กกร. หั่น GDP ปีนี้ลงเหลือโต 2-2.5% จากเดิม 2.5-3% หลังเศรษฐกิจและนักท่องเที่ยวชะลอตัว ประเมินไวรัสกระทบท่องเที่ยวสูญเสียรายได้ 1.08-2.2 แสนล้านบาท พร้อมเสนอรัฐ 5 ข้อ หวังเศรษฐกิจไม่ทรุดไปมากกว่านี้
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 เผชิญความท้าทายจากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศจีน ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อใด
ปัจจัยนี้นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนในปี 2563 จะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด และส่งผลทางลบมากขึ้นต่อการส่งออกของไทยแล้ว ยังเป็นแรงฉุดสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของไทยให้ประสบกับความยากลำบาก เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนด้านจำนวนและรายได้คิดเป็น 28% ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในจีนอยู่ในกรอบเวลา 3-6 เดือน ในเบื้องต้นผลกระทบจากรายได้การท่องเที่ยวที่หายไปอาจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.08-2.2 แสนล้านบาท ครอบคลุมธุรกิจในห่วงโซ่ทั้งโรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร ค้าปลีก และขนส่ง ในขณะที่ผลกระทบอาจทำให้การส่งออกลดลงด้วย ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับปัจจัยในประเทศ ได้แก่ ความล่าช้าของการมีผลบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น การลงทุน และภัยแล้งที่รุนแรง ซึ่งเป็นแรงฉุดกำลังซื้อของครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก รวมทั้งปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หรือ PM2.5 ที่อาจมีผลต่อคุณภาพชีวิตและการทำกิจกรรมกลางแจ้งของประชาชน
ซึ่งเศรษฐกิจไทยที่ขาดแรงขับเคลื่อน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ประชุม กกร. มองว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้ จึงพิจารณาปรับลดประมาณการลงเป็นกรณีพิเศษในรอบนี้ โดย กกร. ประเมินว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2563 อาจลดลงมาที่ 2.0-2.5% จากเดิม 2.5-3.0% และปี 2562 ที่อยู่ 2.5%
แต่ยังคงกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกไว้ที่หดตัว 2-0% จากปี 2562 ที่หดตัว 2.7% และเงินเฟ้อที่ 0.8-1.5% จากปี 2562 ที่อยู่ 0.7% ในขณะที่ยังคงต้องติดตามการออกมาตรการของทางการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
“เราปรับลด GDP เป็นครั้งแรก จากเดิมจะประเมินทุกๆ 3 เดือน แต่ด้วยปัจจัยลบจากภายนอกรุนแรงกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวชัดเจน ไม่รวมส่งออกและนำเข้าอีก อันนี้คือเราประเมินผลกระทบจากการระบาดในกรอบระยะเวลา 3 เดือน ส่วนปัจจัยในประเทศมีเพียงงบประมาณที่ล่าช้าเท่านั้น ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจออกมาแย่กว่าที่เราคาดไว้” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทาง กกร. ได้เสนอข้อเร่งด่วนต่อภาครัฐ ดังนี้
1. ขอตั้ง กกร. ร่วมกับกรมบัญชีกลางเพื่อปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม และการจัดซื้อ Local Content รวมทั้งช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการเข้าประมูลภาครัฐ
2. ขอยกเว้นการจ่ายประกันสังคมของลูกจ้างและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นระยะเวลา 6 เดือน
3. ขอให้คืน VAT ให้เร็วขึ้น ไม่เกิน 30 วัน จากเดิม 90 วัน
4. ลดค่าไฟฟ้า 5% จากยอดเรียกเก็บให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งรวมไปถึงคนที่ใช้ไฟทั้งหมด
5. ภาคเอกชนจะประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในประเทศ โดยสนับสนุนให้ร้านค้า โรงแรม และบริษัทในเครือข่ายจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
“อยากให้ภาครัฐรับข้อเสนอและเร่งดำเนินการแก้ไข จากก่อนหน้านี้ทางภาครัฐได้ช่วยเหลือภาคเอกชนเป็นอย่างดี นำเสนอคณะรัฐมนตรีอย่างรวดเร็วจนมีมาตรการออกมา ทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการ มีวงเงินช่วยเหลือ ลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย ยืดอายุการชำระหนี้ จึงอยากให้ครั้งนี้เป็นเหมือนครั้งก่อน โดยเชื่อว่าจะผ่านคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนนี้ ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดจะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ทรุดตัวลงไปมากกว่านี้” สุพันธุ์กล่าว
รายงาน: กรณัช พลอยสวาท
เรียบเรียง: จำเนียร พรทวีทรัพย์
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinance.com
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์