โลกใบนี้เหลือทรัพยากรให้เราหยิบนำมาใช้ได้อย่างตามใจน้อยลงไปทุกที แม้ว่าทรัพยากรบางอย่างจะถูกคาดการณ์ว่ายังคงมีให้ใช้ได้นาน 50 ปี หรือ 100 ปี แต่หากคิดถึงความจำเป็นที่เราควรปล่อยให้ทรัพยากรเหล่านั้นมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ เช่นทุกวันนี้แล้ว เราเชื่อว่าหลายคนคงไม่เห็นด้วยและกำลังหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลึกๆ อยู่ในใจไม่ต่างกัน
ดังนั้น เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมด จึงมีการคิดค้นวัสดุใช้แทนธรรมชาติเข้ามาแทนที่ อย่างเช่น ‘พลาสติก’ ที่หลายคนมองว่าเป็นวายร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะด้วยความเหนียว แข็งแรง และมีอายุการใช้งานยืนยาว ทำให้พลาสติกที่เคยได้รับความนิยม ตอนนี้กลายเป็นขยะที่สร้างปัญหาเป็นอันดับ 1 ของโลก และการจะแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายให้ดีขึ้นได้โดยเร็วก็อาจไม่ใช่การเลิกผลิตโดยทันที แต่เป็นการทำให้ทุกคนรู้จักกับแนวคิดหนึ่งที่จะทำให้เราดึงประโยชน์สูงสุดของพลาสติกหรือขยะออกมาใช้อย่างคุ้มค่า
‘Circular Economy’ แนวคิดการทำธุรกิจอย่างเป็นมิตรต่อโลก
เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ไม่ใช่แนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ เพราะมีการนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงปี 1970 โดยมีหลักการสำคัญคือ ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ด้วยกระบวนการที่ลดการสูญเปล่าให้น้อยที่สุด ด้วยการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (Renewable Resources) มากกว่าการใช้ทรัพยากรใหม่ เพื่อใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดปริมาณขยะจากการทำธุรกิจไปด้วยในคราวเดียว วิธีการนี้เราเรียกว่า Reuse หรือ Re-Material เป็นการนำทรัพยากรหรือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง
นอกจากการเลือกใช้ทรัพยากร Circular Economy ก็หมายถึงการวางแผนอย่างใส่ใจและให้ความสำคัญกับขั้นตอนอื่นในระบบด้วย เช่น การออกแบบ การผลิต การบริโภค และการจัดการขยะ เพื่อทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าในทุกขั้นตอน และทำให้ผลิตภัณฑ์ที่แจกจ่ายออกไปสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อยที่สุด วิธีหนึ่งที่เราเห็นกันมากขึ้นก็คือ การแปรรูปขยะพลาสติกให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์มีมูลค่า หรือ ‘Upcycling’ ตัวอย่างเช่น การเก็บขยะจากท้องทะเลมาแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่นในชีวิตประจำวัน เพื่อทำให้ขยะเหล่านั้นไม่กลับลงไปในธรรมชาติอีก โดยมีการจัดทำโครงการชื่อ Upcycling the Oceans, Thailand ที่เกิดจากการร่วมมือกันของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) และมูลนิธิ Ecoalf จากประเทศสเปน
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้และอาจกำลังคิดว่า Circular Economy เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการเท่านั้น ดังนั้นเพื่อทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ จึงมีการนำหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนทั่วไปและมั่นใจได้เลยว่าสามารถทำได้จริง
‘Circular Living’ ปรับเปลี่ยนวิธีใช้ สร้างความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมไปมากกว่าเดิม
แนวคิด Circular Living มีจุดประสงค์เดียวกันกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรและใช้อย่างมีความรับผิดชอบ Circular Living สามารถใช้ได้กับทุกหน่วยงานหรือบริษัท ไปจนถึงชีวิตประจำวันของเราทุกคน มีหลักการตัวอย่างที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC นำไปใช้ภายในองค์กรคือ 5Rs ได้แก่ Reduce, Reuse, Recycle, Refuse และ Renewable การทำตามหลักการนี้ก็ไม่ยาก เริ่มจากลดการใช้พลาสติกหรือไม่สร้างขยะใหม่ พยายามใช้ของเดิมที่มีอยู่ให้คุ้มค่า และให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลและอัปไซเคิล
GC มุ่งหวังที่ทำให้เกิดการใช้พลาสติกและเคมีภัณฑ์อย่างมีความรับผิดชอบ ตามแนวคิด Circular Living ที่องค์กรต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากทุกคน ทุกฝ่าย เพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดบนพื้นฐานที่ต้องการให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมดีขึ้น ด้วยการสร้างการตระหนักรู้จนไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้คนปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ เริ่มต้นด้วยของใกล้ตัว นั่นคือพลาสติกในชีวิตประจำวัน เพราะพลาสติกมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน GC เห็นถึงคุณค่าจุดนี้ ดังนั้นเราควรใช้อย่างรู้คุณค่า แยกทิ้งให้ถูกที่ เพื่อให้ขยะแต่ละชนิดได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง และนำไปรีไซเคิลกลับเป็นวัตถุดิบได้อีกครั้ง รวมถึงการเลือกใช้พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืช ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทนเมื่อต้องใช้พลาสติกแบบ Single-use เช่น หลอด หรือแก้วน้ำ
เราทุกคนมีตัวเลือกว่าต้องการอาศัยอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมแบบไหน ซึ่งการนำหลัก Circular Economy มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้เป็น Circular Living ก็อาจเป็นคำตอบที่ใช่ หากสังคมในแบบที่คุณต้องการหมายถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีบนพื้นฐานของการไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมไปมากกว่าเดิม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า