×

เปิดคำอภิปรายร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศฯ ในวันที่ฝันยังไปไม่ถึงฝั่ง

โดย THE STANDARD TEAM
21.02.2024
  • LOADING...

วันนี้ (21 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ที่มี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. โดยมี ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ

 

ก่อนการอภิปราย อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส. กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้ถอนร่างฉบับดังกล่าวออกจากการพิจารณาของที่ประชุมสภาไปก่อน เนื่องจากมีร่างกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเป็นฉบับของภาคประชาชนที่อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ อีก 2 ฉบับกำลังจะเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อให้กฎหมายเป็นของทุกกลุ่ม และไม่ให้เกิดข้อกังขาที่อาจนำไปสู่การรอสิทธิเสรีภาพของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

 

แต่ธัญวัจน์ยืนยันว่า ในการตั้งคณะกรรมาธิการฯ มีการรวบรวมความเห็นจากกลุ่มต่างๆ อยู่แล้ว และหากเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ควรจะต้องผลักดัน และคิดว่าสภาผู้แทนราษฎรนั้นเปิดกว้าง ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีการยื่นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และผลักดันกันมาตั้งแต่ปี 2559 ทั้งนี้เราก็จะมีคำพูดอยู่เสมอว่าความหลากหลายทางเพศประเทศไทยไปไม่ถึงไหน จึงขอยืนยันว่าวันนี้ถึงจุดที่เราจะต้องไปถึงสักที 

 

จากนั้นประธานในที่ประชุมจึงได้สรุปว่าไม่มีการถอนร่างกฎหมาย และให้เริ่มอภิปราย 

 

ก้าวไกลเสนอแก้ไขโลกที่กลับตาลปัตร

 

ธัญวัจน์กล่าวตอนหนึ่งว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะบัญญัติรองรับความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่งผลให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค 

 

โดยเฉพาะเอกสารของรัฐไทยก็ยังกำหนดให้ใช้คำนำหน้านามซึ่งถือตามเพศกำเนิด ได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่นประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การตัดสินใจกำหนดวิถีทางเพศของตน และกระทบต่อการดำเนินชีวิต 

 

ทั้งนี้กฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนสากลได้รับรองเรื่องความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นสมควรมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองและรับรองสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน วันนี้สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นจุดสำคัญที่เราจะร่วมประกอบสร้างสังคมใหม่ จากเดิมที่มีเพียงแค่ 2 เพศ เพื่อแก้ไขกฎหมายให้รับกับคนทุกเพศ แก้ไขอดีตที่ไม่ได้คำนึงถึงพวกเขา ทำให้การดำรงชีวิต ดำเนินวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศร่วมกับสังคมไม่ได้ เหมือนโลกที่กลับตาลปัตร 

 

ธัญวัจน์กล่าวว่า เรื่องเพศมีผลกระทบตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ฝ่ายหนึ่งได้รับการยอมรับเพราะเป็นไปตามมาตรฐานของสังคมและวัฒนธรรม แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับถูกมองว่าเป็นพวกเบี่ยงเบนและผิดปกติ สร้างความตลกให้กับสังคม ในวันนี้เราจะคืนเจตจำนงในเรื่องของการระบุเพศให้กับพวกเขาว่าการกำหนดเพศต้องเกิดจากพวกเรา ไม่ใช่จากรัฐ เป็นการปรับวิธีคิดให้บุคคลกำหนดเพศของตัวเองได้ 

 

ธัญวัจน์ระบุอีกว่า แม้จะมีหลายเสียงไม่เห็นด้วยว่าอาจเกิดการสับสน หลอกลวง แต่ยืนยันว่าการหลอกกันไม่เกี่ยวกับเพศ ขึ้นอยู่กับความเป็นปัจเจกและความซื่อสัตย์ของแต่ละคน ทั้งนี้หากกฎหมายผ่าน ข้อมูลประชากรของประเทศไทยจะมีข้อมูลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้คาดคะเนงบประมาณ สวัสดิการที่อาจต้องมีความจำเป็นในเรื่องของเพศ การออกแบบนโยบายที่จะโอบรับคนทุกเพศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าเราต้องการที่จะเป็นผู้นำและสร้างความเท่าเทียมก้าวเข้าสู่สากลจริงๆ เราต้องมีกฎหมายฉบับนี้ และเราจะมีงานที่ต้องทำอีกมากมายเพื่อผลักดันความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น 

 

เพื่อไทยแนะควรศึกษาให้รอบคอบ หวั่นเกิดปัญหาภายหลัง

 

ขณะที่ ธีระชัย แสนแก้ว สส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายว่า การออกกฎหมายใดๆ จะต้องสอดคล้องไปกับบริบทของสังคม หากกฎหมายใดสุดโต่งเกินไปที่เกินกว่าความต้องการของสังคม กฎหมายนั้นจะไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน และอาจสร้างปัญหาให้กับสังคม 

 

ที่ผ่านมาสภาได้พิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อให้ได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการรับรองความเป็นคู่สมรสของคนเพศเดียวกัน โดยที่ตนเองก็อภิปรายสะท้อนเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด เพราะคิดเสมอว่าไม่ว่าใครบนโลกแห่งนี้ต่างมีความรักและไม่ควรถูกกีดกันเพียงเพราะคำนำหน้านาม 

 

ธีระชัยกล่าวต่อว่า ตนเองมีความกังวลใจและมีความห่วงใยต่อการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ไม่ว่าจะเป็นนาย นาง นางสาว ที่มีการแบ่งประเภทตามสภาพมาตั้งแต่กำเนิดนั้น แม้ในต่างประเทศอนุญาตให้เปลี่ยนคำนำหน้าได้ แต่ก็มีเกณฑ์และเงื่อนไขที่มีความยากง่ายแตกต่างกัน 

 

ธีระชัยอภิปรายอีกว่า แม้ตนเองจะเป็นคนที่สนับสนุนเรื่องสิทธิเสรีภาพทางเพศมาโดยตลอด และไม่ได้คัดค้านการเปลี่ยนคำนำหน้านาม แต่คิดว่าประเทศที่เปิดโอกาสให้เปลี่ยนคำนำหน้านามได้จะต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบก่อนที่จะเปลี่ยนคำนำหน้านามในหลากหลายขั้นตอน ทั้งต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่าเหตุใดจึงต้องการที่จะเปลี่ยนคำนำหน้านาม เพราะหากไม่มีการตรวจสอบผ่านกระบวนการของจิตแพทย์นั้นอาจนำมาซึ่งปัญหาในภายหลังได้  

 

ธีระชัยยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ ผู้ที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนคำนำหน้านามอาจต้องทำหมันเพื่อป้องกันกรณีที่มีการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดอาชญากรรมได้ เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านามแล้วไปหลอกทรัพย์ หรือการเปลี่ยนคำนำหน้านามเพื่อการล่วงละเมิดทางเพศ จึงเห็นว่าควรศึกษาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้อย่างรอบคอบ และเชื่อว่าหากคนเรารักกันจริงและเอาคำนำหน้านามมาเป็นอุปสรรคเพื่อปิดกั้นความรักนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่ความรัก

 

ควร ‘รับร่าง’ เพื่อโอบรับความหลากหลายทางเพศ 

 

ขณะที่ สิริลภัส กองตระการ สส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในรัฐสภาชุดนี้ สส. หลายคนได้ร่วมกันอภิปรายถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราได้มีการสะท้อนให้เห็นแล้วว่าเราพร้อมที่จะทำให้กฎหมายนั้นปรับตัวและโอบรับบริบทสังคมที่มีความแตกต่างกัน แม้ปัจจุบันจะมีการโอบรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากยิ่งขึ้นแล้ว แต่กฎหมายของเรายังเดินตามไปไม่ทัน เพราะในประเทศไทยยังมีอีกหลายมิติที่กฎหมายยังไม่ได้เปิดรับความหลากหลายทางเพศ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นอีกหนึ่งฉบับที่จะสะท้อนว่า สส. ชุดนี้พร้อมที่จะโอบรับความหลากหลายทางเพศ เพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการต่อสู้อย่างยาวนาน แต่การต่อสู้นั้นไม่ได้สูญเปล่า 

 

อนุสรณ์ชี้ อย่าเหาะเกินลงกา

 

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายว่า ตนเองเป็นหนึ่งในบุคคลที่เห็นชอบให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะเคารพในสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม แต่เรื่องของการเปลี่ยนคำนำหน้านามนั้นจะต้องพิจารณาให้ครบถ้วนทุกด้าน อย่าเหาะเกินลงกา (เปรียบเหมือนการกระทำที่เกินความจำเป็น) และอย่าไปไกลชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะจะมีปัญหาตามมาภายหลัง

 

อนุสรณ์กล่าวต่อว่า การที่เราจะภาคภูมิใจต่อสิ่งใดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงเพราะว่าเราใช้คำนำหน้านามว่าอะไร ความภาคภูมิใจในตัวเองนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นชายหรือหญิง หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เราสามารถภาคภูมิใจได้ วันนี้ต้องตั้งข้อสังเกตว่าเราจะเป็นชายจริงหญิงแท้ หรือกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ​ LGBTQIA+ เราก็ควรที่จะภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น 

 

“ไหนว่าเรามีความภาคภูมิใจในการเป็น LGBTQIA+ เราจะไปเปลี่ยนสภาพ LGBTQIA+ จากนายไปเป็นนางสาว หรือนางสาวไปเป็นนาย นั่นหมายความว่าเราไม่ได้มีความภาคภูมิใจกับเพศสภาพที่เราเป็นหรือไม่ หากวันนี้ทุกคนลุกขึ้นไปเปลี่ยนคำนำหน้านามต่อหน่วยงานราชการจำนวนมาก จะต้องใช้งบประมาณในการเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมาก และการจัดเอกสารต่างๆ ทั้งบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ เอกสารต่างๆ จะสร้างความสับสนและอลหม่านขนาดไหน” อนุสรณ์กล่าว 

 

อนุสรณ์กล่าวต่อว่า ก่อนที่เราจะเรียกร้องให้คนอื่นเคารพเรา เราควรที่จะต้องเคารพผู้อื่นก่อน และก่อนที่เราจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับตัวเอง เราควรที่จะหันไปมองอย่างรอบด้านด้วยว่าการเรียกร้องนั้นได้ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือไม่ 

 

ขัดหลักศาสนาอิสลาม

 

ขณะที่ ซูการ์โน มะทา สส. ยะลา พรรคประชาชาติ กล่าวว่า แม้ว่ารัฐสภาจะเห็นชอบกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระที่หนึ่งไปแล้ว แต่พรรคประชาชาติและผู้ที่สนับสนุนพรรคประชาชาติไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ส่วนกรณีคำนำหน้านามนั้น จุดยืนของพรรคประชาชาติยังยืนหยัดในจุดยืนเหมือนเดิม โดยส่วนตัวนั้นไม่ได้มีอคติใดๆ กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ด้วยความศรัทธาและความยึดมั่นต่อหลักการศาสนาอิสลามนั้น เราจะเห็นด้วยกับความหลากหลายทางเพศไม่ได้

 

“คำนำหน้านาม นาย นาง นางสาว มีมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยถึงปัจจุบัน ในวันนี้ผลพวงจากการรับหลักการกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลามนั้น เรากำลังเดินตรงข้ามกับหลักข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สิ่งที่ธำรงโลกได้มีอยู่ 2 เพศคือชายและหญิง ฉะนั้นเมื่อสภาแห่งนี้พยายามแก้ไขร่างดังกล่าว ผมเป็นห่วงว่ากระทบกับความรู้สึกของคนไทยอีกหลาย 10 ล้านคน และพรรคประชาชาติไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้” ซูการ์โนกล่าว

 

ช่วงหนึ่ง ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้หารือกับประธานสภาว่า สส. ฝั่งรัฐบาลมีการเสนอให้ถอนกฎหมายดังกล่าวออกไป และไม่อภิปรายร่างกฎหมายฉบับนี้

 

สภา 152:256 เสียง คว่ำร่างกฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านาม 

 

ท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 152 เสียง ไม่เห็นด้วย 256 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 410 คน

 

ทั้งนี้เมื่อร่างกฎหมายถูกตีตกไปแล้วจะไม่สามารถเสนอญัตติดังกล่าวรวมถึงร่างกฎหมายที่มีหลักการคล้ายกันได้ในสมัยประชุมนี้ โดยจะต้องส่งให้สภาเข้ามาพิจารณาใหม่ในการประชุมสมัยถัดไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising