×

‘Gardening Leave’ ของ แดน แอชเวิร์ธ กับนิวคาสเซิลมีความหมายอย่างไร?

20.02.2024
  • LOADING...
Dan Ashworth

HIGHLIGHTS

  • ความจริงแล้วเรื่องของการทาบทามคนในสายงานบริหารไปทำงานไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของวงการฟุตบอล​ ซึ่งก็เหมือนกับการทำงานในบริษัททั่วไป หากที่ไหนมีข้อเสนอ (Offer) ที่ดีกว่า โปรเจกต์การทำงานน่าสนใจกว่า ก็สามารถเจรจาพูดคุยกันได้ ไม่ได้มีความรู้สึกที่ไม่ดีอะไรต่อกัน
  • นิวคาสเซิลตัดสินใจใช้วิธีการ Gardening Leave นั่นก็คือการไม่อนุมัติการลาออก ลูกจ้างยังคงมีสถานะตามสัญญาที่มีกันอยู่เดิม ได้รับค่าตอบแทนเหมือนเดิม (หรือหลายคนอาจคุ้นกับคำว่า Leave with Pay มากกว่า) สิ่งที่เพิ่มเติมคือห้ามปฏิบัติงานใดๆ อีกต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนด

ความคืบหน้าของการล่าตัว แดน แอชเวิร์ธ ผู้บริหารระดับสูงคนสำคัญของนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เพื่อมานั่งแท่นผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

 

โดยล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 กุมภาพันธ์) นิวคาสเซิลออกแถลงการณ์สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยระบุว่า แดน แอชเวิร์ธ อยู่ในช่วงของการ ‘Gardening Leave’

 

คำนี้มีความหมายอย่างไร? และในทางปฏิบัติแล้วแอชเวิร์ธยังถือเป็นคนของนิวคาสเซิลอยู่หรือไม่?

 

 

 

เรื่องราวการพยายามทาบทามตัว แดน แอชเวิร์ธ ซึ่งถือเป็นสุดยอดในสายงานด้านผู้อำนวยการสโมสรของวงการฟุตบอลอังกฤษ ถือเป็นข่าวใหญ่ของเกมลูกหนังเมืองผู้ดีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

เนื่องจากสโมสรที่อยากได้ตัวเขาคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยักษ์ใหญ่ที่หลับใหลมานาน และต้องการที่จะตื่นกลับมาครองวงการอีกครั้ง หลังจากที่ได้ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เข้ามาบริหารกิจการในฐานะเจ้าของสโมสร 25% ที่ได้รับอนุญาตจากครอบครัวเกลเซอร์ให้รันกิจการทั้งหมด

 

ในมุมมองของแรตคลิฟฟ์และกลุ่ม INEOS แอชเวิร์ธคือ ‘The Best’ ของตำแหน่งผู้อำนวยการสโมสร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในเกมฟุตบอลสมัยใหม่ ในฐานะคนที่กำหนดทิศทางของสโมสรเกี่ยวกับเรื่องในสนามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการเล่น ระบบโครงสร้าง ไปจนถึงการสรรหาคนที่จะเข้ามาทำงานทั้งตำแหน่งสตาฟฟ์โค้ช ไปจนถึงผู้เล่น และดูแลยาวไปถึงกลุ่มนักเตะในอะคาเดมีของสโมสร

 

แต่การจะได้ตัวแอชเวิร์ธไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาเองก็นั่งแท่นตำแหน่งเดียวกัน (Director of Football) กับนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด หลังถูกซื้อตัวมาจากไบรท์ตันแอนด์​ โฮฟอัลเบียน เมื่อ 2 ปีก่อน

 

ความจริงแล้วเรื่องของการทาบทามคนในสายงานบริหารไปทำงานไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของวงการฟุตบอล​ ซึ่งก็เหมือนกับการทำงานในบริษัททั่วไป หากที่ไหนมีข้อเสนอ (Offer) ที่ดีกว่า โปรเจกต์การทำงานน่าสนใจกว่า ก็สามารถเจรจาพูดคุยกันได้ ไม่ได้มีความรู้สึกที่ไม่ดีอะไรต่อกัน

 

แต่ในรายของแอชเวิร์ธ ปัญหาเกิดขึ้นตรงที่แมนฯ ยูไนเต็ด ใช้วิธีการ ‘จีบออกสื่อ’ แทนที่จะติดต่อพูดคุยกับนิวคาสเซิลโดยตรง โดยที่หลังฉากการเจรจาพูดคุยกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วและเข้าใจได้

 

วิธีนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่นิวคาสเซิลอย่างมาก

 

ผู้อำนวยการสโมสรคนสำคัญ ในวันเซ็นสัญญาซานโดร โตนาลี

 

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเมื่อแอชเวิร์ธตัดสินใจแล้วว่าจะไปจากสโมสรเพื่อไปรับตำแหน่งใหม่ในสโมสรที่ใหญ่กว่าอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด ทางด้านนิวคาสเซิลได้สั่งระงับไม่ให้เขาเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างที่อยู่ในระบบของสโมสรทันที เพราะเป็นข้อมูลความลับที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ

 

เพราะแม้แต่ เอ็ดดี ฮาว ผู้จัดการทีมก็แสดงความกังวลว่าแอชเวิร์ธจะหนีบเอา ‘โปรเจกต์’ ของนิวคาสเซิลไปให้แมนฯ ยูไนเต็ดด้วย

 

ก่อนที่จะมีการออกมาแถลงว่า “Newcastle United can announce that Dan Ashworth has commenced a period of gardening leave.”

 

ถ้อยแถลงแบบนี้มีความหมายอย่างไร? Gardening Leave คืออะไร?

 

สำหรับคนที่อยู่ในโลกของการทำงานแบบออฟฟิศจะเข้าใจได้ทันทีว่านี่คือมาตรการของบริษัท (นิวคาสเซิล) ที่ป้องกันไม่ให้พนักงานของตน (แอชเวิร์ธ) ย้ายข้ามฟากไปทำงานกับบริษัทคู่แข่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องต้องห้าม

 

ย้อนกลับไปในจุดที่แอชเวิร์ธได้แจ้งกับผู้บริหารระดับสูงของนิวคาสเซิลว่าเขาต้องการจะไป นั่นก็คือการแจ้งลาออกจากตำแหน่งแล้ว ซึ่งสโมสรไม่เห็นชอบ

 

เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ อาจต้องจ่ายถึง 15 ล้านปอนด์เพื่อแอชเวิร์ธ   

 

นิวคาสเซิลตัดสินใจใช้วิธีการ Gardening Leave นั่นก็คือการไม่อนุมัติการลาออก ลูกจ้างยังคงมีสถานะตามสัญญาที่มีกันอยู่เดิม ได้รับค่าตอบแทนเหมือนเดิม (หรือหลายคนอาจคุ้นกับคำว่า Leave with Pay มากกว่า) สิ่งที่เพิ่มเติมคือห้ามปฏิบัติงานใดๆ อีกต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนด

 

โดยนิวคาสเซิลระบุไว้ว่า ช่วงเวลาที่แอชเวิร์ธจะต้องพักงานอยู่ที่ 20 เดือนด้วยกัน

 

นั่นหมายความว่า 20 เดือนนับจากนี้แอชเวิร์ธจะต้องอยู่เฉยๆ ห้ามทำงาน ห้ามข้องเกี่ยวใดๆ กับสโมสร และห้ามข้องเกี่ยวใดๆ กับสโมสรอื่นด้วย จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากสโมสรเท่านั้น

 

การทำแบบนี้ได้อะไร?

 

นิวคาสเซิลรู้ตัวแล้วว่าสูญเสียผู้อำนวยการสโมสรคนเก่งไปเป็นที่เรียบร้อย และกระบวนการในการสรรหาคนใหม่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ตอนนี้พวกเขาต้องการซื้อเวลา และต้องการที่จะตอบโต้แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ไม่ทำการเจรจาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนั่นหมายถึงต้องมี ‘ค่าเสียหาย’

 

ค่าเสียหายที่นิวคาสเซิลต้องการนั้น The Times ระบุเอาไว้ว่าอยู่ที่ 15 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มหาศาลมากและไม่เคยมีปรากฏมาก่อนว่าจะมีการซื้อตัวผู้บริหารในราคาที่แพงระดับนี้มาก่อน และเป็นความท้าทายของแมนฯ ยูไนเต็ดว่าพวกเขาจะสามารถหาข้อตกลงกับทางนิวคาสเซิลได้หรือไม่

 

โดย The Daily Telegraph รายงานเพิ่มเติมว่า ตอนนี้แมนฯ ยูไนเต็ดเตรียมพร้อมที่จะติดต่อทาบทามอย่างเป็นทางการแล้ว ขณะที่ The Times ระบุในทางตรงกันข้ามว่า ยักษ์ใหญ่แห่งแมนเชสเตอร์ต้องการจะรอเพื่อให้ได้ตัวแอชเวิร์ธมาร่วมทีมมากกว่าที่จะยอมจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว

 

สำหรับแอชเวิร์ธ สถานการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาเคยผ่านมาก่อนแล้วเมื่อปี 2022 ซึ่งได้รับการทาบทามจากนิวคาสเซิลก่อนตัดสินใจที่จะอำลาทีมไปรับงานใหม่ที่ใหญ่กว่า และถูกไบรท์ตันสั่งพักงาน Gardening Leave เหมือนกัน ก่อนที่จะมีการตกลงเงินชดเชยกันได้ที่ 4 ล้านปอนด์

 

สุดท้ายเรื่องนี้จะจบลงอย่างไรก็ตาม นี่คือบันทึกเรื่องราว ‘ศึกชิงนาง’ ที่น่าสนใจ และเป็นมิติใหม่ของวงการฟุตบอล

 

และอีกด้านก็นับเป็นบทพิสูจน์ที่ดีว่าคนเก่งจริงอยู่ที่ไหนใครก็ต้องการ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X