×

ภูมิรัฐศาสตร์ Trade War ป่วนเศรษฐกิจโลก “ไทยจะอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว” คุยกับประธานหอการค้านานาชาติ

22.05.2024
  • LOADING...

“เรามักจะได้ยินคนพูดบ่อยๆ ว่า สินค้าที่ประเทศไทยผลิตอยู่ อุตสาหกรรมที่เราทำอยู่ เป็นสินค้าล้าสมัย เริ่มไม่เซ็กซี่ เราผลิตสินค้าที่โลกไม่ต้องการแล้ว“ 

 

วันนี้เราต้องเร่งปรับตัวจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เรียกว่า Next Gen Industries 

 

นี่ยังไม่รวมปัญหา ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ สงครามการค้า และกฎระเบียบทางภาษีเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้า ที่มีการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไข ซึ่งประเด็นนี้ดูเหมือนจะยังเพิ่งเริ่มตื่นตัว ซึ่งน่าห่วงว่าหากถึงวันที่ต้องรับแรงกระแทกขึ้นมาจริงๆ ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิต พร้อมรับมือแค่ไหน 

 

มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) กล่าวก่อนเข้าสู่บทสนทนา 

 

THE STANDARD WEALTH มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ถึงความท้าทายของผู้ประกอบการไทยบนเวทีการค้าโลกในขณะนี้ว่า วันนี้อุตสาหกรรมไทยยืนอยู่บนความท้าทายที่หลากหลายด้านเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ที่นอกจากผู้ประกอบการไทยจะเผชิญกับคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลงแล้ว นับวันการค้าโลกยิ่งเต็มไปด้วยข้อจำกัด 

 

มนตรีระบุอีกว่า ปัญหาการกีดกันทางการค้าของโลกมีแนวโน้มซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไข “หากปรับตัวช้าไปกว่านี้อาจเสียเปรียบ” ซึ่งเราเคยมีบทเรียนในเรื่องของมาตรฐานสินค้าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กรณีของมาตรฐาน ISO

 

“20 กว่าปีผ่านไป เรื่องเก่าในวาระใหม่กำลังจะเกิดขึ้นอีกนั่นคือ มาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรป Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) โดยจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 6 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2566”

 

โดยในช่วงปี 2566-2568 จะเป็นการกำหนดให้แต่ละประเทศเมื่อส่งออกสินค้าที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมไปยุโรป จะต้องรายงานข้อมูลผลกระทบต่างๆ ต่อสิ่งแวดล้อม จากนั้นก็จะเริ่มมีการเก็บภาษีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2569

 

 

มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand)

 

ดังนั้นปีนี้ ICC Thailand จึงมีแผนร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อติดตามผลและปัญหาของผู้ประกอบการเกี่ยวกับประเด็นนี้

 

“ผมมีโอกาสพูดคุยกับเลขาธิการ ICC สำนักงานใหญ่ ว่าอยากเร่งทำ Agenda 2 เรื่องหลัก คือ หนึ่ง การทำข้อมูล Agenda มาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรป Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และสอง การทำข้อมูล Agenda ESG

 

“เพราะแค่ทำการค้าในไทยยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1.5 แสนฉบับ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศมีมากกว่ามหาศาล ถ้าผู้ประกอบการไม่เข้าใจจะยิ่งเสียเปรียบ ซึ่งยุคนี้ผู้ประกอบการไทยจะเน้นค้าขายแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องให้ความสำคัญกับกติกาโลกและเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก”

 

การค้าโลกเข้มข้น แต่ละประเทศตั้งกำแพงภาษีสิ่งแวดล้อม

 

โดยเฉพาะ CBAM เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยต้องทำเข้มข้นกว่า เพราะเราส่งออกไปสหภาพยุโรปไม่น้อย ราวๆ 10% ของการส่งออกทั้งหมด หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท หากเราไม่รีบปรับตัว จะทำให้ต้นทุนของเราสูงขึ้นไปอีก ซึ่งค่าแรงและค่าไฟฟ้าไทยก็อยู่ในระดับสูง อาจเพิ่มความเสียเปรียบทางการแข่งขัน

 

อีกทั้งเนื่องจากเรายังไม่ได้ทำมาตรฐานเดียวกับสหภาพยุโรป จึงเป็นเรื่องท้าทาย เช่น การชดเชยคาร์บอนเครดิต ปกติแล้ว 1 คาร์บอนเครดิตจะมีมูลค่าประมาณ 15 ยูโร หรือประมาณ 750 บาท แต่ประเทศไทยกำหนด 1 คาร์บอนเครดิตอยู่ที่ 50 บาท 

 

ดังนั้นวันนี้เรายังชดเชยไม่เพียงพอตามที่เขากำหนดและยังห่างอยู่มาก ทำให้เราต้องเสียค่าปรับคาร์บอนเพิ่มอีก เพราะมูลค่าคาร์บอนเครดิตจะไม่เท่ากัน ซึ่งประเทศไทยต้องรีบผลักดันเรื่องมาตรฐานการทำคาร์บอนเครดิตกับประเทศคู่ค้าให้ได้ก่อนสายเกินไป เพราะหากช้า ไม่เกิน 3 ปีจะกระทบผู้ส่งออกไทยแน่นอน

 

และไม่ใช่แค่เฉพาะสหภาพยุโรป แต่จะขยายวงกว้างไปทั่วทั้งโลก ซึ่งสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และแคนาดา ก็กำลังจัดทำร่างมาตรการ CBAM และล่าสุดคาดว่าออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อยู่ระหว่างเตรียมประกาศใช้ 

 

“นอกจากนี้ทราบมาว่าฮ่องกงและจีนก็กำลังทำร่างมาตรฐาน CBAM ด้วย หมายความว่าเราจะมี CBAM จากหลายประเทศที่ใช้มาตรการกำหนดไม่เหมือนกันเลย”

 

คำถามคือ สุดท้ายแล้วเราควรจะต้องมีมาตรฐานไหนเป็นหลัก นี่คือที่มาที่เราอยากจะผลักดันมาตรฐาน เพื่อให้นำไปเจรจาเกิดมาตรฐานสากลร่วมกันในระดับนานาชาติให้ทุกคนยึดมาตรฐานนี้ เช่นเดียวกับมาตรฐาน ISO ที่เรามีบทเรียนกันมา ซึ่งวันนั้นภาคอุตสาหกรรมก็ค่อนข้างอลหม่าน เพราะเราไม่รู้ว่าจะเข้มงวดขนาดนี้ ถือเป็นบทเรียนที่คล้ายคลึงกันกับ CBAM ที่เอกชนต้องเตรียมรับมือและต้องพร้อมปรับตัวครั้งใหญ่

 

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

 

มากไปกว่านั้นความท้าทายภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางแม้ว่าอาจจะยังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากอิสราเอลและอิหร่านในขณะนี้ ‘เหยียบเบรก’ ก่อน แต่ก็เป็นที่น่าห่วงและต้องติดตาม เพราะจะเห็นว่าจากเหตุการณ์สู้รบที่ผ่านมา อิหร่านประกาศเตือนก่อนยิงอิสราเอลล่วงหน้าเพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น จากปกติแล้วต้องประกาศก่อน 48 ชั่วโมง ทำให้สถานการณ์โลกในปัจจุบันมีผลต่อซัพพลายเชนและเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ ‘อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้’

 

ดังนั้นไทยจึงควรหาทางเตรียมพร้อมรับกฎระเบียบการค้าให้ดี เพราะอาจมีหลายประเทศประกาศใช้เพิ่มอีก ยกตัวอย่างเช่น CBAM ซึ่งขณะนี้ใช้บังคับกับสินค้าบางกลุ่ม 6 รายการก่อน อนาคตไม่แน่ว่าอาจจะลามไปถึงอุตสาหกรรมจากเดิมไปสู่กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ด้วยหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดมีผลต่อขีดความสามารถแข่งขัน ที่วันนี้ก็จะเห็นว่าดัชนีภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง ไทยเรามีคนเก่งๆ ในประเทศเยอะ เรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยแรงผลักดันจากทุกฝ่ายด้วย

 

จับตาศึกประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปี

 

Trade War หรือสงครามการค้า ก็ต้องจับตาไม่แพ้กัน ซึ่งขณะนี้ผมมองว่ายังไม่เห็นข่าวดีทางเศรษฐกิจโลกมากนัก จากการประเมินของ IMF ก็สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มชะลอ โดยเฉพาะช่วงปลายปีจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หาก โดนัล ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีและกลับมาดำรงตำแหน่ง ก็บอกได้เลยว่าความเสียหายจากสงครามการค้าเมื่อ 4 ปีก่อนอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกขึ้นอีกไม่มากก็น้อย 

 

“เมื่อมาเจอกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อย่างอิสราเอลและอิหร่าน ที่ตอนนี้ก็เหมือนจะแตะเบรกไว้ก็จริง แต่ไม่มีอะไรแน่นอนจริงๆ” มนตรีทิ้งท้าย

 

สำหรับหอการค้านานาชาติ (ICC) ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีคณะกรรมการบริหารผ่านคณะกรรมาธิการ (Commission) 11 สาขา มีเครือข่ายสมาชิก 100 ประเทศทั่วโลก และมี ICC Academy ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสถาบันที่พัฒนาความรู้ในด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งอัปเดตกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศใหม่ๆ รองรับผู้ประกอบการไทย 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising