ในเกมฟุตบอลบุนเดสลีการะหว่างเฟาเอฟแอล โบคุม กับบาเยิร์น มิวนิก เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกมต้องหยุดกลางคันถึง 2 ครั้ง และเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเกม
เหตุการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากที่บาเยิร์น มิวนิก ซึ่งเป็นทีมเยือนที่ต้องการชัยชนะอย่างยิ่งเพื่อไล่กวดไบเออร์ เลเวอร์คูเซน คู่แข่งแย่งแชมป์ในฤดูกาลนี้ ได้ประตูขึ้นนำไปก่อนจากการยิงของ จามาล มูเซียลา ปรากฏว่าแฟนโบคุมได้ขว้างลูกเทนนิสลงมาในสนามเป็นจำนวนมาก
เกมในสนามต้องหยุดลงชั่วคราว นักเตะทั้งสองทีมต้องเดินกลับเข้าห้องแต่งตัว เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่ลงมาเก็บลูกเทนนิสออกเคลียร์พื้นที่สนามให้หมด
ช่วงเวลาดังกล่าวนานถึง 13 นาที และเมื่อกลับมา โบคุมเป็นฝ่ายพลิกสถานการณ์แซงนำได้ 2-1 ก่อนที่ลูกเทนนิสจะถูกขว้างลงมาในสนามอีกในช่วงครึ่งเวลาหลังโดยที่บาเยิร์นดูจะได้รับผลกระทบมากกว่าจากการถูกขัดจังหวะของเกมในสนาม สุดท้ายพวกเขาพ่ายแพ้ไปในที่สุด 2-3
ขณะที่เกมระหว่างไอน์ทรัคท์ แฟรงก์เฟิร์ต กับเอ็สเซ ไฟรบวร์ก ซึ่งจบลงด้วยสกอร์ 3-3 ก็มีการประท้วงในอีกรูปแบบ เมื่อมีเครื่องบินบังคับขนาดเล็กบินร่อนลงมาในสนามฟุตบอล และลงมาแลนดิ้งบริเวณหลังประตูทั้งสองฝั่ง ซึ่งมีป้ายผ้าขนาดใหญ่เขียนข้อความชัดเจน
“ต้องไม่มีนักลงทุนในเดเอฟแอล!”
นี่คือคำประกาศจากแฟนฟุตบอลเยอรมัน เพื่อปกป้องเกมฟุตบอลเยอรมัน
ไม่ว่าจะเป็นลูกเทนนิสหรือเครื่องบินที่ถูกขว้างลงมาในเกมสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการแสดงออกถึงการต่อต้านแผนการของลีกฟุตบอลเยอรมัน หรือเดเอฟแอล (DFL) หลังจากที่เริ่มมีการประท้วงลุกลามในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อ 8 วันก่อนในเกมใหญ่ที่อาจตัดสินแชมป์บุนเดสลีกาในฤดูกาลนี้ระหว่างเลเวอร์คูเซนกับบาเยิร์น มิวนิก ซึ่งแฟนบอลในสนามเบย์อารีนาได้ปาลูกอม (และลูกตาปลอม) ลงมาในสนามเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกมต้องหยุดลง
หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะใกล้เคียงกันในอีกหลายสนาม ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็ไม่แตกต่างกัน เพราะเกมต้องหยุดชะงักเป็นเวลาหลายนาที เพื่อเคลียร์พื้นที่สนามให้เรียบร้อยและปลอดภัยสำหรับการแข่งขันต่อ
เรื่องของเกมที่ต้องหยุดชะงักส่งผลกระทบต่อเรื่องของการแข่งขันอย่างไม่ต้องสงสัย และเริ่มมีการส่งเสียงวิงวอนจากนักเตะอย่าง เอ็มเร ชาน กัปตันทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่คิดว่าการประท้วงควรจะพอได้แล้ว เพราะมันเริ่มมากจนเกินพอดี
“เราได้รับผลกระทบมากจากเรื่องนี้ มันทำให้เราเสียจังหวะการเล่นไป” ชานกล่าว “เมื่อถึงจุดหนึ่งมันควรจะพอได้แล้ว ผมหวังว่ามันจะจบลงในเร็วๆ นี้”
แต่ในมุมมองของแฟนฟุตบอลเยอรมัน ระหว่างเกมที่หยุดลงชั่วคราวและการเสียจังหวะของผู้เล่นในสนาม มันเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่พวกเขาอาจสูญเสีย
ที่สำคัญปัญหาไม่ได้เริ่มจากพวกเขาเลย
ดีลปัญหา
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเกิดจากข้อตกลงของ DFL ที่ต้องการขายสิทธิประโยชน์จำนวน 8 เปอร์เซ็นต์ของบุนเดสลีกาเป็นเวลา 20 ปีให้กับกลุ่มนักลงทุน เพื่อแลกกับเงินก้อนใหญ่ที่จะใช้พัฒนาวงการฟุตบอล และโอกาสในการโปรโมตเกมฟุตบอลเยอรมันไปสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ มีความกังวลภายในวงการฟุตบอลเยอรมันว่า บุนเดสลีกากำลังจะถูกคู่แข่งลีกอื่นทิ้งห่างในอนาคตอันใกล้ เพราะแม้ลีกภายในประเทศจะแข็งแกร่งแค่ไหน แต่ก็ขาดแรงดึงดูดที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับพรีเมียร์ลีก อังกฤษ หรือแม้แต่ลาลีกาของสเปน
โดยมีผู้ที่สนใจลงทุน 2 ราย คือ CVC ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ด้านกลยุทธ์ทางการตลาดของบุนเดสลีกา และเคยผ่านการดีลในลักษณะแบบเดียวกันมากับลาลีกา (และมีปัญหาเหมือนกัน)
“เป้าหมายของเราคือ การทำให้บุนเดสลีกาและบุนเดสลีกา 2 (ฟุตบอลดิวิชัน 2 ในเยอรมนี) ยังคงความสามารถในการแข่งขันได้ทั้งในแง่ของกีฬาและในแง่ของธุรกิจ”
DFL ยืนยันว่า ผู้ลงทุนจะไม่มีอำนาจในการโหวตตัดสินใจในเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อแฟนบอล เช่น เวลาในการแข่งขัน (ซึ่งสัมพันธ์กับการถ่ายทอดสด)
เรื่องการขายสิทธิประโยชน์ได้มีการโหวตจากสโมสรในบุนเดสลีกาทั้ง 36 ทีม (2 ดิวิชัน) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามติผ่านอย่างเฉียดฉิว
ปัญหาคือ การโหวตดังกล่าวเกิดขึ้นในทางลับ ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจน เต็มไปด้วยความคลุมเครือ ซึ่งที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งก็เพราะหลังเริ่มมีข่าวเรื่องนี้ ก็มีสัญญาณการประท้วงจากแฟนฟุตบอลเยอรมันที่ไม่เห็นด้วยเกิดขึ้น
และโดยโครงสร้างของสโมสรฟุตบอลเยอรมัน ความจริงแล้วแฟนฟุตบอลคือ ‘เสียงใหญ่’ ของสโมสรด้วย ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เรื่องของคำพูดหรือการเปรียบเปรยยกย่อง
เพราะฟุตบอลเยอรมัน หัวใจของมันคือกฎที่เรียกว่า ‘50+1’
50+1 กฎพิเศษที่นี่ที่เดียว
สิ่งที่ทำให้ฟุตบอลเยอรมันเป็นชาติที่โดดเด่นและแตกต่างจากลีกฟุตบอลอื่นคือ เรื่องของแฟนฟุตบอล ถ้าใครได้ชมการถ่ายทอดสดหรือมีโอกาสได้ไปดูเกมในสนามจริง จะได้เห็นภาพสีสันความเร่าร้อนของแฟนๆ ที่เข้ามาเชียร์กันในสนาม
บุนเดสลีกาคือลีกที่มีค่าเฉลี่ยแฟนฟุตบอลเข้ามาชมเกมในสนามมากกว่าลีกอื่นในยุโรปด้วยกันเอง
เรื่องนี้เป็นเพราะที่เยอรมนีมีธรรมเนียมพิเศษระหว่างสโมสรฟุตบอลกับแฟนฟุตบอลที่ต้องอยู่ร่วมกัน แฟนฟุตบอลไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่จ่ายเงินซื้อตั๋วเข้าชมหรือซื้อของที่ระลึกเท่านั้น พวกเขามีสิทธิ์และมีเสียงที่จะร่วมตัดสินใจในก้าวเดินของสโมสรด้วย
สิ่งนี้เรียกว่ากฎ ‘50+1’ โดยเป็นกฎที่มีอำนาจบังคับทางกฎหมายว่า สโมสรฟุตบอลจะต้องเปิดให้แฟนฟุตบอลถือหุ้นจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน และจะมีเสียงพิเศษอีก 1 เปอร์เซ็นต์ที่จะโหวตในเรื่องสำคัญของสโมสร
พูดง่ายๆ ก็คือ แฟนฟุตบอลเป็น ‘เสียงใหญ่’ ในสโมสร ไม่ใช่นักลงทุนหรือมหาเศรษฐีคนไหน
เรื่องนี้ ฮันส์ โยอักคิม-วัตซ์เก ซีอีโอของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้เคยบอกไว้ว่า “แฟนฟุตบอลเยอรมันมีความผูกพันลึกซึ้งกับสโมสร ถ้าวันใดที่เขาไม่ใช่กองเชียร์แต่เป็นลูกค้า นั่นแปลว่าเราจะมีปัญหาแน่นอน”
โดยที่มาของกฎ 50+1 นี้เกิดขึ้นในปี 1998 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการฟุตบอลเยอรมัน เพราะเดิมทีสโมสรต่างๆ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับเกมฟุตบอลสมัยใหม่ที่เข้าสู่การเป็นธุรกิจเต็มตัว
การมีกฎ 50+1 ทำให้หัวใจของเกมฟุตบอลเยอรมันยังคงถูกเก็บรักษาไว้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงของเกมลูกหนัง โดยที่มีการระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “สโมสรจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขัน หากนักลงทุนมีอำนาจเหนือกว่าแฟนฟุตบอล”
ฟุตบอลบุนเดสลีกาจึงคงรักษาตัวตนเอาไว้ได้ ค่าตั๋วเข้าชมราคาถูกที่ใครก็เข้าถึงได้เป็นหัวใจที่ยังคงเต้นแรงอยู่ในสนามทุกนัด
เพราะไม่อยากให้เธอเปลี่ยนไป
สำหรับแฟนบอลเยอรมัน เหตุผลสำคัญในการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้เป็นเพราะพวกเขาหวาดหวั่นว่า ดีลนี้คือการ ‘เปิดประตู’ ต้อนรับเหล่านักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามารุกรานและเปลี่ยนแปลงสโมสรฟุตบอลและเกมฟุตบอลที่พวกเขาหลงรัก
พวกเขาไม่ได้อยากเห็นบุนเดสลีกาเป็นแบบพรีเมียร์ลีก และไม่ได้อยากเป็นซูเปอร์ลีกด้วย
ไม่นับเรื่องที่การยอมรับดีลนี้เป็นเหมือนการบอกกลายๆ ว่า นับจากนี้บุนเดสลีกาจะให้ความสำคัญกับเรื่องของ Viewership หรือยอดผู้ชมในการถ่ายทอดสดทั่วโลกมากกว่าจำนวนแฟนฟุตบอลตัวจริงที่อยู่ในสนาม ซึ่งเป็นการทำร้ายความรู้สึกกันค่อนข้างรุนแรงเกินไป
ประสาคนเยอรมัน ถ้าไม่ยอมก็คือไม่ยอม จึงเป็นที่มาของการลุกขึ้นสู้ในครั้งนี้ ซึ่งฝ่ายที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคือกลุ่มอัลตรา (Ultra) ของสโมสรต่างๆ แต่ได้รับการสนับสนุนจากแฟนฟุตบอลทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของ DFL เหมือนกัน
ในอดีตพวกเขาเคยต่อสู้แบบนี้มาแล้วเมื่อมีแผนจะให้มีเกมบุนเดสลีกาแข่งขันในวันจันทร์ (เพื่อเพิ่มโอกาสในการถ่ายทอดสด) แต่แฟนฟุตบอลไม่เอาด้วย จึงเกิดการประท้วง และสุดท้ายแผนดังกล่าวก็ล่มไปในที่สุด
ล่าสุดทาง Blackstone หนึ่งในกลุ่มทุน (ร่วมกับ CVC) ได้ขอถอนตัวจากการยื่นข้อเสนอแล้ว เรียกว่าเป็นชัยชนะยกแรกของแฟนบอล
อย่างไรก็ดี สำหรับครั้งนี้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการประท้วงจะดำเนินต่อไปอีกยาวนานแค่ไหน และจะมีการยกระดับการประท้วงขึ้นหรือไม่ ไปจนถึง DFL และฝ่ายต่างๆ จะหาทางออกอย่างไร เพื่อให้เรื่องราวมีตอนจบที่ทุกคนพอใจ
จะรักษาเอกลักษณ์และตัวตน โดยที่ยังคงความสามารถในการแข่งขัน ไม่ถูกลีกอื่นทิ้งห่างไปไกลจนตามไม่ทัน
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
อ้างอิง:
- https://www.forbes.com/sites/manuelveth/2024/02/13/after-fan-protests-blackstone-withdraws-from-bundesliga-investor-deal/?sh=7b9f15da1945
- https://apnews.com/article/bundesliga-preview-fan-protests-0563538898c3a6aeae7f77b4d14bc3f9
- https://www.insidethegames.biz/articles/1143815/german-fans-protest-capital-football
- https://www.bundesliga.com/en/faq/what-are-the-rules-and-regulations-of-soccer/50-1-fifty-plus-one-german-football-soccer-rule-explained-ownership-22832
- https://www.givemesport.com/why-bundesliga-fans-are-protesting-at-games/
- https://www.goal.com/en-gb/lists/explained-bundesliga-fans-12-minutes-silences-games-germany/blt7b4a34b81f8f8453#cs04850d1900dfb188