×

‘เยอรมนี’ ค้านขยายขอบเขตแบนธนาคารรัสเซียจากระบบ SWIFT และไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย

10.03.2022
  • LOADING...
Germany

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เยอรมนีกลายเป็นมหาอำนาจชาติแรกในยุโรปที่ออกโรงคัดค้านการขยายขอบเขตมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินการธนาคารของรัสเซีย รวมถึงไม่เห็นด้วยกับแนวทางของสหรัฐฯ ในการแบนนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย  

 

รายงานระบุว่า รัฐบาลกรุงเบอร์ลินได้คัดค้านความพยายามที่จะเพิ่มรายชื่อธนาคาร Sberbank และ PJSC เข้าไปอยู่ในรายชื่อสถาบันการเงินของรัสเซียที่ถูกตัดออกจาก SWIFT โดย Sberbank ถือเป็นธนาคารที่บัญชีเงินฝากครึ่งหนึ่งของธนาคารเป็นของรายย่อยในรัสเซีย ดังนั้นจึงไม่ถูกรวมอยู่ในบัญชีต้องแบนจาก SWIFT ในรอบแรก

 

Bloomberg รายงานอ้างอิงเอกสารฉบับหนึ่งที่แสดงจุดยืนของเยอรมนีว่าไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มชื่อธนาคารดังกล่าวเข้าไปเพิ่มเติม ก่อนเรียกร้องให้มีการหารือทางการทูตอย่างจริงจัง

 

ด้านนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนียังเรียกร้องให้ยับยั้งการใช้มาตรการคว่ำบาตรที่อาจส่งผลกระทบต่อพลังงาน โดยเจ้าตัวไม่เห็นด้วยกับการแบนการนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย โดยพลังงานดังกล่าวถือเป็นสิ่งของ ‘จำเป็นสำคัญ’ ต่อเศรษฐกิจยุโรป และกล่าวอย่างชัดเจนว่าการนำเข้าพลังงานอย่างต่อเนื่องคือ ‘การตัดสินใจอย่างมีสติ’ ไม่ใช้อารมณ์ และสิ่งที่เยอมนีให้ความสำคัญก็คือการเลี่ยงที่จะเพิ่มความตึงเครียดภายในภูมิภาค

 

นักวิเคราะห์มองว่าท่าทีของเยอรมนีอาจจุดชนวนสร้างความแตกแยกในกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตก ที่พยายามจะเดินหน้าเพิ่มมาตรการลงโทษรัฐบาลรัสเซียในการบุกยูเครน นำโดยสหรัฐฯ ที่ออกมาประกาศกร้าวว่า สหรัฐฯ จะแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย โดยมีรัฐบาลนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษที่ขานรับเห็นด้วย

 

ในส่วนของความคืบหน้าด้านอื่นๆ มีรายงานว่าทางสหภาพยุโรป (EU) ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือยูเครนมูลค่า 1,200 ล้านยูโร โดยเงินงวดแรก 300 ล้านยูโรจะจัดส่งถึงยูเครนภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีกำหนดพิจารณาอนุมัติเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับยูเครน มูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ในวันนี้ (10 มีนาคม)

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X