ศ.คาร์สเตน วัตเซิล นักภูมิคุ้มกันวิทยาชาวเยอรมัน เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีอนุญาตให้ประชาชนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนของ AstraZeneca ได้ จากปัจจุบันที่มีการจำกัดการใช้วัคซีนดังกล่าวในกลุ่มผู้สูงอายุ
ศ.วัตเซิล ซึ่งเป็นนายกสมาคมภูมิคุ้มกันวิทยาของเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับ BBC โดยเขาเชื่อว่า ในที่สุดแล้วหน่วยงานกำกับดูแลของเยอรมนีจะกลับคำตัดสินใจจากที่ก่อนหน้านี้ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน AstraZeneca ในผู้สูงอายุ
“ผมคิดว่าเยอรมนีจะเปลี่ยนคำตัดสินอย่างแน่นอนในไม่ช้านี้” ศ.วัตเซิล กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการ Broadcasting House ของ BBC Radio 4
“เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายในการฉีดวัคซีน เราจำเป็นต้องให้ประชาชนได้รับวัคซีนตัวนี้”
ข้อเรียกร้องของ ศ.วัตเซิล มีขึ้นหลังจากที่การศึกษาล่าสุดในสกอตแลนด์แสดงให้เห็นว่าวัคซีนของ AstraZeneca มีประสิทธิภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ
“เราทราบดีว่าวัคซีนใช้ได้ในกลุ่มอายุดังกล่าว ข้อมูลล่าสุดจากสกอตแลนด์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวัคซีนนี้กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน กลุ่มผู้สูงอายุได้รับการปกป้องจากอาการป่วยรุนแรงเมื่อฉีดวัคซีนนี้” ศ.วัตเซิล กล่าว
นอกจากนี้เขายังได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล เข้ารับการฉีดวัคซีน พร้อมกับถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าวัคซีนมีความปลอดภัย
“ถ้าถึงเวลานั้นนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ควรจะรับการฉีดวัคซีนและถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ นั่นจะดีมาก” เขากล่าวเสริม
ด้านคณะกรรมการวัคซีนของเยอรมนีกำลังพิจารณาทบทวนคำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีน AstraZeneca โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โทมัส เมอร์เทนส์ หัวหน้าคณะกรรมการวัคซีน กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ ZDF ว่า คณะกรรมการฯ จะ “เผยแพร่คำแนะนำล่าสุดในเร็วๆ นี้” โดยขณะนี้กำลังรอรายละเอียดเพิ่มเติมจากผู้เขียนรายงานการวิจัยในสกอตแลนด์
ทั้งนี้ เยอรมนีเป็นหนึ่งในหลายประเทศในสหภาพยุโรปที่แสดงความสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในผู้สูงอายุ
โดยถึงแม้หน่วยงานกำกับดูแลทางการแพทย์ของสหภาพยุโรปอนุมัติการใช้วัคซีน AstraZeneca สำหรับทุกกลุ่มอายุเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่กลับถูกตั้งคำถามจากสาธารณชน เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี แนะนำว่าไม่ควรใช้วัคซีนดังกล่าวกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี โดยให้เหตุผลว่ายังมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ
จนถึงขณะนี้หน่วยงานด้านสุขภาพของเยอรมนีฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้แก่ประชาชนไปไม่ถึง 300,000 โดส จากจำนวนทั้งหมด 1.17 ล้านโดสที่ประเทศได้รับ
ขณะที่ในฝรั่งเศสนั้นประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง กล่าวเมื่อเดือนมกราคมว่า “ดูเหมือนว่าการฉีดวัคซีนจะไม่ได้ผลในกลุ่มผู้สูงอายุ” แต่ก็ถูกรัฐบาลสหราชอาณาจักรและหน่วยงานกำกับดูแลทางการแพทย์ของอังกฤษออกมาโต้ว่าไม่เป็นความจริง ขณะที่ AstraZeneca เองได้ออกมายืนยันว่าวัคซีนของบริษัทมีประสิทธิภาพสำหรับทุกช่วงอายุ
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นประเทศหนึ่งที่อนุมัติวัคซีน AstraZeneca สำหรับทุกกลุ่มอายุ โดย AstraZeneca พัฒนาวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
การตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาลอังกฤษได้รับการสนับสนุนจากผลการวิจัยล่าสุดโดย Public Health Scotland ซึ่งพบว่า หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรกของ Pfizer-BioNTech และ AstraZeneca เป็นเวลา 4 สัปดาห์นั้น การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง 85% และ 94% ตามลำดับ
นอกจากนี้ผลการศึกษายังเผยด้วยว่า ผู้สูงอายุในช่วงวัย 80 ปีเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง 81% เมื่อรวมผลการทดลองวัคซีนทั้งสองชนิดเข้าด้วยกัน
ขณะนี้เยอรมนีกำลังพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดระลอก 3 ในประเทศ ท่ามกลางจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
เยอรมนีมีผู้ติดโควิด-19 มากกว่า 2.4 ล้านรายนับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดในประเทศ ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 70,000 กว่าราย
รัฐบาลได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่ยอดผู้ติดเชื้อก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างน่าเป็นห่วง ทำให้มีการคาดการณ์กันว่ารัฐบาลยังไม่น่าผ่อนปรนข้อจำกัดในเร็วๆ นี้
ตัวเลขที่มีการเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่า อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 59.3 ต่อ 100,000 คนในช่วง 7 วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 57 คนในสัปดาห์ก่อนหน้า
ทั้งนี้ รัฐบาลมีกำหนดจะประชุมกันในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณามาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 7 มีนาคม โดยก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลออกมาเตือนว่า เยอรมนีอาจเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 3 หากยกเลิกการล็อกดาวน์เร็วเกินไป
ภาพ: Jung Yeon-Je-Pool / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: