนับใหม่อีกครั้ง 

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจได้ว่าตระกูลรอยส์นั้น ได้ตีตัวออกห่างจากไฮน์ริชที่ 13 มานานแล้ว รายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่า คนในตระกูลเรียกเขาว่า “ชายผู้สับสนซึ่งไล่ตามทฤษฎีสมคบคิดมากมาย”

 

ทั้งนี้ ระบอบกษัตริย์ของเยอรมนีถูกยกเลิกไปเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อน หลังรัฐธรรมนูญไวมาร์มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 1919 โดยสิทธิพิเศษทางกฎหมายและตำแหน่งขุนนางเยอรมันก็ถูกลบออกเช่นกัน ทำให้ปัจจุบัน ข้อมูลอย่างเป็นทางการนั้นชัดเจนว่า ‘ไม่มีทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิง’ ในเยอรมนี 

 

ขณะที่ตอนนี้ เขาอยู่ระหว่างการควบคุมตัวโดยทางการเยอรมนี ซึ่ง จาค็อบ กูห์ล (Jakob Guhl) จากสถาบันเพื่อการเจรจาเชิงยุทธศาสตร์ (Institute for Strategic Dialogue: ISD) กล่าวว่า อดีตสมาชิกตระกูลขุนนางรายนี้ เป็นผู้นำที่ยึดเหนี่ยวสมาชิกขบวนการไรคส์เบอร์เกอร์เข้าด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Telegram ในการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่าย

 

นอกจากนี้ พบว่าไฮน์ริชที่ 13 ยังได้ติดต่อไปยังหลายบุคคลที่ระบุว่าเป็นตัวแทนจากรัสเซีย ผ่านทางบุคคลสัญชาติรัสเซียที่มีชื่อในเอกสารว่า Vitalia B. โดยมีจุดประสงค์เพื่อขอการสนับสนุนในการกำหนดระเบียบใหม่ในประเทศ หลังรัฐบาลเยอรมนีถูกโค่นล้ม แต่ไม่พบข้อบ่งชี้ว่า รัสเซียได้ตอบรับคำขอดังกล่าวในเชิงบวก ขณะที่รัฐบาลรัสเซียออกมาปฏิเสธว่าไม่สนับสนุนแผนก่อรัฐประหารดังกล่าว

 

ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมคนอื่นๆ รวมถึง รูดิเกอร์ วี. พี. อดีตทหารพลร่มสูงอายุชาวเยอรมัน ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้ากองกำลังทหารของจักรวรรดิใหม่หลังการรัฐประหารสำเร็จ โดยเขารับหน้าที่ชักชวนตำรวจและทหารเข้าเป็นสมาชิก และร่วมดำเนินการในแผนรัฐประหาร

 

นอกจากนี้ ตำรวจอิตาลียังได้จับกุมอดีตเจ้าหน้าที่กองทัพชาวเยอรมันวัย 64 ปีรายหนึ่งที่โรงแรมในเมืองเปรูจา และพบ ‘สิ่งที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมโค่นล้มรัฐบาล’ ซึ่งทางการอิตาลีได้ดำเนินการส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังเยอรมนีแล้ว

 

อีกคนที่น่าตกใจคือ เบอร์กิต มอลแซค วิงเคอมันน์ (Birgit Malsack-Winkemann) อดีต ส.ส. จากพรรคขวาจัด เอเอฟดี (Alternative for Germany: AfD) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในแผนรัฐประหาร และอยู่ในรายชื่อผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ในรัฐบาลชุดใหม่ หลังการรัฐประหารสำเร็จ

 

รู้จักขบวนการไรคส์เบอร์เกอร์

 

ขบวนการไรคส์เบอร์เกอร์ ก่อตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่ปฏิเสธระบบกฎหมายและรัฐสภาของเยอรมนี และส่วนใหญ่สนับสนุนการสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1871 ขึ้นใหม่อีกครั้ง

 

พวกเขาเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด ว่าพันธมิตรตะวันตกที่ได้รับชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังเอาชนะนาซีเยอรมนีได้นั้น ยังคงมีอำนาจลับชักจูงการเมืองและปกครองประเทศอยู่เบื้องหลังอย่างลับๆ

 

อย่างไรก็ตาม ไรคส์เบอร์เกอร์ไม่ใช่กลุ่มเคลื่อนไหวที่เป็นเนื้อเดียวกัน จากการศึกษาโดยมูลนิธิ Amadeu Antonio ในปี 2018 ระบุว่า ขบวนการไรคส์เบอร์เกอร์ คือ ‘กลุ่มนักอุดมการณ์ขนาดใหญ่และหลากหลาย ซึ่งมีนิสัยชอบใช้ความรุนแรงและแข็งกร้าวแตกต่างกัน’ 

 

ซึ่งทั้งหมดรวมกลุ่มกันด้วยความเชื่อว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีนั้นไม่ใช่รัฐอธิปไตย และพวกเขาปฏิเสธรัฐธรรมนูญและสถาบันของรัฐทั้งหมด

 

ในปี 2021 พลเมืองแห่งอาณาจักรไรคส์ราว 1,150 คน หรือคิดเป็นกว่า 5% ของสมาชิกทั้งหมดกว่า 2.1 หมื่นคน ถูกจัดให้เป็นกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัดสุดโต่ง

 

อีกหลายคนยังยึดถือองค์ประกอบของอุดมการณ์หัวรุนแรงขวาจัด หรือเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดต่อต้านชาวยิว และเชื่อในแนวคิดที่ว่า พรมแดนของเยอรมนีควรขยายออกไปให้ครอบคลุมดินแดนในยุโรปตะวันออก ซึ่งเคยถูกยึดครองภายใต้ยุคการปกครองของนาซี

 

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สมาชิกไรคส์เบอร์เกอร์ยังถูกดำเนินคดีจากการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งฆาตกรรมหรือพยายามฆ่า โดยคดีอาชญากรรมจากสมาชิกไรคส์เบอร์เกอร์ที่หน่วยข่าวกรองขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างปี 2020-2021

 

ขณะที่การประท้วงต่อต้านมาตรการเข้มงวด ในการป้องกันวิกฤตแพร่ระบาดของโควิดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นำมาซึ่งความรุนแรง และยังเพิ่มจำนวนสมาชิกขบวนการไรคส์เบอร์เกอร์ ตัวอย่างหนึ่งคือ การเดินขบวนของกลุ่ม ‘Freie Geister’ (วิญญาณอิสระ) ซึ่งผู้ประท้วงถือป้ายที่มีข้อความว่า ‘อำนาจอธิปไตย เพื่อเสรีภาพของประเทศของเรา’

 

ด้าน ติโม ไรน์แฟรงก์ (Timo Reinfrank) ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิ Amadeu Antonio กล่าวว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นเรื่องสุดโต่ง และผู้คนเริ่มเปิดรับแนวคิดหลักของไรคส์เบอร์เกอร์มากขึ้น ที่ว่าเยอรมนีไม่เสรี และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีอำนาจอธิปไตย”

 

ภาพ: Reuters / DPA / Picture Alliance

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising