×

สภาพัฒน์ชี้ โควิด-19, ภัยแล้ง, งบฯ ล่าช้า ฉุด GDP ปี 63 เสี่ยงโตต่ำ 2%

17.02.2020
  • LOADING...

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่าปี 2563 ปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 มาอยู่ที่ 1.5-2.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ก่อนหน้านี้มองไว้ที่ระดับ 2.7-3.7% 

 

ทั้งนี้สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการ GDP จาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 

1. การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เบื้องต้นประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะปรับลดลงเหลือ 37 ล้านคน จากก่อนหน้าที่อยู่ราว 40.8 ล้านคน ขณะเดียวกันจะกระทบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 2.3 แสนล้านบาท 

 

เบื้องต้นประเมินว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อไทยถึงช่วงเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ 

 

2. ภัยแล้งที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยปริมาณน้ำปี 2563 คาดว่าจะลดลง 34% จากปี 2562 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรปรับติดลบ 5.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นย่อมส่งผลกระทบมากขึ้น

 

3. ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณปี 2563 จากสมมติฐานเดิมมองว่าจะเริ่มเบิกจ่ายต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปัจจุบันเลื่อนออกไปเป็นต้นเดือนเมษายนนี้ 

 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น จับตาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่อาจเพิ่มขึ้น ขณะที่กรณีจีน-สหรัฐฯ แม้บรรเทาความรุนแรงลง แต่ต้องติดตามการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงว่าจะมีพัฒนาการขึ้นเป็นความเสี่ยงหรือไม่

 

นอกจากนี้ไตรมาส 1 ปี 2563 มีโอกาสที่การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) อาจติดลบได้ ซึ่งไตรมาส 4 ปี 2562 GDP ไทยอยู่ที่ 1.6% ส่งผลกระทบให้ทั้งปี 2563 GDP ไทยอยู่ที่ 2.4% 

 

“เศรษฐกิจไทยไม่น่าจะต่ำกว่า 2% แต่ต้องจับตาเรื่องอื่นทั้งเชิงบวกและลบ หากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น มาตรการรัฐที่ออกมาแล้วและ GDP ไตรมาส 4 ปี 2562 ท่ีออกมาต่ำจะทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะย่อตัวสูงขึ้น” 

 

ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลทำได้คืองบการเบิกจ่ายภาครัฐในโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงส่วนต่อขยายรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) รถไฟฟ้าไทย-จีน เป็นส่วนที่ราชการต้องทำร่วมกันเพื่อเพิ่มการลงทุนของภาครัฐลงสู่เศรษฐกิจโดยเร็ว

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X