×

เจาะมิติการเมืองและรากเหง้าของการเหยียดจาก จอร์จ ฟลอยด์ ผู้ล่วงลับ สู่การประท้วงครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ

04.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS. READ
  • การประท้วงจนนำไปสู่การจลาจลในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่พอๆ กับสงครามเวียดนาม แม้ว่าจะไม่สามารถพูดเป็นตัวเลขได้ว่ารุนแรงกว่าขนาดไหน แต่เรียกได้ว่าเป็นการประท้วงอย่างกว้างขวาง การประท้วงครั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมทางกฎหมายอาญาที่ไม่เป็นธรรมต่อคนผิวสีเป็นเวลาช้านาน และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เป็นการตอกย้ำ
  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากกรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ นอกจากเรื่องการเหยียดผิว ความบ้าอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังมีเรื่องของการว่างงานอันเนื่องมาจากผลกระทบจากโรคโควิด-19 และความหวังที่มีอยู่ต่ำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยประจวบเหมาะพอดีที่ทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งนับว่ารุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1968 ที่มีการลอบสังหาร มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์
  • การจะแก้ไขปัญหานี้ หากให้แก้ไขในเรื่องทัศนคติเป็นเรื่องยาก ซึ่งใช้ในระยะยาว วิธีในการแก้ไขปัญหาคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ต่อให้มีอคติอย่างไร แต่ถ้ามีระบบยุติธรรมที่ทำให้คนไว้ใจได้ว่าจะได้รับความเป็นธรรมในการตัดสินก็จะแก้ไขปัญหาได้ โดยเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุไม่ว่าจะกับคนผิวสีใดจะต้องได้รับโทษโดยมีการตัดสินอย่างยุติธรรม

เหตุการณ์การประท้วงที่บานปลายเป็นการจลาจลเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ จอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันผิวสีที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนนำมาสู่การประท้วงต่อต้านการเหยียดชาติพันธุ์ที่ลุกลามไปทั่วประเทศ หลายรัฐมีการประกาศเคอร์ฟิว และโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ออกมากล่าวโจมตี พร้อมทั้งสนับสนุนให้กองกำลังพิทักษ์ชาติ หรือ National Guard ออกมาจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น

 

รายการ THE STANDARD Daily สัมภาษณ์ ไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสองมิติการเมืองและวัฒนธรรมของปรากฏการณ์ดังกล่าว 

 

การประท้วงครั้งนี้ทำให้ถึงเวลาสร้างความเปลี่ยนแปลงแล้วหรือไม่ สังคมอเมริกันจะตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ไปอีกนานแค่ไหน

 

การประท้วงครั้งนี้รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์หรือไม่

ไชยวัฒน์กล่าวว่าการประท้วงจนนำไปสู่การจลาจลในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่พอๆ กับสงครามเวียดนาม แม้ว่าจะไม่สามารถพูดเป็นตัวเลขได้ว่ารุนแรงกว่าขนาดไหน แต่เรียกได้ว่าเป็นการประท้วงอย่างกว้างขวาง การประท้วงครั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมทางกฎหมายอาญาที่ไม่เป็นธรรมต่อคนผิวสีเป็นเวลาช้านาน และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เป็นการตอกย้ำ

 

กรณีการประท้วงในสหรัฐฯ มีความแตกต่างกับจีนอยู่บ้าง กรณีการประท้วงของจีนและฮ่องกงเป็นการปราบกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย โดยผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงต้องการเลือกผู้นำของตัวเองและใช้ความรุนแรง ทางจีนจึงต้องตอบโต้ผู้ที่กระทำความรุนแรง แต่กรณีของสหรัฐฯ ความรุนแรงเกิดจากปัญหาที่สะสมอย่างยาวนานจากการที่คนผิวสีได้รับผลจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

เหตุการณ์ครั้งนี้เหมือนที่เกิดขึ้นมาตลอด เช่น ปี 2014 เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำเกินกว่าเหตุกับคนผิวสี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้รับการลงโทษเช่นกัน นี่เป็นปัญหาโครงสร้างของการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับคนผิวสี

 

อย่างไรก็ตาม การประท้วงครั้งนี้ส่วนใหญ่ทำอย่างสันติวิธี ที่เป็นข่าวเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่มีการปล้นสะดมร้านค้าหรือมีการเผา ซึ่งก็ต้องมีกระบวนการทางกฎหมายที่ดำเนินการกับกลุ่มคนที่ละเมิดกฎหมาย และกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่ออกมาประท้วงไม่ใช่เฉพาะพวกคนผิวสี คนผิวขาวที่ทนไม่ไหวที่สังคมยังมีปัญหาอย่างยาวนานเกี่ยวกับความเสมอภาคทางสีผิวก็ออกมาร่วมประท้วงด้วย

 

ที่น่าสนใจคือซีอีโอบริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Microsoft, Facebook ต่างออกมาสนับสนุนการประท้วงครั้งนี้

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook พูดสะท้อนปัญหาว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยาวนานของการเหยียดเชื้อชาติ ความไม่เป็นธรรมในสังคมอเมริกัน เราทุกคนต้องมีความรับผิดชอบที่จะต้องสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ยืนเคียงข้างชุมชนของคนผิวสี และทุกคนเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อเป็นเกียรติแด่ฟลอยด์ที่เสียชีวิต รวมถึงคนจำนวนมากที่เราจะไม่มีวันลืมความเจ็บปวด เหตุการณ์ครั้งนี้เตือนว่าประเทศของเรายังห่างไกลอีกมากกับการที่ทุกคนจะมีเสรีภาพและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี”

 

จากคำพูดของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก สะท้อนให้เห็นว่ามีเพียงคนส่วนน้อยที่ยังเหยียดสีผิวและยังไม่หมดไปจากสังคม แต่คนจำนวนมากก็เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็น เพราะปกติแล้วนักธุรกิจมักจะไม่ค่อยอยากออกมาเปิดตัวสนับสนุนผู้ประท้วง เพราะคนที่อยู่ตรงข้ามกับผู้ประท้วงที่สนับสนุนทรัมป์ก็มีไม่น้อย คนที่สนับสนุนการประท้วงก็จะพานถูกไม่ชอบไปด้วย

 

การประท้วงครั้งนี้รุนแรง น่าตกใจ และจะยืดเยื้อหรือไม่

ในมุมของเชาวฤทธิ์มองว่าการประท้วงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในโครงสร้างของสังคมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นโครงสร้างของสังคมรุนแรง

 

ประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ตั้งแต่คนผิวขาวอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในปี 1776 มีสิ่งที่เรียกว่า White Burden หรือภาระของคนผิวขาวที่จะนำความเจริญไปสู่คนผิวสีอื่น ซึ่งตอนเริ่มแรกคือพวกอินเดียน ต่อมามีการนำทาสผิวดำเข้าไป ความเป็น White Supremacy ก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นโครงสร้างสังคมไม่เคยเปลี่ยนไปเลยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โครงสร้างของสังคมอเมริกัน คนผิวขาวยังเป็นใหญ่

 

แม้ว่าภายในระยะเวลาคาดการณ์ว่าในปี 2050 โครงสร้างของคนผิวสีที่เป็นลาติน ผิวดำ หรือเอเชียจะมากกว่าคนผิวขาวก็ตาม แต่ความเป็นคนผิวขาวก็ยังเหนือกว่าคนผิวสีอื่นๆ ในสหรัฐฯ

 

บทบาทของทรัมป์ที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นผลดีหรือผลเสียต่อตัวเขา

ไชยวัฒน์กล่าวว่าทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งมาด้วยคะแนนนิยมเสียงข้างน้อย หรือชนะการเลือกตั้งด้วยระบบเลือกตั้ง Electoral College โดยคะแนนรวมจากสามรัฐทางตะวันตกตอนกลางของประเทศไม่ถึง 1 แสนคะแนน และเขาต้องการกลับมาชนะการเลือกตั้งในปลายปีนี้ จึงต้องพยายามขยายฐานเสียง อย่างไรก็ตาม การกระทำของทรัมป์ก็อาจจะไม่ได้ทำให้เขาได้คะแนนเสียงเพิ่มเท่าไร

 

“ทรัมป์ก็มีกลุ่มที่คอยสนับสนุนเขาอยู่แล้ว เป็นกลุ่มคนที่ทรัมป์จะต้องรักษาฐานเสียงไว้ พฤติกรรมของทรัมป์นับตั้งแต่มีโรคระบาดจนถึงการประท้วง ทรัมป์ไม่เคยพูดอะไรให้คนหันหน้าเข้าหากัน จนถึงตอนนี้ยังไม่ออกมาพูดกับประชาชนทั่วประเทศว่าถึงเวลาที่ต้องหันมาหาทางแก้ไขปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน เพราะทรัมป์เชื่อว่าหากเขาทำแบบนั้นจะสูญเสียความนิยมที่สนับสนุนเขา” ไชยวัฒน์กล่าว

 

เพราะฉะนั้นสรุปว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นผลเสียต่อทรัมป์ แต่ติดอยู่ตรงที่ว่าคนกลุ่มน้อยที่สนับสนุนทำให้ทรัมป์ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

 

ขณะที่เชาวฤทธิ์เห็นว่าทรัมป์ต้องยืนยงความเป็นลักษณะของตัวเอง คือการเป็นตัวแทนคนผิวขาวหรือกลุ่มคนที่เหยียดสีผิว ซึ่งยังมีคนกลุ่มใหญ่ในสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะคนผิวขาวที่ต้องการให้มีลักษณะเช่นนี้อยู่ในสังคม คนผิวสีต้องต่ำกว่าคนผิวขาว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทรัมป์ทำคือเขายึดโยงกับกลุ่มคนขวาจัดหรืออนุรักษนิยม

 

ทรัมป์ต้องทำให้คนผิวขาวรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ขณะเดียวกันก็พยายามจำแนกคนกลุ่มอื่นที่ตรงกันข้ามเป็นอีกฝ่าย เพราะฉะนั้นโครงสร้างทางสังคมจึงเป็นโครงสร้างที่ก่อให้เกิดความรุนแรงได้ตลอดเวลา เพราะมีการแบ่งว่าเป็น ‘เขากับเรา’

 

หาก โจ ไบเดน เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตขึ้นมาสู้กับทรัมป์ ซึ่งก็เป็นคนผิวขาว สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนผิวขาวที่จะไปเป็นตัวแทนคนผิวสี มันดูตลกมากกว่าทรัมป์ที่แสดงออกว่าเป็นตัวแทนของคนผิวขาว เพราะฉะนั้นโครงสร้างแบบนี้ที่ทรัมป์พยายามยึดโยงและลากยาวไปจนถึงปลายปีจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งเพื่อหวังผลการเลือกตั้ง

 

โครงสร้างอะไรที่แสดงให้เห็นว่าสังคมของสหรัฐฯ ยังไม่เป็นธรรม

ไชยวัฒน์กล่าวว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ มีสัดส่วนคนผิวขาวมากกว่าผิวสี แต่ก็เป็นเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้ว เพราะอัตราส่วนคนผิวสีมีอยู่ประมาณ 20% น้อยกว่าคนผิวขาว และฐานะทางเศรษฐกิจของคนผิวสีก็ยากที่จะแข่งขันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ซึ่งเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำไม่ได้ก็มีผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจ เงินเดือนน้อยกว่า แสดงถึงความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน ทั้งนี้ก็มีความพยายามแก้ไข อย่างในช่วงที่ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน มีการร่าง พ.ร.บ. ยืนยันสิทธิ (Affirmative Action) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ก็ยังมีผลน้อย

 

ขณะที่เชาวฤทธิ์กล่าวว่า แม้ว่าสหรัฐฯ จะประกาศตัวเองว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพ เสรีนิยม แต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังเต็มไปหมด อย่างที่เห็นมหาวิทยาลัยยังรับคนขาว แม้ว่าเขาจะมีสิทธิ์เลือก เขาก็จะเลือกรับคนขาวมากกว่า

 

อีกประเด็นที่สำคัญคือโครงสร้างระบบการเลือกตั้ง ถ้าหากชนะในรัฐใดก็จะได้คะแนนไปทั้งรัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐที่มีคนขาวเป็นรัฐที่ทรัมป์ชนะ แม้ว่าคะแนนเสียงในภาพรวมจะน้อยกว่า แต่ด้วยจำนวนรัฐมากกว่า ทำให้ทรัมป์ชนะ เป็นเพราะคนผิวขาวที่เป็นอนุรักษนิยม หรือทางด้านตอนกลางของประเทศที่ชอบนโยบายทรัมป์ เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำตรงนี้เป็นโครงสร้างทางสังคม ซึ่งทรัมป์จับจุดได้ว่าการที่จะชนะได้จะต้องแบ่งพวก สร้างความแตกแยก

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือทรัมป์ต้องคงให้เขาต่างจากเราให้ได้ ซึ่งมันไปสอดคล้องกับสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนผิวขาวและผิวสีอื่นๆ ในสหรัฐฯ อันนี้คือสิ่งที่ทรัมป์พยายามดำรง และถ้าสิ่งที่เขาดำรงภายใต้ลักษณะนี้ต่อไป เขาก็จะชนะการเลือกตั้ง” เชาวฤทธิ์กล่าว

 

ไชยวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการศึกษาเป็นตัวเลขออกมาว่าคนที่ถูกตำรวจเรียกตอนขับรถและถูกใบสั่ง สัดส่วนเป็นคนผิวสีมากกว่าผิวขาวอย่างสูง ทั้งที่คนผิวขาวขับรถมากกว่าคนผิวสี สะท้อนให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติรักษากฎหมายมีอคติต่อคนผิวสี

 

คนเชื้อชาติอื่นๆ เช่น ลาติน เอเชีย ถูกเลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับคนผิวสีหรือไม่

ไชยวัฒน์กล่าวว่าไม่ใช่แค่คนผิวสี แต่เอเชียอย่างเราก็ถูกเลือกปฏิบัติเช่นกัน ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทรัมป์พูดว่าเป็นไวรัสจีน หรือ Chinese Virus ก็ทำให้คนผิวสีเดียวกับคนจีน หรือคนญี่ปุ่น เกาหลี ถูกเลือกปฏิบัติเช่นกัน รวมถึงยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่าคนเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คล้ายคนจีน จะถูกเหยียดหยามจากคนผิวขาวชาวอเมริกัน

 

ขณะที่เชาวฤทธิ์เห็นว่าคนผิวขาวที่เหยียดคนผิวสีที่แตกต่างจากตัวเองไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะที่สหรัฐฯ แต่เกิดขึ้นกับทุกประเทศที่มีคนผิวขาวเป็นชนชั้นนำทางการเมือง เพราะยิ่งผิวขาวยิ่งหมายถึงความเจริญ เพราะฉะนั้นคนผิวขาวมีหน้าที่ที่จะต้องพิทักษ์ความเจริญ จึงเกิดมุมการเหยียดของคนผิวขาวต่อคนผิวสีอื่น

 

แม้กระทั่งคนผิวสีเองก็ตาม คนเอเชียก็ยังมีความเหยียดในคนผิวคล้ำ เช่น คนแอฟริกัน เป็นชุดแนวความคิดที่หล่อหลอมในสังคมว่ายิ่งคนผิวขาว ยิ่งมีความเจริญมากกว่า มีความบริสุทธิ์มากกว่า มีพันธุกรรมที่ดีกว่า มันเกิดขึ้นในสังคมทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในสหรัฐฯ มันเกิดขึ้นในลาตินอเมริกา ประเทศแถบเอเชีย ถ้าเราเห็นคนผิวสีคล้ำ เราจะรู้สึกว่าน่ากลัว เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้สังคมมีการเหยียดสีผิวตลอดเวลา และกลายเป็นปัญหา

 

ส่วนหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พบว่าคนผิวสีโดนจับมากกว่าคนผิวขาวที่ขับรถมากกว่า นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เป็นความบ้าอำนาจของตำรวจที่มีต่อคนผิวสี และประเด็นที่น่าสนใจในบรรดาตำรวจที่เข้าจับกุม จอร์จ ฟลอยด์ หนึ่งในนั้นเป็นชาวชาติพันธุ์ม้ง ลาว ซึ่งเขาได้การยอมรับมากกว่าคนผิวสี Black Afican-American อันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ

 

ไชยวัฒน์เสริมต่อว่า จากประสบการณ์การเรียนที่สหรัฐฯ และเรียนด้านเอเชีย พบว่าคนที่เข้าใจในเรื่องเอเชีย เข้าใจวัฒนธรรมและเรียนรู้เรื่องเอเชีย เขาจะปฏิบัติตัวกับเราดี เพราะฉะนั้นการศึกษาก็มีความสำคัญที่สามารถเปลี่ยนทัศนะของคนอเมริกันได้

 

การประท้วงครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอเมริกันหรือไม่

เชาวฤทธิ์กล่าวว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากกรณีของฟลอยด์ นอกจากเรื่องการเหยียดผิว ความบ้าอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังมีเรื่องของการว่างงานอันเนื่องมาจากผลกระทบจากโรคโควิด-19 และความหวังที่มีอยู่ต่ำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยประจวบเหมาะพอดีที่ทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งนับว่ารุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1968 ที่มีการลอบสังหาร มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์

 

ความรุนแรงเหล่านี้จะปะทุขึ้นและไม่มีทางที่จะจบสิ้นลงง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำตลอดเวลา สหรัฐฯ เคยมีประธานาธิบดีที่เป็นคนผิวสีคือ บารัก โอบามา แม้ว่าจะมีคนผิวสีขึ้นเป็นผู้นำ แต่โครงสร้างสังคมระหว่างผิวขาวและผิวสีก็ยังถูกฝังลึกอยู่ และมองว่าการประท้วงจะถูกจุดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมีการประท้วงเกิดขึ้นกี่ครั้งก็จะเหลือเชื้อให้เกิดการปะทุได้ตลอดเวลา หากยังมองคนผิวสีเป็นคนที่ด้อยค่ากว่า ปัญหาจะยังคงมีอยู่ และที่สหรัฐฯ พยายามบอกว่าสหรัฐฯ เป็น Melting Pot ที่เป็นหม้อแห่งความหล่อหลอมทางวัฒนธรรม แต่ก็ยังยกวัฒนธรรมผิวขาวเป็นวัฒนธรรมหลัก

 

ขณะที่ไชยวัฒน์กล่าวว่าสมัยโอบามาเป็นประธานาธิบดีก็มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา โอบามาตั้งคณะกรรมการโดยให้อดีตนายตำรวจของนครนิวยอร์กทำข้อเสนอในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มีความเข้าใจเรื่องความแตกต่างด้านสีผิวและเชื้อชาติ แต่ปรากฏว่าเมื่อข้อเสนอนี้มาถึงทรัมป์และคณะรัฐมนตรีปัจจุบันก็ได้ปัดข้อเสนอทิ้ง รวมถึงยังเห็นว่ากลุ่มผู้ประท้วงไม่ควรมีตำรวจมาช่วยคุ้มกัน

 

การจะแก้ไขปัญหานี้ หากให้แก้ไขในเรื่องทัศนคติเป็นเรื่องยาก ซึ่งใช้ในระยะยาว วิธีในการแก้ไขปัญหาคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ต่อให้มีอคติอย่างไร แต่ถ้ามีระบบยุติธรรมที่ทำให้คนไว้ใจได้ว่าจะได้รับความเป็นธรรมในการตัดสินก็จะแก้ไขปัญหาได้ โดยเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุไม่ว่าจะกับคนผิวสีใดจะต้องได้รับโทษโดยมีการตัดสินอย่างยุติธรรม

 

ประท้วงสหรัฐฯ และประท้วงฮ่องกง เหตุการณ์ใดจะจบก่อนกัน

ไชยวัฒน์มองว่าใช้ระยะเวลายาวเท่าๆ กัน เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนานทั้งคู่ แต่ถ้าฮ่องกงมีการจัดการที่เด็ดขาด เกิดการลงมือจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง ก็จะเกิดการนองเลือด แต่เหตุการณ์การประท้วงก็จะจบลง แตกต่างจากสหรัฐฯ ที่ไม่น่าจะมีการนองเลือด เพราะมีกรอบทางการเมืองที่ไม่อนุญาต เช่น ทหารสหรัฐฯ จะมายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในไม่ได้ แตกต่างจากทหารจีนได้รับอนุญาตให้ทำได้

 

ส่วนเชาวฤทธิ์มองว่าเหตุการณ์ทั้งสองกรณีจะไม่จบลงในระยะสั้น เนื่องจากหาแกนนำฝ่ายต่อต้านไม่ได้ เป็นลักษณะของม็อบขนาดเล็กที่กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งไม่มีผู้นำหรือตัวแทนที่จะไปเจรจากับรัฐบาลของทรัมป์หรือรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจะยืดเยื้อไปเรื่อยๆ และพร้อมที่จะปะทุตลอดเวลา

 

กรณีการประท้วงในฮ่องกง จีนพร้อมที่จะใช้กำลังทหารในการปราบปรามการจลาจล แต่ฮ่องกงก็มีรัฐบาลอังกฤษที่พร้อมให้วีซ่าชาวฮ่องกง 6 ล้านคนเข้าไปอยู่ในประเทศได้หากจีนใช้ความรุนแรง แต่ในสหรัฐฯ ทหารไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐฯ คือประธานาธิบดี เพราะฉะนั้นคงไม่มีการใช้ความรุนแรง ไม่มีทหารของรัฐบาลออกมาปะทะ ออกมาฆ่าประชาชนเหมือนอย่างการประท้วงเทียนอันเหมินในปี 1988 ของจีน ในกรณีของฮ่องกง จีนมีโอกาสใช้ความรุนแรง แต่คนฮ่องกงก็มีโอกาสหลีกหนีความรุนแรงนั้นได้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X