งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ที่เพิ่งจบลงไป นับเป็นอีเวนต์ใหญ่ครั้งแรกระดับประเทศ ที่เป็นการจับมือร่วมกันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการร่วมแสดงพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญ ด้วยการจัดการอุปกรณ์และข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมดในงาน ให้มีทางไปต่อ ไม่ให้เกิดการสูญเปล่า และไม่เหลือเศษขยะไว้ข้างหลังเลยแม้สักชิ้น ผลงานชิ้นโบแดงจากแคมเปญ ‘Waste This Way’ โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมมือกับ แม็กซ์-ชยุตม์ สกุลคู ผู้ก่อตั้งบริษัท TACT Social Consulting ที่ปรึกษาด้าน CSR ที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนผ่านพลังคนรุ่นใหม่ เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์โลก สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาขยะออกไปสู่สังคมอย่างครบวงจร
เริ่มด้วยแนวคิด ‘Circular Living’
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวถึงที่มาที่ไปของแคมเปญดังกล่าวว่า
“GC เรามุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด โดยการดำเนินตามเแนวคิด GC Circular Living หรือการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน ทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ความพยายามนี้ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการกระทำขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น เราจึงร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแคมเปญ ‘Waste This Way: ร่วมกันรักษ์โลกให้ถูกทาง’ ขึ้นมา เพื่อพลิกโฉมงานฟุตบอลประเพณีให้กลายเป็นงานต้นแบบในการออกแบบ และจัดกิจกรรมอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน และสร้างไลฟ์สไตล์แบบ Circular Living ให้เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น”
TACT = Take Action พลังคนรุ่นใหม่ที่ต้องลงมือทำ
แม็กซ์-ชยุตม์ สกุลคู ในฐานะตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่ง GC ได้ให้การสนับสนุนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาพร้อมผลักดันแคมเปญ ‘Waste This Way’ ผ่านการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในงานฟุตบอลประเพณีครั้งนี้ เชื่อมั่นว่านี่คือพื้นที่และจุดเริ่มต้นของพลังคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยสร้างการรับรู้เรื่องการรักษ์โลกได้เป็นอย่างดี ก่อนจะต่อยอดไปยังหน่วยงานทางสังคม องค์กรเอกชนอื่นๆ และแปรเปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
“เมื่อก่อนตอนผมเรียนหนังสืออยู่ มีความรู้สึกว่าค่ายอาสาที่เราทำในการช่วยเหลือสังคมมันยังไม่เกิดอิมแพ็กมากนัก ผมจึงลองตั้งเป็นชมรมเพื่อความยั่งยืนในมหาวิทยาลัย พอจบออกมาเราก็อยากทำงานลักษณะแบบนี้เป็นอาชีพอย่างจริงจัง เลยตั้ง TACT Social Consulting ขึ้น ลองเข้าไปพูดคุยกับทุกๆ ธุรกิจใหญ่ ที่มุ่งตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) มากกว่าที่เป็นอยู่ แล้วทาง GC เองก็มีแนวคิด ‘Circular Living’ หรือการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าอยู่แล้ว เราก็เลยชวนว่าควรสื่อสารสิ่งนี้ไปสู่คนรุ่นใหม่นะ อย่างงานฟุตบอลประเพณีถือว่าเป็นงานที่ดี สร้างการรับรู้ได้มาก เราอยากปลุกกระแสให้เห็นว่าแม้แต่งานใหญ่อย่างงานฟุตบอลประเพณี เราก็ตั้งใจในการจัดการขยะ เลยชวนให้ GC ริเริ่มแคมเปญนี้ขึ้นมา ก็ขอขอบคุณทาง GC เอาไว้ด้วยเลยในโอกาสนี้ครับ ที่เห็นความสำคัญของพลังเด็กรุ่นใหม่อย่างพวกผม จากนั้นก็ชวนทางจุฬาฯ มาเป็นพาร์ตเนอร์ และ TACT เป็นผู้ดำเนินการหลักครับ”
“ลด เปลี่ยน แยก” คอนเซปต์หลัก
ลด…ลดขยะด้วยการลดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นตั้งแต่ต้นทาง
เปลี่ยน…เปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่ไม่สามารถลดใช้ได้
แยก…แยกขยะเพื่อนำไปจัดการต่อได้อย่างเหมาะสม ในกรณีที่ไม่สามารถลดใช้หรือเปลี่ยนวัสดุได้
สิ่งที่เกิดขึ้นภายในกิจกรรมหลักต่างๆ ไล่เรียงไปตั้งแต่ บนสแตนด์แปรอักษร นิสิตนักศึกษา ที่มาร่วมขึ้นสแตนด์แปรอักษร ได้รับอาหารกลางวัน และอาหารว่างบรรจุในกล่องบรรจุอาหารเคลือบพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ ขณะที่กองเชียร์ได้รับพัด ที่มีเนื้อหาให้ความรู้เรื่องการแยกขยะอย่างถูกต้อง และถุงผ้า Upcycling สำหรับใส่อุปกรณ์ยังชีพบนสแตนด์ รวมถึงเสื้อของผู้นำเชียร์ของน้องๆ ทั้งสองสถาบันก็ Upcycling จากขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วเช่นกัน
กิจกรรมภาคพื้นสนาม มีการจัดเตรียมหลักการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง โดยวัสดุที่ใช้หลังจบงาน จะทำการคัดแยกและนำมาใช้ใหม่ด้วยการ Reuse, Recycle และ Upcycle นอกจากนี้ขบวนพาเหรด GC ยังสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์และการออกแบบ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาสามารถออกแบบขบวนพาเหรดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้
รอบบริเวณงานยังมีถังแยกขยะ ทั้งถังแยกขยะอินทรีย์ เศษอาหาร ถังแยกภาชนะที่สามารถกลับมารีไซเคิลได้ ถังแยกสำหรับภาชนะปนเปื้อนที่ยากต่อการนำกลับมารีไซเคิล รวมถึงถังแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพพร้อมป้ายคำอธิบาย และทีมเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการแยกขยะอย่างถูกวิธี
ทางเดินของขยะ ไม่ทิ้งอะไรไว้ข้างหลัง
ของทุกชิ้นไม่สูญเปล่าหลังงานนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุจากขบวนพาเหรด อาทิ ไม้ส่งต่อไปยังมูลนิธิกระจกเงา เพื่อใช้ต่อเติมให้กับผู้ยากไร้ ผ้านำมา Upcycling ด้วยการเย็บเป็นกระเป๋าให้กับน้องๆ ผู้ด้อยโอกาส กระดาษเพลตแปรอักษรส่งต่อไปยังโรงเรียนคนตาบอด เพื่อใช้ในการทำอักษรเบรลล์ ขณะที่ขวดพลาสติกทั้งหลายภายในงาน จะนำไป Upcycle เป็นรองเท้าผ้าใบเพื่อมอบให้น้องๆ โรงเรียนห่างไกล กล่องบรรจุอาหารเคลือบพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Bio-Compostable
Packaging นำไปหมักเพื่อให้เกิดการย่อยสลาย หรือแม้กระทั่งเศษอาหาร ก็ถูกส่งไปเป็นอาหารสัตว์และทำเป็นปุ๋ย เป็นต้น
บทสรุปที่สำเร็จ
ความสำเร็จวัดผลได้จริง นี่คือความหมายที่ภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง GC มองเห็นความสำคัญของพลังคนรุ่นใหม่ พร้อมสนับสนุนและมอบพื้นที่แห่งไอเดียสดใหม่นี้ ทำให้งานบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 จากการจัดการขยะของแคมเปญ ‘Waste This Way’ เกิดบทสรุปที่สำเร็จอันได้แก่
ลด…
ก๊าซเรือนกระจก 18,121 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 2,013 ต้น
การใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 2,487 ชิ้น
การนำขยะไปฝังบ่อกลบ 72%
เปลี่ยน…
ไปใช้กล่องบรรจุอาหารเคลือบพลาสติกชีวภาพ 8,880 ชิ้น
ไปใช้เสื้อ Upcycle จากขวดพลาสติกสำหรับสตาฟฟ์เชียร์ 3,700 ตัว
ไปใช้ถุง Upcycle จากขวดพลาสติก 5,700 ใบ
แยก…
ขยะรวม 4,995 กิโลกกรัม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
ขวดพลาสติก Upcycling เป็นรองเท้าให้กับนักเรียนพื้นที่ห่างไกล
ผ้าและไวนิล Upcycling เป็นกระเป๋าให้กับนักเรียนพื้นที่ห่างไกล
ไม้นำไปสร้างบ้านให้กับผู้ยากไร้ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา
เพื่อนำขยะไปจัดการอย่างเหมาะสม
ขยะรีไซเคิล/แห้งสะอาด นำเข้ากระบวนการรีไซเคิลเผาเป็นพลังงาน
ขยะเศษอาหาร นำไปเป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ย
ขยะพลาสติกชีวภาพ นำไปฝังเพื่อสลายตัวเป็นปุ๋ย หรือใช้เป็นกระถางเพาะชำ
คำกล่าวทิ้งทาย
“GC เชื่อมั่นว่า ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินแคมเปญ ‘Waste This Way’ และความร่วมมือร่วมใจของนิสิตนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัย จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลไปยังสังคมในวงกว้างต่อไป ยกระดับความรู้ ความเข้าใจด้านการจัดการขยะไปสู่การปฏิบัติงานจริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดูแลทรัพยากรอย่างยั่งยืนและพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น” ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง กล่าวถึงแคมเปญดีๆ แบบนี้ไว้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอย่างมีความสุข
#WasteThisWay #รักษ์โลกให้ถูกทาง
#GCCircularLiving #ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์