×

จับตาเลือกตั้งเยอรมนี ที่จะนำการเปลี่ยนผ่านจากยุค ‘แมร์เคิล’ สู่นายกฯ คนต่อไป

26.09.2021
  • LOADING...

วันนี้ (26 กันยายน) เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) ของเยอรมนี และอาจจะถือได้ว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง เพราะจะเป็นการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งที่ยาวนาน 16 ปีของ แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ผู้เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของเสถียรภาพในยุโรป

 

นี่คือประเด็นสำคัญที่น่ารู้ในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

  • การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) ครั้งนี้มีชาวเยอรมันที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปกว่า 60.4 ล้านคนมีสิทธิเลือกตั้ง และแม้การเลือกตั้งในคูหาจะจัดขึ้นในวันนี้ แต่การเลือกตั้งทางไปรษณีย์ได้เริ่มไปก่อนหน้าแล้ว

 

  • สภาดังกล่าวมีสมาชิกอย่างน้อย 598 ที่นั่ง ที่ใช้คำว่า ‘อย่างน้อย’ ก็เพราะว่าจริงๆ แล้วจะมีการลงคะแนนเสียงสองคะแนนเสียงด้วยกัน คะแนนเสียงแรกคือการเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งซึ่งมี 299 ที่นั่ง และคะแนนเสียงที่สองคือการลงคะแนนเลือก ส.ส. จากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในแต่ละมลรัฐ ซึ่งจะมี ส.ส. ประเภทนี้ ‘อย่างน้อย’ อีก 299 ที่นั่ง ซึ่งจะมีการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่พึงมีของแต่ละพรรคจากคะแนนเสียงที่สอง แล้วกระจายสัดส่วนดังกล่าวลงไปในแต่ละมลรัฐ หากพรรคใดได้ ส.ส. เขตไม่ถึงจำนวน ส.ส. พึงมีดังกล่าวก็จะมีการเติม ส.ส. บัญชีรายชื่อเข้าไป และเนื่องจากลักษณะเช่นนี้จะทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมี ส.ส. เขตมากกว่า ส.ส. ที่พึงจะมี หรืออาจเรียกว่าเป็น ‘สมาชิกเกินส่วน’ ที่ทำให้จำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคผิดไปจากสัดส่วนที่ควรจะเป็น ก็จะทำให้มีการเติม ส.ส. เข้าไปให้พรรคอื่นๆ อีกเพื่อให้กลับมาใกล้เคียงกับสัดส่วนที่ควรจะเป็นให้มากที่สุด นั่นคือสาเหตุที่ทำให้จำนวน ส.ส. รวมนั้นมีโอกาสเกิน 598 ที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีกฎที่ระบุว่าพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อจะต้องได้คะแนนเสียงที่สองอย่างน้อยร้อยละ 5 หรือได้ ส.ส. แบ่งเขตอย่างน้อย 3 ที่นั่ง หรือเป็นพรรคการเมืองของชนชาติกลุ่มน้อย

 

  • แม้ผลการเลือกตั้งที่บอกว่าพรรคใดได้รับชัยชนะจะเห็นความชัดเจนในช่วงกลางคืนของวันเลือกตั้ง ทว่าผลการจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไปจะทราบได้ก็ต่อเมื่อพรรคผู้ชนะสามารถรวมเสียงข้างมากในรัฐสภาร่วมกับพรรคการเมืองอื่น 1-2 พรรคได้ ดังนั้นจึงยังไม่อาจทราบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ในทันที

 

  • โดยปกติกลุ่มพรรคร่วมที่มีที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดจะเลือกนายกรัฐมนตรี แต่การเจรจาร่วมรัฐบาลนั้นใช้เวลา เพราะฝ่ายต่างๆ ต้องตกลงร่วมกันและมีการต่อรองเรื่องการแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว สมาชิกสภาที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปใหม่ก็จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ

 

  • โพลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดระบุว่า มีสามพรรคหลักที่กำลังแข่งขันกันเพื่อให้ได้ที่นั่งมากพอที่จะเป็นผู้นำรัฐบาลผสมและเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป พรรคกลุ่มแรกก็คือพรรค Christian Democratic Union (CDU) และพรรคแนวร่วมในรัฐบาวาเรียอย่างพรรค Christian Social Union (CSU) ซึ่งขณะนี้ผู้นำพรรค CDU อย่าง อาร์มิน ลาสเชต ก็เป็นทายาททางการเมืองของ แองเกลา แมร์เคิล แต่ทว่าเขาต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้คะแนนเสียงมา โดยเฉพาะหลังจากที่เขาถูกจับภาพได้ว่าหัวเราะในระหว่างการเยี่ยมพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมในเดือนกรกฎาคม ส่วน มาร์คุส ซูดาร์ ผู้นำพรรค CSU ในบาวาเรียนั้นได้รับความนิยมมากกว่า แต่คู่แข่งในสายอนุรักษนิยมไม่น่าจะยกการเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ ให้กับเขา

 

  • พรรคต่อมาคือพรรคกลางซ้ายอย่าง Social Democratic Party (SPD) มี โอลาฟ ชอลซ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันเขาเป็นรัฐมนตรีคลังของเยอรมนี พรรคของเขามีคะแนนคู่คี่สูสีกับพรรค CDU ในผลการสำรวจช่วงก่อนวันเลือกตั้ง โดย The Guardian เผยว่าผลสำรวจของบริษัท Civey ที่จัดทำให้กับสถานีโทรทัศน์ ZDF บอกว่า SPD มีคะแนนคงที่ที่ร้อยละ 25 แต่คะแนนนิยมของพรรค CDU เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 ขณะที่โพลของสถาบัน Allensbach ระบุว่า SPD มีคะแนนนิยมที่ร้อยละ 26 ขณะที่ CDU มีคะแนนนิยมที่ร้อยละ 25

 

  • และอีกพรรคคือพรรคกรีน พรรคฝ่ายซ้ายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 3 ของผลโพลคะแนนนิยม ผู้นำของพรรคและผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ อันนาเลนา แบร์บอก ซึ่งเธอยังไม่ได้มีบทบาทใดๆ ในรัฐบาล แต่ก็อาจจะนำพรรคของเธอร่วมรัฐบาลได้

 

  • นอกจากนี้ยังมีพรรคอื่นๆ ที่อาจมีส่วนร่วมในรัฐบาลผสม ได้แก่ พรรคสายเสรีนิยม Free Democrats และพรรคซ้ายจัดอย่าง Die Linke ส่วนพรรคขวาจัดอย่าง Alternative for Germany (AfD) ก็ได้รับการสนับสนุนในด้านตะวันออกของประเทศ แต่ก็ต้องเผชิญเสียงวิจารณ์จากความสัมพันธ์กับกลุ่มขวาจัดเช่นกัน

 

ภาพ: Ying Tang / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising