×

6 พ.ค. วันสุดท้ายเปิดให้แสดงความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศฯ ส่วน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ อยู่ในชั้น กมธ. วุฒิสภา ตั้งเป้าดันสู่วาระ 2-3 ก.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
06.05.2024
  • LOADING...
ร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศฯ และ สมรสเท่าเทียม

วันนี้ (6 พฤษภาคม) รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน และจะสิ้นสุดในวันนี้

 

เนื่องด้วยพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 5 วรรค 3 กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ

 

รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นแก่ประชาชน และนำผลนั้นมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน และมาตรา 13 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลาง และจะใช้วิธีการอย่างหนึ่งหรือหลายวิธีด้วยก็ได้

 

ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงประกาศการรับฟังความคิดเห็นร่างพระบัญญัติการรับรองเพศฯ ได้แก่ ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ นักกฎหมาย นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย https://www.law.go.th, ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ https://www.m-society.co.th หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว http://www.dwf.go.th ระหว่างวันที่ 18 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2567 เพื่อให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้รวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบและการจัดทำร่างกฎหมายต่อไป

 

รัดเกล้ากล่าวต่อว่า อยากเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย เข้ามาแสดงความคิดเห็น เพื่อที่หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบดูแลสามารถนำผลไปดำเนินการเสริมหรือเพิ่มเติมต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มีความครอบคลุม ครบถ้วน สามารถสร้างประโยชน์และความเท่าเทียมต่อประชาชนทุกคนได้จริง

 

ในส่วนความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของชั้นกรรมาธิการของวุฒิสภา การพิจารณายังคงเป็นไปอย่างเข้มข้นและถี่ถ้วน คาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกถึง 2 สัปดาห์กว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ โดยตั้งเป้าให้เข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในการประชุมวุฒิสภาต้นเดือนกรกฎาคมนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising