วานนี้ (4 กันยายน) เยอรมนีประกาศทุ่มงบประมาณกว่า 6.5 หมื่นล้านยูโร เพื่อออกมาตรการลดผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น หลังยุโรปกำลังเผชิญกับวิกฤตพลังงานซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ท่ามกลางความวิตกกังวลว่ายุโรปอาจไม่มีพลังงานสำรองมากพอที่จะใช้ในช่วงฤดูหนาวนี้
โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า “เยอรมนีจะผ่านพ้นฤดูหนาวนี้ไปให้ได้” พร้อมย้ำว่า เขาทราบดีว่าชาวเยอรมันหลายคนกำลังประสบปัญหากับราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจแล้ว โดยเยอรมนีจะใช้รายได้ที่มาจากภาษีลาภลอย (Windfall Tax) จากบรรดาผู้ผลิตไฟฟ้าที่ทำกำไรมหาศาล มาช่วยลดราคาก๊าซ ถ่านหิน และน้ำมันสำหรับผู้บริโภค
ก่อนหน้านี้รัฐบาลเยอรมนีประกาศมอบเงิน 300 ยูโร เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่กลุ่มลูกจ้าง แต่ในรอบนี้ ผู้นำเยอรมนีเตรียมที่จะขยายความช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ผู้รับบำนาญจะได้รับเงินช่วยเหลือ 300 ยูโร ส่วนนักเรียนจะได้รับเงิน 200 ยูโร ขณะที่ธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานปริมาณมากราว 9,000 แห่ง จะได้รับการลดหย่อนภาษีรวมมูลค่าราว 1.7 พันล้านยูโร
นอกจากนี้รัฐบาลจะพัฒนาโครงการต่อจาก ‘ตั๋ว 9 ยูโร’ ซึ่งเป็นตั๋วเหมาสำหรับการเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะทั่วประเทศแบบไม่จำกัด โดยรัฐบาลได้ประกาศใช้งานตั๋วดังกล่าวในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น สำหรับโครงการใหม่ที่จะเปิดตัวนี้คาดว่าจะเป็นตั๋วรายเดือนที่มีราคาอยู่ที่ 49-69 ยูโร
ผู้นำเยอรมนีกล่าวว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคาพลังงานในเยอรมนีสูงขึ้น โดยระบุว่ารัสเซียได้ละเมิดสัญญาที่ทำเอาไว้ และเป็นซัพพลายเออร์พลังงานที่เชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป โดยในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนที่สงครามในยูเครนเปิดฉากขึ้นนั้น เยอรมนียังได้รับก๊าซจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วน 55% ของก๊าซทั้งหมด แต่ในปัจจุบัน สัดส่วนก๊าซจากรัสเซียเหลือเพียง 9.5% เท่านั้น ขณะที่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (3 กันยายน) รัสเซียประกาศระงับการส่งก๊าซให้ยุโรปผ่านท่อส่ง Nord Stream 1 อย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างเหตุผลว่าพบการรั่วไหลของน้ำมันที่บริเวณกังหันหลัก และขณะนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่าการซ่อมแซมจะเสร็จสิ้นลงเมื่อใด
ภาพ: Abdulhamid Hosbas / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: