×

สำนักวิจัยเศรษฐกิจเตรียมปรับ GDP ปีนี้ดีขึ้น หลังไตรมาส 3 หดตัวน้อยกว่าคาด

16.11.2020
  • LOADING...
สำนักวิจัยเศรษฐกิจเตรียมปรับ GDP ปีนี้ดีขึ้น หลังไตรมาส 3 หดตัวน้อยกว่าคาด

สำนักวิจัยเศรษฐกิจเตรียมปรับเพิ่มประมาณการ GDP ในปีนี้เป็น ‘หดตัวน้อยลง’ หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ออกมาดีกว่าคาด เผยส่วนใหญ่ยังห่วงไตรมาสสุดท้ายจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่กลับมา

 

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/63 ถือว่า ‘หดตัว’ น้อยกว่าที่สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งเดิมคาดกันว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสดังกล่าวจะหดตัวอยู่ที่ประมาณ 8% 

 

แต่ตัวเลขที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศออกมาในเช้าวันนี้ ‘หดตัว’ เพียงแค่ 6.4% ทำให้สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจหลายๆ แห่งเตรียมปรับคาดการณ์ GDP ในปีนี้ใหม่ โดยเป็นการปรับให้ดีขึ้นจากที่เคยประเมินไว้

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่ออกมาถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ สาเหตุจากตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ดีกว่าคาด โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดนั้นทำให้ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบีเตรียมปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ประเมินว่าจะหดตัวในระดับ 8%

 

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไตรมาส 3 จะดีกว่าการคาดการณ์ของตลาด แต่ในไตรมาส 4 มีแนวโน้มว่าจะกลับไปหดตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปกติแล้วไตรมาส 4 ของทุกปีเป็นช่วงไฮซีซันของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้ติดปัญหาโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 มีโอกาสหดตัวลึกในระดับ -6% ถึง -8%

 

นอกจากนี้ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนอาจชะลอลง แม้ว่าจะมีมาตรการจากภาครัฐออกมากระตุ้นทั้งโครงการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน แต่จากสถานการณ์ผู้ว่างงานที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นมากนัก รวมทั้งแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมแต่ยังว่างงานอยู่ ซึ่งกำลังจะครบ 6 เดือน ทำให้หลังจากนี้ไม่มีเงินอุดหนุนจากประกันสังคมแล้ว กรณีนี้น่าจะมีส่วนทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงได้ ดังนั้นตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จึงยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศออกมาสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น สาเหตุหลักจากการบริโภคภาคเอกชนที่ดีเกินคาด แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการฟื้นตัวในส่วนของสินค้าไม่คงทนและสินค้ากึ่งคงทน ส่วนสินค้าคงทนยังค่อนข้างทรงตัว 

 

สำหรับตัวเลขที่ออกมาดีกว่าคาดนี้ทำให้สายงานวิจัยซีไอเอ็มบีไทยเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ประเมินว่าทั้งปีจะหดตัว 7.5% ส่วนจะปรับเพิ่มเป็นเท่าไร ต้องขอดูตัวเลขเศรษฐกิจเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นเดือนแรกของไตรมาสสุดท้ายก่อนว่ายังสามารถฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องหรือไม่

 

“แม้ไตรมาส 3 จะดีกว่าที่เราคาด แต่เรายังกังวลช่วงไตรมาสสุดท้ายอยู่ ซึ่งการบริโภคไตรมาส 3 ที่ดีขึ้นอาจเพราะอัดอั้นมาจากไตรมาสก่อนหน้า และตอนนี้ก็ดูเหมือนคนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อีกทั้งหลายๆ ประเทศเริ่มกลับไปล็อกดาวน์ จึงอาจมีผลต่อการส่งออกของเราได้เช่นกัน”

 

เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่าศูนย์วิจัยกสิกรไทยเตรียมปรับคาดการณ์​ GDP ในปีนี้ใหม่ หลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3/63 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งปัจจุบันศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัวราว 10%

 

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ออกมาดีกว่าคาด ส่วนใหญ่มาจากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐซึ่งขยายตัวได้ค่อนข้างดี โดยการบริโภคภาครัฐเติบโต 3.4% ขณะที่การลงทุนภาครัฐเติบโตถึง 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

“เราคงต้องทบทวนตัวเลขใหม่ เพราะข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาถือว่าดีกว่าที่คาดไว้พอสมควร หลักๆ มาจากการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐที่เร่งตัวขึ้นมาก ทำให้ภาพเศรษฐกิจไตรมาส 3 ออกมาค่อนข้างดี”

 

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะหดตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 3 คือที่ประมาณ​ -6% เศษๆ แต่ถ้าเทียบกับไตรมาสต่อไตรมาสแล้ว เชื่อว่าจะขยายตัวได้พอสมควร เนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐเข้ามาช่วยด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจระยะข้างหน้ายังมีสูง โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างประเทศที่เริ่มกลับมาเป็นประเด็น ทำให้บางประเทศอาจต้องกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์ กรณีเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้เช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising