×

GCNT-UN รวมพลังภาคเอกชนประกาศเจตนารมณ์ปกป้อง-ฟื้นฟูระบบนิเวศ 30% ภายในปี 2030 เร่งเครื่องสู้วิกฤตโลกรวน

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2022
  • LOADING...
GCNT Forum 2022

จากวิกฤตโลกรวนที่กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศอย่างเท่าเทียม ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาพูดถึงใน GCNT Forum 2022 : Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges

 

การเร่งหาทางออกของภาคธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นงานประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปีที่จัดขึ้นโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations Thailand) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม ผู้ประสานงานประจำสหประชาชาติประจำประเทศไทย 

 

ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงของสมาชิก GCNT ว่าตามที่สมาชิกได้ประกาศเจตนารมณ์ตั้งแต่ปีที่แล้วที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero โดยแสดงความมุ่งมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินปี 2070 ขณะนี้สมาชิกของสมาคมได้ร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าผ่านโครงการต่างๆ เปรียบเสมือนการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนไปกว่า 1.6 ล้านคัน 

 

GCNT-UN

 

งาน GCNT Forum 2022 ปีนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแสดงความพร้อมของภาคเอกชนที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตาม BCG Model และตามแนวคิด Open. Connect. Balance. ‘การเปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพของไทย ปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่งของแนวคิดเหล่านี้มาจากความตระหนักรู้และความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกยังอยู่ในสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ตึงเครียด และมีความเสี่ยงว่าวิกฤตสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจะถูกละเลย โดยภาคธุรกิจต้องร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ เตรียมรับมือกับผลกระทบในเรื่องนี้ให้ทันท่วงที ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสติ ความมุ่งมั่น และทุ่มเทกำลังปัญญาและทรัพยากร เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ควบคู่ไปกับการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า สร้างสรรค์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs โดยยังจำเป็นต้องอาศัยกลไกตลาดและกลไกทางการเงินที่มีประสิทธิผล พร้อมทั้งจัดทำรายงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและติดตามผลการดำเนินงาน 

 

“การดำเนินธุรกิจโดยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมการพัฒนาและส่งมอบคุณค่าแก่สังคม จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็ง หรือ Resilience ขององค์กรและระบบเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป” ศุภชัยกล่าว

 

ในขณะที่ กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจําประเทศไทย ได้เน้นย้ำ 3 ประเด็นสำคัญเพื่อรับมือกับวิกฤตโลกว่า ประเด็นแรกคือ บทบาทของผู้นำภาคเอกชน โดยเฉพาะสมาชิก GCNT ที่เดินหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การลงทุนในเทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เพิ่มการลงทุนอย่างรับผิดชอบ เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังเช่น การลงมือทำอย่างจริงจังและประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  

 

 

ประเด็นที่สองคือ การปลดล็อกการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนจากตลาดการเงินในประเทศ และประเด็นที่สามคือ ความร่วมมือกับเครือข่ายของสหประชาชาติที่พร้อมยืนหยัดสนับสนุนองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เช่น ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในตลาดคาร์บอนและพลังงาน เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำที่ดีที่สุด การจัดการของเสีย การก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อให้รัฐบาลและภาคธุรกิจสามารถนำความยั่งยืนไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มทุน

 

“โลกสามารถเรียนรู้ถึงบทบาทสำคัญของภาคเอกชนไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs และสมาชิก GCNT เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญบนเวทีโลกได้ เป็นตัวอย่างแห่งความหวังและความเป็นผู้นำอย่างเข้มแข็งของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง หากผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดทำงานร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” กีต้ากล่าว

 

ด้าน วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงจะขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 6 ด้าน ได้แก่ 

 

  1. ด้านนโยบาย 
  2. ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
  3. ด้านการค้า/การลงทุน 
  4. ด้านการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ 
  5. ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก 
  6. ด้านการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับจาก Voluntary เป็น Mandatory 

 

โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและกลไกการเงินที่จำเป็น การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา และการถ่ายทอดเป้าหมาย 

 

 

“ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ Carbon Neutrality อย่างยั่งยืน เราต้องร่วมกันดูแลโลกใบนี้ไว้เพื่อลูกหลานเราต่อไป” วราวุธกล่าว

 

ไฮไลต์ของงาน GCNT Forum 2022 อยู่ที่การประกาศเจตนารมณ์ของสมาชิก GCNT ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องธรรมชาติ อย่างเป็นรูปธรรม วัดผล และขยายผลได้ โดยตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงจะเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ร่วมปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-Based Solutions) เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ โดยประกาศเจตนารมณ์ว่าจะมุ่งมั่น บริหารจัดการ กำหนดนโยบาย และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีระบบในการประเมินและติดตามตรวจสอบคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และด้วยการสนับสนุนกลไกทางการเงินและการบริหารจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปกป้องคุ้มครองพื้นที่บนบกและทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ภายในปี 2030

 

ทั้งนี้ GCNT Forum 2022 จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติและแพลตฟอร์มออนไลน์ ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. โดยมีผู้นำความยั่งยืนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนกว่า 100 คน โดยภายในงานมีเสวนาถึง 5 เวที 5 หัวข้อ ได้แก่ 

 

  1. ทางออกในการบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

  1. การสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจในการฟื้นฟูและบรรเทาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รายกลุ่มย่อย ได้แก่ 

2.1 ภาคพลังงานและการขนส่ง 

2.2 เมืองอัจฉริยะ อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และสินค้าอุปโภคบริโภค 

2.3 ทางเลือกการลงทุนและบทบาทของตลาดทุน

 

  1. การกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพ-บทบาทของธุรกิจและผู้บริโภค 

 

  1. การดำเนินการขั้นต่อไป เพื่อการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในด้านสภาพอากาศและการปกป้องธรรมชาติ 

 

  1. สรุปการหารือและการดำเนินการต่อไป 

 

 

ผู้สนใจสามารถรับชมการประชุม GCNT Forum 2022 ย้อนหลังได้ที่ www.globalcompact-th.com

 

#GCNTforum2022

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X